สำนักงาน กขค. เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับองค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าต่างประเทศ
สำนักงาน กขค. เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับองค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าต่างประเทศ
ระหว่างวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2565 สำนักงาน กขค. ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และ ศูนย์นโยบาย OECD แห่งประเทศเกาหลี (OECD/Korea Policy Center: KPC) จะดำเนินการจัดประชุมระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าสำหรับหน่วยงานกำกับการแข่งขันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” (Workshop on Advocacy Strategies for Competition Authorities in Asia-Pacific) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Making Competition Policy a Policy Mainstay” ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายการแข่งขันต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชีย-แปชิฟิก โดยมี ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และ บุคลากรสำนักงาน กขค. รวมไปถึงผู้แทนหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการกำกับธุรกิจเฉพาะรายสาขา เข้าร่วมการประชุม
นอกจากนี้ สำนักงาน กขค. ยังเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับคดีแข่งขันข้ามพรมแดน โดยเมื่อวันที่ 27 – 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา นายรักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า และนายมนยศ วรรธนะภูติ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เข้าร่วมการประชุมผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายการแข่งขัน แห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 17 (The 17th East Asia Top Level Officials’ Meeting on Competition Policy: EATOP) และการประชุมกฎหมายและนโยบายการแข่งขันแห่งเอเชียตะวันออกครั้งที่ 14 (The 14th East Asia Conference on Competition Law and Policy: EAC) ณ โรงแรม New World Hotel Makati กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดทำนโยบายการแข่งขันและการนำแนวนโยบายไปปฏิบัติ
โดยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า ร่วมเสวนาในหัวข้อ นโยบายการแข่งขันและการบูรณาการภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Competition Policy and East Asian Regional Integration) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งร่วมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเป้าหมายและมุมมองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และการประชาสัมพันธ์กฎหมายการแข่งขันทางการค้า
และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการแข่งขันระดับภูมิภาค (Regional Competition Committee) เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลคดีข้ามพรมแดน รวมทั้งเป็นกลไกหลักในการประสานงานระหว่างหน่วยงานกำกับการแข่งขันอีกด้วย โดยสำนักงาน กขค. ได้เข้าร่วมการประชุม EATOP และ EAC อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ สำนักงาน กขค. จะเป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายการแข่งขันแห่งเอเชียตะวันออกและการประชุมกฎหมายและนโยบายการแข่งขันแห่งเอเชียตะวันออกครั้งต่อไปในปี 2566 ณ ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและขับเคลื่อนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศสู่ระดับสากลต่อไป
นอกจากการเดินหน้าสร้างความร่วมในต่างประเทศแล้ว สำนักงาน กขค. ยังมีโอกาสต้อนรับผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า พร้อมด้วย ดร.รักษเกชา แฉ่ฉาย นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และนายมนยศ วรรธนะภูติ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ให้การต้อนรับผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประเทศไทย นำโดย Mr. SUZUKI Kazuya, Chief Representative เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศญี่ปุ่น (JFTC) Mr. MAEDA Yutaka, Deputy Senior Officer for Consumption Tax Pass-on Issues ซึ่งให้เกียรติเดินทางมาเป็นวิทยากรในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในทางมิชอบ (Abuse of a Superior Bargaining Position)” ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 และได้ร่วมหารือถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรภายในสำนักงาน กขค. และเสริมสร้างประสิทธิภาพการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย