เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จฯ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง
เพจ HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya เผยแพร่ภาพและข้อความว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เฝ้ารับเสด็จ
ในการเสด็จครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยในผลผลิตนานาชนิด ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารคุณภาพ นอกจากจะอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังมีความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วย ผักเมืองหนาวกว่า 120 ชนิด อาทิ ผักตระกูลสลัด สมุนไพร สวิสชาร์ด มะเขือเทศ ขึ้นช่าย ที่มีปลูกหมุนเวียนตลอดปีในโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชม
จุดเด่นสำคัญของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือ “สวนบ๊วย” ซึ่งมีต้นบ๊วยอายุ 47 ปี ทรงต้นสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสวยงาม ผลบ๊วยนิยมนำมาแปรรูป เช่น บ๊วยดอง อบแห้ง แช่อิ่ม ส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ลูกอม เป็นต้น
จากนั้นเสด็จยัง แปลงสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ณ แปลงสตรอว์เบอร์รีบ้านขอบด้ง โดยสตรอว์เบอร์รี ถือเป็นผลไม้ชนิดแรกๆ ที่มีการนำเข้ามาขยายพันธุ์เพื่อปลูกทดลอง และส่งเสริมเกษตรกรในที่สูง ทดแทนฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาเผ่าต่างๆ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเนื่องจากเป็นผลไม้ที่ได้รับพระราชทานพันธุ์มาเพื่อการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ และเสาะหาพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของประเทศไทย และเหตุที่ใช้ชื่อพันธุ์พระราชทาน 80 เนื่องจากได้พระราชทานมาเมื่อปี พ.ศ.2550 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2512 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่ทำการวิจัย ทดลองพืชเขตหนาว เป็นอาชีพแก่ชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่นฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีที่ทดลอง ค้นคว้าวิจัยพืชเมืองหนาว จากการดำเนินงานที่ยาวนาน จึงเกิดพืชเมืองหนาวกว่า 200 ชนิด ที่สร้างอาชีพแก่ชาวเขาบนพื้นที่สูงในประเทศไทย และยังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรบนที่สูงแบบครบวงจร