ใส่ "หน้ากากอนามัย" ซ้ำ ๆ มีโอกาสเสียชีวิตจากแบคทีเรียที่สะสมอยู่ จริงหรือ?
ใส่ "หน้ากากอนามัย" ป้องกันเชื้อไวรัส โควิด-19 ซ้ำ ๆ มีโอกาสเสียชีวิตจากแบคทีเรียที่สะสมอยู่ จริงหรือไม่ ? เช็คเลย
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องใส่ "หน้ากากอนามัย" ซ้ำ ๆ มีโอกาสเสียชีวิตจากแบคทีเรียที่สะสมอยู่ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
หน้ากากอนามัยเป็นชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง ห้ามซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น "หน้ากากอนามัย" ที่มาจากผู้ป่วย หรือหน้ากากอนามัยที่เกิดจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องตรวจวินิจฉัย รักษาโรค ชันสูตร ฯลฯ ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ เพราะเป็นขยะที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่จึงจำเป็นต้องทิ้งในถังขยะติดเชื้อและกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อย่างไรก็ตาม "หน้ากากอนามัย" ที่เป็นขยะติดเชื้อนั้น หากจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งของเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราบางชนิด ปรสิตบางชนิด ซึ่งจะเจริญเติบโตและก่อโรคแก่ผู้ที่ไปสัมผัส ดังนั้นควรเปลี่ยน "หน้ากากอนามัย" ทุก ๆ 6 – 8 ชั่วโมง
เมื่อ "หน้ากากอนามัย" เปียกชื้น สกปรก หรือเมื่อออกจากสถานที่เสี่ยง/แออัด และควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งหลังใช้โดยทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด กรณีใช้ในโรงพยาบาลให้ทิ้งในถังขยะติดเชื้อและกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545 สำหรับหน้ากากผ้าให้ซักทุกวันด้วยสบู่หรือผงซักฟอกและตากแดดให้แห้ง พร้อมทั้งล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.anamai.moph.go.th/th หรือโทร 0-2590-4000