"สงกรานต์ 2565" เล่นน้ำ-ร่วมงานเสร็จ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ 3 ข้อ สำคัญมาก
เช็คมาตรการ "สงกรานต์ 2565" ในสถานการณ์โควิด-19 ศบค.ออกมาตรการสำหรับประชาชนที่เข้าร่วมงานสงกรานต์ หรือ เล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งเมื่อร่วมงานเสร็จแล้วจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการ 3 ข้อ
วันที่ (18 มี.ค. 65) ที่ประชุม ศบค.มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันโรค โควิด-19 ในการจัดการช่วงเทศกาล "สงกรานต์ 2565"
โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า "สงกรานต์ 2565" ปีนี้สามารถจัดได้ แต่เน้นเรื่องประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำ แต่หากจัดสันทนาการ ต้องขออนุญาตเพราะมีคนมาร่วมงาน ในส่วนของระหว่างช่วงงานสงกรานต์ อนุญาตให้เล่นน้ำได้ตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ
อย่างไรก็ตาม ในมติของ ศบค. เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ 2565 คนไทยยังไม่สามารถเล่นน้ำได้อย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดเงื่อนไขปลีกย่อยที่ควรรู้ ดังต่อไปนี้
พื้นที่เล่นน้ำได้ : จากมติ ศบค. ระบุว่า พื้นที่จัดงานสงกรานต์ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับ สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ คือ
- อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น
- การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี
ข้อกำหนดสำคัญในพื้นที่เล่นน้ำได้
- ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด
- กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร)
- ผู้ร่วมงานต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน
สิ่งที่ "ห้ามทำ" ในทุกพื้นที่ ประกอบด้วย ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน
พื้นที่เล่นน้ำ "ไม่ได้" มีที่ไหนบ้าง
พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ หมายความว่า ประชาชนจะเล่นน้ำสงกรานต์ รวมถึงประแป้ง และปาร์ตี้โฟม บริเวณท้องถนนสาธารณะไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการควบคุมตามมาตรการโควิด-19
ส่วนกิจกรรมบันเทิง-สันทนากา นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า หากจะมีเรื่องบันเทิง สันทนาการ จะต้องมีการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณ
เล่นน้ำ หรือ "สาดน้ำ" ได้หรือไม่
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ในกรณี "สาดน้ำ" ระหว่างเล่นน้ำสงกรานต์นั้น ที่ประชุม ศบค.ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ คงเป็นส่วนที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ เช่น อาจจะต้องจัดหาน้ำมาอย่างสะอาด อยู่ระยะห่าง ก็เป็นหน้าที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาตหรือไม่ ศบค.ให้หลักการกว้างๆ
เมื่อร่วมงานสงกรานต์ หรือ เล่นน้ำสงกรานต์ เสร็จแล้วจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการ 3 ข้อ ดังนี้
1. หลังจากกลับจากสงกรานต์ สังเกตอาการตนเอง 7 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และผู้ที่จะไปพบปะผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ให้ทำการตรวจ ATK
2. ขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ในช่วงการสังเกตอาการ
3. พิจารณามาตรการ Work From Home (WFH) ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน
สำหรับการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ฯลฯ ศบค.ให้ข้อแนะนำ ดังนี้
- จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ
- สวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน
- เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน
- ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครอบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน
- ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม