เชียงใหม่รับมือภัยแล้งไม่น่าห่วง วางแผนใช้น้ำให้เหมาะสมตามต้นทุนน้ำ

เชียงใหม่รับมือภัยแล้งไม่น่าห่วง วางแผนใช้น้ำให้เหมาะสมตามต้นทุนน้ำ

ชลประทานเชียงใหม่รับมือภัยแล้ง วางแผนบริหารจัดการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำให้เหมาะสมตามต้นทุนน้ำ เขื่อนแม่งัดฯเตรียมปล่อยน้ำเข้าแม่น้ำปิงระยะทาง 200 กิโลเมตร วอนอย่าดักสูบระหว่างทาง ด้านประมง อ.สันป่าตอง เตือนผู้เลี้ยงปลากระชัง เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งของปีนี้ทางชลประทานเชียงใหม่ได้มีการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อให้น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 102.089 ล้านลูกบาศก์เมตร , เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 86.567 ล้านลูกบาศก์เมตร , อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 13 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 55 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำดังกล่าวยังเพียงพอที่จะบริหารจัดการได้ผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งได้

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะนำเพื่ออุปโภคบริโภค ทางประปาเชียงใหม่ได้นำน้ำจากแม่น้ำปิงมาผลิตเป็นน้ำประปา เดือนละประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำในแต่ละเดือนไว้ทั้งหมดแล้ว ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร จะมีการวางแผนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่

โดยเฉพาะที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำอยู่เพียง 86 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องมีการวางแผนการใช้น้ำ ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กวง หากมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรสำหรับปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง น้ำจะไม่เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่งดปลูกพืชฤดูแล้งไปก่อน แต่ทางชลประทานจะทำการส่งน้ำให้กับพืชยืนต้น และส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงส่งน้ำรักษาระบบนิเวศเท่านั้น โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ได้มีการบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้ ด้วยการปล่อยน้ำให้กับประชาชนและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่แม่น้ำปิงไหลผ่านระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร โดยจะปล่อยน้ำให้ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ โดยขอความร่วมมือในระหว่างที่ปล่อยน้ำไม่สูบน้ำไปใช้ เพื่อให้น้ำไหลไปถึงปลายทางได้ เนื่องจากระหว่างทางมีสถานีสูบน้ำมากกว่า 90 สถานี มีพื้นที่เกษตรมากกว่า 160,000 ไร่ หากมีการสูบน้ำไปใช้ก่อน เกษตรกรปลายน้ำจะไม่มีน้ำใช้ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยจะทำการสูบน้ำพร้อมกันทุกวันจันทร์ พุธ และ พฤหัสบดี

ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ได้วางแผนการใช้น้ำไว้ 2ส่วน คือ น้ำจำนวน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร จะระบายลงสู่แม่น้ำปิง ระหว่าง 6 มกราคม-31 พฤษภาคม 2565 และ น้ำจำนวน 40 ล้านลูกบาศก์เมตร จะใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรของเขื่อน โดยขอความร่วมมือทุกคนใช้น้ำตามที่ชลประทานวางแผนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำไว้ และใช้น้ำตามรอบเวรที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อแบ่งปันการใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง ผลผลิตทางการเกษตรจะไม่เสียหายหากช่วยกันทำตามแผนการใช้น้ำที่กำหนด

นอกจากนั้นชลประทานเชียงใหม่ ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือในช่วงหน้าแล้ง ด้วยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้จำนวน 60 เครื่อง ขณะนี้ได้ส่งไปช่วยในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จำนวน 2เครื่อง และ อำเภอแม่ออน 1 เครื่อง เนื่องจากได้รับการร้องขอเข้ามา ทั้งนี้หากกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความต้องการเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำไปสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่มาใช่เพื่อการเกษตร หรือใช้เพื่อการอุปโภค สามารถร้องขอมาได้ที่ชลประทานเชียงใหม่

ด้านนายณฐนน มาป้อง ประมงอำเภอสันป่าตอง กล่าวว่า ในพื้นที่อ.หางดง และ อ.สันป่าตอง มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังอยู่ประมาณ 50 ราย จำนวนกระชังปลา 856 กระชัง ฒุลค่ารวมประมาณ 34 ล้านบาท จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง ได้แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เฝ้าระวังปลาในกระชังอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงเริ่มลดต่ำลง ประกอบกับมีพืชน้ำกระจายตัวหนาแน่น ส่งผลให้แสงแดดไม่สามารถส่องผ่านผิวน้ำได้ ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง อาจส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนจนลอยตายได้ ขอให้เกษตรกรเปิดเครื่องตีน้ำสร้างออกซิเจนในน้ำไว้ตลอดเวลา เพื่อลดการสูญเสีย

ในทุกช่วงฤดูแล้งเกษตรกรบางรายที่เลี้ยงปลากระชังเป็นอาชีพเสริมได้หยุดเลี้ยงปลาในช่วงนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อผ่านช่วงฤดูแล้งก็จะกลับมาเลี้ยงปลาเช่นเดิม อย่างไรก็ตามแม้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จะมีปริมาณน้อยแต่ทางขลประทานยังคงปล่อยน้ำมาตามรอบเวรเพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศน์ ซึ่งพอจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังสามารถเลี้ยงปลาได้

โดยปกติในช่วงฤดูฝนเกษตรกรจะปล่อยปลาลงกระชังประมาณ 1,200-1,500 ตัว แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ต้องลดปริมาณปลาในกระชังลงเหลือประมาณ 1,000 ตัว เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่น ทำให้ปลากระชังในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้อยลง ทำให้ราคาปลาหน้ากระชังปรับตัวขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 76- 80 บาท โดยก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 72-74 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เชื่อว่าเมื่อถึงช่วงฤดูฝนราคาปลาจะลดลงตามกลไกตลาด