”นิพนธ์” เผยปัญหาเขากระโดง กรมที่ดินทำถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบครบถ้วน

”นิพนธ์” เผยปัญหาเขากระโดง กรมที่ดินทำถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบครบถ้วน

รมช.มหาดไทย ”นิพนธ์” เผยกรณีปัญหาเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กรมที่ดินยันทำถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบครบถ้วน

   เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ที่กระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่การรถไฟฯ ได้ฟ้องกรมที่ดิน โดยตน ได้สั่งการให้กรมที่ดินได้ชี้แจงข้อปัญหาดังกล่าว ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินได้ชี้แจงรายละเอียดมาดังนี้
   
  ตามที่ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าว กรณีที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี พ.ศ.2462 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย พื้นที่ 5,083 ไร่ นั้น กรมที่ดินขอชี้แจง ดังนี้


ประเด็นที่ 1 โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

  1.1  ปี พ.ศ. 2548 การรถไฟแห่งประเทศไทยขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ  อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งออกไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2518 โดยอ้างว่าเป็นที่ดิน ที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ. 2462 


  1.2 กรมที่ดินมีคำสั่งที่ 1556/2550 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และ 163/2552 ลงวันที่ 29 มกราคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อพิจารณาว่ามีเหตุอันควรที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามคำร้องขอของการรถไฟฯ หรือไม่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้  แต่การรถไฟฯ ไม่สามารถจัดส่งแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ปี พ.ศ. 2462 ให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินเพื่อประกอบการพิจารณาได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เขตที่ดินของการรถไฟฯ จริง  จึงไม่เสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่อย่างใด กรมที่ดินพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ จึงสั่งยุติเรื่องและแจ้งผลให้การรถไฟฯ ทราบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552

  1.3 ปี พ.ศ. 2554  สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติให้เพิกถอนโฉนดเลขที่ 3466 และ 8564 ตามข้อ 1.1 เนื่องจากออกทับที่ดินของการรถไฟ ตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งกรมที่ดินได้ยุติเรื่องไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2552 ตามข้อ 1.2 จึงหารือแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อปี พ.ศ. 2555  สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งผลการพิจารณาว่า หน่วยงานผู้เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อน(การรถไฟฯ) ต้องนำรายงาน ของ ป.ป.ช. ไปฟ้องคดีต่อศาล วันที่ 2 ตุลาคม 2555 กรมที่ดินจึงแจ้งผลการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดให้การรถไฟฯ และ สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ  ซึ่งการรถไฟฯ ก็มิได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลตามความเห็นของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด
  ตามประเด็นที่ 1 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนแล้ว 

    ประเด็นที่ 2 คำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560
   2.1 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 842-876/2560  ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560  ให้กรมที่ดินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
    2.2 กรมที่ดินตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นกรณีราษฎรจำนวน 35 ราย ได้นำหลักฐาน ส.ค.1 มาขอออกโฉนดที่ดิน จำนวน 40 แปลง  และการรถไฟฯ ได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินและฟ้องคดีต่อศาล  โดยศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ  
   2.3 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยยกเลิกเรื่องราวการออกโฉนดที่ดินของราษฎรทั้ง 35 ราย จำนวน 40 แปลง พร้อมทั้งจำหน่าย ส.ค.1  เสร็จสิ้นแล้ว
ตามประเด็นข้อ 2 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนแล้ว

