ปส.เฝ้าตรวจระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสีในอากาศ
ปส.มีภารกิจเฝ้าตรวจระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสีในอากาศ เพื่อเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมและตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ที่มีโอกาสเกิดขึ้นทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ
ในการเฝ้าตรวจระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสีในอากาศนี้ ปส.หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงหรือมีโอกาสเกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในอากาศและอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยมีเครื่องมือต่าง ๆ ดังนี้
1. เครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสี (Radiological Monitoring Station) ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งสิ้น 18 สถานี ซึ่งติดตั้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยสถานีจะตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศตลอด 24 ชั่วโมง
โดยส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์และสัญญาณเตือนภัยมายัง ปส. หากมีระดับรังสีแกมมาสูงอย่างผิดปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทราบ เพื่อประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการต่อเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น สำหรับประเทศไทย ระดับรังสีแกมมาในอากาศในสภาวะปกติจะมีช่วงระดับรังสีของทุกภูมิภาคอยู่ระหว่าง 0.02-0.3 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง
2. เครือข่ายสถานีเฝ้าตรวจการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty, CTBT) จำนวน 321 สถานี ทั่วโลก โดยประเทศไทยได้จัดสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (Radionuclide Monitoring Station, RN65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
สถานีฯ อาร์เอ็น 65 จะทำการวัดค่ากัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างอนุภาคในอากาศ และส่งผลการตรวจวัดไปยังศูนย์ข้อมูลระหว่างประเทศ (International Data Center : IDC) ณ สำนักงานใหญ่ของ CTBTO กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เป็นประจำทุกวัน เพื่อทำการวิเคราะห์ผลการตรวจวัด หลังจากการวิเคราะห์ผลแล้วจะส่งข้อมูลกลับมายังประเทศไทย
ในขั้นตอนนี้จะทำให้สามารถตรวจสอบได้หากมีการฟุ้งกระจายหรือรั่วไหลของนิวไคลด์กัมมันตรังสีในอากาศ ทั้งจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ การเกิดระเบิดนิวเคลียร์ หรือจากอุบัติเหตุของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
โดย ปส. ในฐานะหน่วยประสานงานระดับชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลจากสถานีดังกล่าวได้ทุกสถานีทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันกัมมันตภาพรังสีในอนุภาคในอากาศจากสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีทั่วโลกยังอยู่ในสภาวะปกติ
3. ระบบเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศในทวีปยุโรป (EUropean Radiological Data Exchange Platform, EURDEP) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศแบบเรียลไทม์ ของสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปและใกล้เคียงจำนวน 39 ประเทศ
ปส. จะนำข้อมูลระดับรังสีแกมมาในอากาศของสถานีดังกล่าว มาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ผิดปกติหรือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงประเมินความเป็นไปได้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ระบบ EURDEP ยังให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่ https://remap.jrc.ec.europa.eu/Simple.aspx ซึ่งในปัจจุบันระดับรังสีแกมมาในอากาศของสถานีภายในระบบ EURDEP ยังอยู่ในสภาวะปกติ
แจ้งเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี 24 ชม. โทร. 1296