5 จังหวัดใต้อ่วม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เตือนเฝ้าระวังถึง 8 เมษายน 65
กอนช. สรุป "สถานการณ์น้ำ" ล่าสุด 5 จังหวัดใต้อ่วม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก นครศรีธรรมราชฝนตกหนักสุด รองลงมาพัทลุง-ชุมพร เตือนเฝ้าระวังถึง 8 เมษายน 65 นี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 เมษายน 2565 เวลา 07.00 น. โดยประเทศไทยตอนบน "อุณหภูมิสูงขึ้น" แต่ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วน "ภาคใต้" มีฝนลดลงและมีฝนตกหนักบางแห่ง
สำหรับปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (290 มม.) จ.พัทลุง (164 มม.) และ จ.ชุมพร (132 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 26,240 ล้าน ลบ.ม. (45%) ขนาดใหญ่ 20,440 ล้าน ลบ.ม. (43%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ทั้งนี้มีพื้นที่ประสบภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณจังหวัดนราธิวาส , สุราษฎร์ธานี , นครศรีธรรมราช , พัทลุง และ ชุมพร
ตามประกาศ กอนช. เรื่อง เฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 5 - 8 เมษายน 2565
โดย กรมชลประทาน สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยให้พิจารณาความเหมาะสมการระบายน้ำในลำน้ำหรือแม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมระดมสรรพกำลังดูแลผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบราชการต่อไป