ผบช.ก. ชี้ผู้ต้องหาคดีข่มขืนเพราะพฤติกรรมวัยเด็ก เหตุคดีอื้อฉาว "อดีตรองหัวหน้าพรรค"
ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผบช.ก. ชี้ผู้ต้องหาคดีข่มขืนเกิดจากพฤติกรรมในวัยเด็ก ยกคดีดังในสหรัฐฯเทียบคดีอดีตรองหัวหน้าพรรค เพื่อเอาผิดย้อนหลัง ระบุคดีข่มขืนผู้เสียหายไม่ค่อยแจ้งความ แนะให้แจ้งข้อมูลผ่านเพจ ตำรวจสอบสวนกลางได้ ข้อมูลจะเก็บเป็นความลับ-ดูแลความปลอดภัยให้ด้วย
จากคดีอื้อฉาวอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ กลายเป็นผู้ต้องหาคดีล่อลวงหญิงหลายรายไปข่มขืนและกระทำอนาจาร รวม 3 คดีและคาดว่าจะมีเหยื่อหญิงสาวอีกหลายรายทยอยเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง
เรื่องนี้ล่าสุด พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ได้แสดงความคิดเห็นสำหรับคดีข่มขืนในภาพรวมว่า การศึกษาเรื่องรูปแบบพฤติกรรมการกระทำความผิดทางเพศ และปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ ที่มีอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ตำรวจสอบสวนกลางให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะคดีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กหรือเยาวชน และเราได้ศึกษารูปแบบพฤติกรรมการกระทำความผิดทางเพศอย่างจริงจัง พล.ต.ท.จิรภพ บอกอีกว่า จากข้อมูลพบว่า
การพัฒนาพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของผู้ต้องหาแต่ละคนจะแตกต่างกัน ทั้ง
- อายุ
- ภูมิหลัง
- บุคลิกภาพ
- ความเชื่อ
- ทัศนคติ
- ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์
พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัยร่วมกัน
- การเลี้ยงดู
- ประสบการณ์ในวัยเด็ก
- ประสบการณ์การเรียนรู้จากการกระทำในครั้งก่อนๆ
- ความคาดหวังทางการรับรู้
- สิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม
- ความเชื่อ
- การพิจารณาชั่งน้ำหนักถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ สำเร็จหรือล้มเหลว เป็นต้น
ส่วนในคดีที่บางรายเหตุการณ์ข่มขืนล่วงเลยมาเป็นปีแล้วเพิ่งมาแจ้งความนั้น พล.ต.ท.จิรภพ มองว่า การรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ พยานหลักฐานจากผู้เสียหาย พยานหลักฐานจากผู้ต้องหา พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ประกอบกับความเห็นของเเพทย์ที่ได้ตรวจร่างกาย สามารถนำมาใช้ในกระบวนการตามกฎหมายได้ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกายผู้เสียหาย การตรวจร่างกายผู้ต้องหา หรือการเก็บพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุ มักจะต้องเก็บพยานหลักฐานให้เร็วที่สุด เพื่อให้พยานหลักฐานสูญหายไปน้อยที่สุด
“เหตุการณ์การถูกกระทำความผิดทางเพศล่วงเลยมานานเเล้ว การเก็บพยานหลักฐานจากตัวบุคคล อาจจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเพศ สารคัดหลั่ง หรือบาดแผลต่างๆ” พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวและว่า แต่ในส่วนของพยานหลักฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความการเเชทพูดคุย ภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิด พยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ พยานหลักฐานแวดล้อมต่างๆเหล่านี้ยังคงเป็นพยานหลักฐานที่เป็นสำคัญในการนำไปประกอบในการดำเนินคดีให้ศาลพิจารณาได้เช่นกัน
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีคดีที่มีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 โดยหนังสือพิมพ์ The New York Times และ The New Yorker ได้รายงานว่า มีผู้หญิงหลายสิบคนกล่าวหา นาย ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) อดีตโปรดิวเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลในวงการบันเทิงฮอลลีวู้ด ว่า ถูกข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ ในช่วงระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบปี ต่อมาก็ได้มีเหยื่อที่ทำงานในวงการภาพยนตร์กว่า 80 รายก็ได้กล่าวหา นาย ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เพิ่มเติม ถึงการล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่ได้รับความยินยอม
จากกรณีดังกล่าว ศาลสูงของนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มีการลงโทษจำคุก นายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เป็นเวลา 23 ปี ในคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศเหยื่อในระหว่างปี 2547-2556 รวมทั้งสิ้น 11 คดี โดยหากการพิจารณาคดีพบการกระทำความผิดกับเหยื่อหลายอื่นๆ อีก ศาลก็จะมีการตัดสินลงโทษเพิ่มเติม ซึ่งจากกรณีดังกล่าวได้วางบรรทัดฐานของการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในในประเทศสหรัฐอเมริกาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
" ปัญหาหลักที่ตำรวจพบเจอในคดีข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงต่อผู้หญิง คือ สถิติการเกิดเหตุมักจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้เสียหายมักจะไม่มาแจ้งความ ปัญหานี้เหมือนกันหลายประเทศ อาจด้วยสาเหตุุปัจจัย เช่น ถูกข่มขู่ กลัวเสียชื่อเสียง หากคุณกำลังตกเป็นเหยื่อคดีข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะจากคนใกล้ตัวหรือคนนอก สามารถแจ้งมาที่ เพจ Facebook ตำรวจสอบสวนกลาง ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ และจะดูแลความปลอดภัยให้ด้วย"