ประเด็นที่ 3 คำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 
   3.1 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 8027/2561  ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ให้กรมที่ดินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
   3.2  กรมที่ดินตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นกรณีราษฎร ได้นำ น.ส.3ข.เลขที่ 200 ม.13 (9) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองฯ จังหวัดบุรีรัมย์ มาขอออกโฉนดที่ดิน และการรถไฟฯ ได้คัดค้านว่าทับที่ดินของการรถไฟฯ บางส่วน โดยมีการรังวัดทำแผนที่พิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินและการรถไฟฯ แล้ว มีเนื้อที่ที่การรถไฟฯ คัดค้านจำนวน           9-3-39.8 ไร่ โดยศาลพิพากษาว่าที่ดินส่วนที่การรถไฟฯ คัดค้าน (จำนวน 9-3-39.8 ไร่) เป็นของการรถไฟฯ  
   3.3 กรมที่ดินมีคำสั่งที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไข น.ส. 3 ข.เลขที่ 200 ม.13 (9) ต.เสม็ด อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ ส่วนทับซ้อนที่ดินการรถไฟ เนื้อที่ 9-3-39.8 ไร่ ตามที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว แต่เนื่องจากคำสั่งกรมที่ดินเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ครอบครองที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ดังกล่าว จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของกรมที่ดิน ซึ่งผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้ยกอุทธรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565
ตามประเด็นที่ 3 กรมที่ดินได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนแล้ว 

    ประเด็นที่ 4 การรถไฟแห่งประเทศไทยขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดิน จำนวน 700 แปลง และ น.ส.3 ก. อีกจำนวน 7 แปลง ที่การรถไฟฯ อ้างว่าอยู่ในเขตที่ดินของการรถไฟฯ เนื้อที่ 5,083-0-80 ไร่ โดยใช้แผนที่ที่การรถไฟฯ ได้จัดทำขึ้นและใช้อ้างเป็นพยานในศาลตามประเด็นที่ 2 และ 3 ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 และ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 
   4.1 จากการตรวจสอบของกรมที่ดินพบว่า  การรถไฟฯ ได้จัดส่งแผนที่ให้กรมที่ดินไว้ 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับรองไว้ จากการคำนวณเนื้อที่ได้เนื้อที่ 4,745-1-00 ไร่  ฉบับที่ 2 เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2539 จากการคำนวณเนื้อที่ ได้เนื้อที่ 4,571-1-00 ไร่ ซึ่งแผนที่ทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกัน และเนื้อที่น้อยกว่าที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง
   4.2 กรมที่ดินได้ตรวจสอบระวางแผนที่ที่ใช้ในราชการเพื่อการออกโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน  ไม่ปรากฎว่ามีการนำแผนที่ของการรถไฟฯ ทั้งปี พ.ศ. 2531 และ ปี พ.ศ.2539 ไปถ่ายทอดลงในระวางแผนที่แต่อย่างใด กรมที่ดินจึงไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินได้ เนื่องจากไม่ทราบอาณาเขตที่ชัดเจน 
   4.3 จากการตรวจสอบคำพิพากษาศาลฎีกา พบว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ที่คู่ความรับกันในคดีและผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น (ใช้ในคดีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และ ที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งการรถไฟฯ เป็นฝ่ายถูกราษฎรฟ้องคดี) จึงไม่สามารถนำแผนที่ดังกล่าวมาใช้ประกอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงอื่นได้  ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้การรถไฟฯ ทราบแล้ว
  4.5 กรมที่ดินได้นำแผนที่ของการรถไฟฯ ทั้งปี พ.ศ.2531 และ พ.ศ.2539 มาดำเนินการตามหลักวิชาการแผนที่ ปรากฎว่าแผนที่ทั้ง 2 ฉบับ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นแนวเดียวกัน ซึ่งมีผลในการพิจารณาเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน
  4.6 กรมที่ดินได้นำภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2497 มาใช้ในการตรวจสอบแนวเขตทางรถไฟเดิม แล้วกำหนดระยะแนวเขตจากศูนย์กลางทางรถไฟออกไปข้างละ 1 กิโลเมตร ปรากฎว่ารูปแผนที่ที่ได้ไม่สอดคล้องกับแผนที่ของการรถไฟในปี พ.ศ.2531 และ พ.ศ.2539 จึงทำให้มีแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ อยู่ 3 แนวเขต และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าแนวเขตที่ดินใดถูกต้อง เว้นแต่จะได้มีการรังวัดตามหลักวิชาการแผนที่
  
