ก.วิทย์ฯเฝ้าระวังภัยทางรังสีสร้างความเชื่อมั่นคนไทย
ก.วิทย์ฯ ติดตั้งเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งในอากาศ และในน้ำเพื่อเฝ้าระวังภัยทางรังสีให้กับประชาชน
กระทรวงวิทย์ฯ ผลักดันการติดตั้งเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งในอากาศ และในน้ำให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเฝ้าระวังภัยทางรังสีให้ประชาชนชาวไทยมั่นใจในความปลอดภัย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ในโครงการขนาดใหญ่อย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านการทหารเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ และในด้านการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทั้งสองด้านนี้ อาจมีการแพร่กระจายของรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ โดยการแพร่กระจายของรังสี สามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้างดังเช่นในอดีตที่เคยปรากฏมาแล้ว เช่น ในปี พ.ศ.2488 ประเทศ สหรัฐฯ ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ถล่มประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2529 เกิดอุบัติเหตุจากการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เชอร์โนบิล ประเทศสหภาพโซเวียต และที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในญี่ปุ่น รวมทั้ง หลายครั้งที่ผ่านมามีบางประเทศได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในชั้นบรรยากาศ ในน้ำ และใต้ดิน อีกด้วย
“หันกลับมาดูประเทศรอบบ้านของเราบ้าง หลายประเทศก็มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการเฝ้าระวังภัยทางรังสีที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย”
นายวรวัจน์ ฯ กล่าวต่ออีกว่า ผมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงเร่งผลักดันให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีภารกิจในการกำกับดูแลให้ประชาชนชาวไทยมีความปลอดภัยจากรังสี เร่งดำเนินการติดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสีให้มากขึ้นในปี 2556 รวมทั้ง จะผลักดันในปีถัด ๆ ไปให้มีการติดตั้งเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งในอากาศ และในน้ำให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ขอให้ประชาชนในทุกภาคของไทย มีความมั่นใจ ว่าสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คอยเฝ้าระวังความปลอดภัยจากรังสีให้ท่านอยู่ตลอดเวลา
นายวรวัจน์ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ดำเนินการเฝ้าระวังภัยจากรังสีให้ประชาชนไทยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว การเฝ้าระวังภัยทางรังสี ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการเฝ้าระวังผ่านเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ จำนวน 12 สถานี ซึ่งติดตั้งครอบคลุมหลายส่วนของประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ปทุมธานี สงขลา กรุงเทพฯ ระนอง ตราด พะเยา ระยอง สกลนคร และกาญจนบุรี นอกจากนี้ ยังมีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสี ในน้ำ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ ระยอง และภูเก็ต ที่อันจะทำให้การเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนในปี 2556 มีแผนดำเนินการติดตั้งในอากาศจำนวน 3 จังหวัด คือ เชียงราย หนองคาย นครพนม
สถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งหมดนี้ จะเฝ้าตรวจระดับรังสีแกมมาตลอด 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปยังศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้อย่างทันที ซึ่งหากค่าระดับรังสีแกมมาที่วัดได้สูงผิดปกติ ก็จะมีการส่งสัญญาณเตือนมาที่ศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสีแห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและประกาศมาตรการรองรับเพื่อให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยจากอันตรายของรังสีต่อไป นอกจากนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลของสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีนี้ได้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านจอมอนิเตอร์ประชาสัมพันธ์ บริเวณหน้าสำนักงานฯ และบนเวบไซต์ของสำนักงานฯ ที่ www.oaep.go.th ด้วย