รมว.ทส. สั่งเร่งศึกษาผลกระทบ ขุดลอกร่องน้ำแม่น้ำตรัง หวั่นกระทบระบบนิเวศ
รมว.ทส. สั่งเร่งศึกษาผลกระทบ "ขุดลอกร่องน้ำแม่น้ำตรัง" หวั่นซ้ำรอย กระทบระบบนิเวศ แหล่งหญ้าทะเล ของ "พะยูน" กว่า 200 ตัว ชี้พัฒนาเศรษฐกิจต้องมีสมดุลกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
วันที่ 26 มี.ค. 2565 จากกรณีโครงการ "ขุดลอกร่องน้ำแม่น้ำตรัง" บริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิม 60 เมตร เป็น 90 เมตร และความลึกมากกว่าเดิม 1-2 เมตร กรมเจ้าท่าเตรียมเดินหน้าดำเนินการในปี 2565 หลายฝ่ายเริ่มกังวล เตรียมหารือแนวทางป้องกันผลกระทบ แหล่งหญ้าทะเล และระบบนิเวศทางทะเล
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ยืนยันว่า ทางกระทรวงฯจะไม่อยู่เฉยๆแน่ ได้เร่งสั่งการให้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทีมนักวิชาการและนักดำน้ำ สำรวจพื้นที่และผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา
รวมถึง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำกับทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องลงมือสั่งการแก้ปมปัญหาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
อีกทั้ง นายวราวุธ ที่ได้ชื่อว่า เป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คงไม่ปล่อยเรื่องนี้ให้เงียบอย่างแน่นอน ซึ่งบ่อยครั้งได้มีการย้ำในหลายเวทีอยู่เสมอ
"หากอัตราความเพิ่มขึ้นของเงิน สวนทางกับความสมบูรณ์ของทรัพยากร ความยั่งยืนย่อมไม่เกิด ทรัพยากรธรรมชาติพัง เศรษฐกิจย่อมเดินหน้ายาก การส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างสุดโต่ง โดยไม่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ นับเป็นการกระทำที่ไม่ชาญฉลาดเลย
ซึ่งปัจจุบัน หลายฝ่ายเริ่มวิตกกับแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 และ "ทรัพยากรธรรมชาติ" คือ ต้นทุนแห่งการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่คำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ย่อมไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน" นายวราวุธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 "กรมเจ้าท่า" เตรียมเดินหน้าโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรังอีกครั้ง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยครั้งนี้จะมีการขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิม 60 เมตร เป็น 90 เมตร และความลึกมากกว่าเดิม 1-2 เมตร ซึ่งหลายฝ่ายให้ขอให้ศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้เรียบร้อยก่อน
ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า แหล่งหญ้าทะเลของประเทศไทย มีกระจายอยู่หลายพื้นที่ทั้งในฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย รวมแล้วกว่า 159,829 ไร่ ร้อยละ 54 ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง และ ร้อยละ 31 อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี
สำหรับพื้นที่จังหวัดตรัง นับเป็นพื้นที่แหล่งปะการังที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญมาก เนื่องจากพบ "พะยูน" ซึ่งเป็นสัตว์สงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กว่า 200 ตัว ในบริเวณดังกล่าว ผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือบริเวณปากแม่น้ำตรังเมื่อปี 2562-2563 ส่งผลให้แหล่งหญ้าทะเลเสียหายหลายพันไร่
"อย่างไรก็ตาม สำหรับการเตรียมการดำเนินการขุดลอกร่องน้ำที่กรมเจ้าท่า จะดำเนินการในปี 2565 ตนได้สั่งการให้ทีมนักวิชาการ เร่งสำรวจสภาพแหล่งปะการังบริเวณดังกล่าวโดยละเอียด รวมทั้งข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมถึง เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานในพื้นที่ให้เร่งประสานกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน พร้อมทั้งให้ถอดบทเรียนของผลกระทบในครั้งก่อน มาประกอบการพิจารณาดำเนินการในครั้งนี้ด้วย" นายโสภณ กล่าว