    กรมที่ดินได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา  ดังนี้
(1) กรมที่ดินได้จัดส่งระวางแผนที่ระบบพิกัดฉาก ยู ที เอ็ม ที่กรมที่ดินใช้ในราชการ ไปให้การรถไฟฯ ถ่ายทอดแนวเขตตามแผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างพร้อมทั้งลงนามรับรอง เพื่อกรมที่ดินจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินและ น.ส.3 ก. ได้ (กรณีนี้เป็นกรณีเดียวกับที่กรมที่ดินใช้ระวางแผนที่เพิกถอนเอกสารสิทธิในเขตป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้มีการถ่ายทอดแนวเขตป่าไม้ไว้ให้ในระวางแผนที่ของกรมที่ดิน) แต่การรถไฟฯก็ไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(2) กรมที่ดินตรวจสอบ พบว่าการรถไฟฯ ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1 ) ไว้เป็น ส.ค.1 เลขที่ 1180 พร้อมทั้งยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินและได้มีการนำรังวัดปักหลักเขตเพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ไปบางส่วนแล้ว แต่ยังคงเหลือพื้นที่ส่วนใหญ่ที่การรถไฟฯ นำรังวัดชี้เขตที่ดินไม่ครบถ้วนตามจำนวนเนื้อที่ที่ระบุไว้ในหลักฐาน ส.ค.1 ซึ่งหากการรถไฟฯ นำรังวัดชี้แนวเขตเพื่อออกโฉนดได้ครบตามจำนวนเนื้อที่ที่ได้แจ้ง ส.ค.1 ไว้ ก็จะทำให้ทราบขอบเขตที่ดินทั้งหมดของการรถไฟฯ และกรมที่ดินก็จะสามารถใช้แนวเขตดังกล่าว ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ซ้อนทับที่ดินของการรถไฟฯ ได้ แต่การรถไฟฯ ก็ไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(3) กรมที่ดินแจ้งให้การรถไฟฯ ส่งผู้แทนหรือตัวแทนเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะทำงานทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟ จำนวน 5,083 ไร่ และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่ามีที่ดินจำนวนทั้งหมดกี่แปลงที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟ และที่ดินแปลงใดทับซ้อนเป็นบางส่วน ซึ่งจะต้องทำการรังวัดในที่ดินเพื่อแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟ แต่การรถไฟฯ ก็ไม่ตอบสนองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
  4.4 กรมที่ดินได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ว่ามีจำนวนกี่แปลง  เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทใด  ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบกับการรถไฟฯ อีกครั้งว่า เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือไม่ เพียงใด  โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่  วันที่ 4 เมษายน 2565 เมื่อมีการรังวัดที่ดินในพื้นที่แล้ว ก็สามารถนำหลักฐานที่กรมที่ดินตรวจสอบไว้มาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพิกถอนต่อไปได้ 

    กรณีที่การรถไฟฯ ได้ฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลางเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 นั้น  กรมที่ดินมีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอต่อศาลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำการรังวัดที่ดินเพื่อให้ทราบแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ ในฐานะที่การรถไฟฯ เป็นเจ้าของที่ดิน  เพื่อทราบอาณาเขตที่แน่ชัดเพื่อกรมที่ดินจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ทั้งแปลงหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหากอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ เป็นบางส่วน เป็นรายแปลงได้ต่อไป  ซึ่งหากศาล มีคำพิพากษาให้การรถไฟฯ ทำการรังวัดที่ดินเพื่อทราบแนวเขตแล้ว  กรมที่ดินก็สามารถที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ทันที และเมื่อมีการเพิกถอนหรือแก้ไขที่ดินแปลงใดแล้ว  เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองได้ ซึ่งกรมที่ดินจะร้องขอต่อศาลให้การรถไฟฯ เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับกรมที่ดินด้วย เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่การรถไฟเป็นของการรถไฟฯแต่อย่างใด