"วราวุธ" ขึ้นเหนือสั่งเข้มยกระดับเฝ้าระวัง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง
"วราวุธ" รมว.ทส. ขึ้นเหนือ ติดตามการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 สั่งยกระดับเฝ้าระวังปัญหาไฟ ย้ำทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และควบคุมไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในทุกมิติ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 มีนาคม 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหา "ไฟป่า" หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) ทส. อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันประชุมผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
โดยมีนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ และมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,นายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมประชุม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จุดความร้อนในภาคเหนือเมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากลดไปประมาณ ร้อยละ 70 ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ซึ่งได้ย้ำทีมผู้บริหารในพื้นที่ต้องมีการจัดเตรียมเครื่องมือ ทั้งแอพพลิเคชั่น อุปกรณ์ภาคสนาม และมาตรการรับมือต่างๆ ต้องเตรียมให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อไม่ให้จุดความร้อนกลับมาเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา จุดความร้อนจะลดลงมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ทำความเข้าใจกับประชาชน กำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า
ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ทางกรมควบคุมมลพิษไปแยกว่า PM2.5 ที่เกิดขึ้นมีแหล่งกำเนิดมาจากอะไร และมลพิษของ PM2.5 สามารถที่จะสลายเองได้หรือไม่ หรือมีอันตรายอย่างไรบ้างเพื่อที่จะแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ ที่สำคัญการประสานงานกับทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่หนักกว่าในช่วงนี้ จะได้รับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยลงจากปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศ
ส่วนสถานการณ์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในช่วงบ่ายวันนี้(19 มีนาคม 2565) จะเดินทางไปในพื้นที่ เพื่อหารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเกิดจุดความร้อนเป็นจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สำหรับในภาพร่วมสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2565 ได้กำชับให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยยกระดับการทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และควบคุมไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในทุกมิติ ให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ ใช้บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นองค์ความรู้ในการกำหนดแผนงาน และการปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ นำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันได้อย่างยั่งยืน
เน้นย้ำให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ กำกับการวางกลยุทธ์การป้องกัน ควบคุม และดับไฟป่า สั่งการเคลื่อนย้ายกำลังพลเพื่อเตรียมความพร้อม และปฏิบัติการ ประสานและสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงานอย่างสูงสุด พร้อมทั้งให้หน่วยงานสังกัดแต่ละจังหวัดแต่ละภูมิภาค สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างเต็มที่ สนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดจุดความร้อน และการพยากรณ์ปัญหาฝุ่นละอองล่วงหน้า
นอกจากนี้ ให้เจ้าพนักงานทรัพยากรธรรมชาติจังหวัด ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้ออกประกาศระดับจังหวัดช่วงห้ามเผาหรืองดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง หรือการเผาในพื้นที่โล่ง พร้อมบทลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้งกำหนดเขตความรับผิดชอบ และมอบหมายการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยให้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อพร้อมมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ จะให้มีการจัดตั้งศูนย์การปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันระดับตำบล และหมู่บ้าน โดยขอความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับเครือข่ายและประชาชนทุกช่องทาง โดยเฉพาะกลุ่มคนเผาป่า โดยให้เกิดจิตสำนึก ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลและแจ้งจับผู้กระทำผิดกฎหมาย ตลอดจนให้ประชาชนรับรู้และเกรงกลัวกฎหมาย รวมทั้งระดมสรรพกำลังภาคประชาชนจากกลุ่มมวลชนของหน่วยงาน สังกัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาสนับสนุนการปฏิบัติของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในทุกระดับ โดยให้ ทสม. เป็นแกนนำ ร่วมกับอาสาสมัครป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และเครือข่ายอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่
พร้อมกันนี้ ยังให้ขยายการดำเนินงานโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” บริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ริมทาง เป้าหมาย รวม 3,000 ตัน และเร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัดกับ กระทรวง ให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างรายได้และแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมือ ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ เตรียมความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ให้มีสภาพดี พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา
กรณี ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้กรมควบคุมมลพิษประสานประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะการบรรจุเป้าหมายลดจุดความร้อน ในอาเซียนได้ร้อยละ 20 รวมถึง ให้ชี้แจงและขอความร่วมมือประเด็นหมอกควันข้ามแดนในเวทีการประชุมต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด ต้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันในประเทศเพื่อนบ้าน หากมีปัญหาหมอกควันข้ามแดนในจังหวัด ให้รายงานเพื่อพิจารณาการดำเนินการตามข้อตกลงต่อไป
ข่าวโดย นิศานาถ กังวาลวงศ์ จ.เชียงใหม่