สงกรานต์ 2565 กทม.ประกาศล่าสุด ทำอะไรได้บ้าง สรุปมาให้ครบ จบ
เทศกาล "สงกรานต์ 2565" กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศล่าสุด (31 มี.ค.2565) เรื่อง กำหนดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณเฉพาะ เพื่อการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565
เทศกาล "สงกรานต์ 2565" กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศล่าสุด (31 มี.ค.2565) เรื่อง กำหนดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณเฉพาะ เพื่อการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "สงกรานต์ 2565" เชียงใหม่ ปลดล็อกไฟเขียวดื่มได้ทั้งจังหวัด
ด้วยได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 43) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2565 โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วจนเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ ซึ่งบรรดาแพทย์และหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้แนะนำและเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) อันจะช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรคได้ ประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลประเพณีสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องที่คาดการณ์ว่าประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเตรียมพร้อมกำหนดเป็นมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดแบบกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทยร่วมกับการสร้างความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (6) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 43) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2565 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 จึงมีคำสั่งกำหนดให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมดังต่อไปนี้ สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ 2565 (ระหว่างวันที่ 10-15 เมษายน 2565) ดังนี้
1.การจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ที่มีการรวมกลุ่มของบุคคล จำนวนไม่เกิน 1,000 คน ให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่
กรณีเกิน 1,000 คน ให้ขออนุญาตต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก่อนจัดงานอย่างน้อย 5 วัน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ สถานที่จัดกิจกรรมควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบหรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ
2.พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ตามข้อ 1 ให้ผู้ประกอบการผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน จัดสถานที่และดำเนินกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมทั้งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้
- การจัดกิจกรรมในลักษณะของการเนน้ำหรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถกระทำได้
- ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม
- ห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม
- ให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าออกและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม
- ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดตามขนาดของสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรมเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน โดยให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
3.ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆที่เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม พื้นที่สาธารณะในข้อนี้ ไม่ร่วมถึงพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประกาศนี้ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้
4.สำหรับการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถดำเนินการได้ โดยผู้ที่ประสงค์จะจัดกิจกรรมต้องขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี และดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนดไว้ในประกาศนี้และตามที่ทางราชการ กำหนด ยกเว้นการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนด
5.สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย
6.กรณีนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการผู้ร่วมกิจกรรม และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังต้องดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 51) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2565 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นข้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป