กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดพัฒนาสมุนไพรไทยรองรับตลาดผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดพัฒนาพืชสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงความต้องการของตลาด วาง 4 ยุทธศาสตร์ รองรับตลาดผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติและกรมพัฒนาที่ดิน ว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพร ตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565
โดยแผนแม่บทได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ในการบรรลุตามเป้าหมาย 4 ยุทธศาสตร์คือ
1. การส่งเสริมผลิตผลสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงความต้องการของตลาด
2. การพัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล
3. การส่งเสริมการใช้เพื่อการรักษาโรค เสริมสร้างสุขภาพ
4. การสร้างความเข็มแข็งด้านการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนสมุนไพรอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการขับเคลื่อนด้านวัตถุดิบสมุนไพร ขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ 1 ในประเด็นที่
1. การส่งเสริมผลิตผลสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงความต้องการของตลาด ประกอบกับ แผนการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพสมุนไพรที่มีคุณภาพสู่การผลิตสมุนไพรที่มีมูลค่าสูง (High value added) สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจ BCG เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร กระจายรายได้สู่เกษตรกร โดย
- ต้นน้ำ ผลิตสมุนไพรปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน GAP หรือเกษตรอินทรีย์ใช้เทคโนโลยีในการผลิต มีการปลูกแปลงใหญ่ สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ สหกรณ์
- กลางน้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า มีนวัตกรรมต่อยอด มีการลงทุนวิจัย
- ปลายน้ำ ส่งเสริมตลาดชุมชน ออนไลน์ตลาดกลางสมุนไพร โดยมีการขับเคลื่อนการผลิตสมุนไพร กำหนดพืช Product champion 12 ชนิด ได้แก่ กวาวเครือขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชาย พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านหางจระเข้ ไพล
ทั้งนี้ ในปี2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรให้เกษตรกร จำนวน 363,353 ราย รวมพื้นที่ปลูกสมุนไพร 1,151,495 ไร่
กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการผลิตสมุนไพร Product Champion 12 ชนิด ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานกลาง ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมสหกรณ์
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายหน่วยงานระดับกรม ได้แก่ มอบหมายกรมพัฒนาที่ดินจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) ให้ครอบคลุมชนิดพืช Product Champion ทั้ง 12 ชนิด
กรมวิชาการเกษตรดำเนินการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน (ISO 17025) เพื่อรองรับการให้บริการการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร
กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมปศุสัตว์ร่วมจัดทำระบบฐานข้อมูลสมุนไพร โดยมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำระบบฐานข้อมูลสมุนไพร ต่อไป