GISTDA เผย "พายุฤดูร้อน" ทำจุดความร้อน-ฝุ่น PM 2.5 ทั่วไทยลดลง
GISTDA เผย "พายุฤดูร้อน" ทำจุดความร้อนทั้งประเทศลดลงเหลือ 414 จุด ขณะที่เช้านี้คุณภาพอากาศดีขึ้น ภาพรวมทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับดีมาก
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.65 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วานนี้( 18 เม.ย.65) พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 414 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 205 จุด พื้นที่เกษตร 101 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 74 จุด พื้นที่เขตสปก. 18 จุด และพื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 16 จุด
จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ
- แม่ฮ่องสอน 129 จุด
- เชียงใหม่ 65 จุด
- ตาก 36 จุด
สอดคล้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน (คือช่วงวันที่ 18 ถึง 24 เมษายน 2565) จากภาพแสดงให้เห็นจุดความร้อนที่ยังกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่พบจุดความร้อนสูงสุดต่อเนื่องหลายวัน ส่วนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพบจุดความร้อนเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกจากพายุฝนฟ้าคะนอง
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 18 เมษายน 2565 พบว่าภาคเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 14,838 จุด ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12,943 จุด และภาคกลาง 9,208 จุด ตามลำดับ
ส่วนเช้านี้เวลา 09.00 น. อากาศดีขึ้น ภาพรวมทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm2.5) อยู่ในระดับดีมาก (สีฟ้า) เว้นแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เช้านี้ยังพบค่าฝุ่นจิ๋วอยู่ที่ 38 (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง (สีเหลือง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน อันดับหนึ่งคือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 1,629 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นประเทศไทย จำนวน 414 จุด และอันดับที่ 3 เป็นราชอาณาจักรกัมพูชา 266 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณชายแดนภาคเหนือเนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามาขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพและสวมใส่หน้ากากอนามัยกันด้วย
ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่