เมื่อ PM 2.5 พัดมาอีกระลอก ชวนลดฝุ่นพิษด้วยการ "ปลูกป่า" พร้อมมุ่งสู่ Net Zero
หน้าหนาวมาเยือนทีไร "ฝุ่น PM2.5" มักจะพุ่งสูงตามมาติดๆ หลายภาคส่วนต่างหาทางวิธีแก้ปัญหานี้กันทุกปี หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล คงหนีไม่พ้น "การลดการปล่อยมลพิษ และเพิ่มพื้นที่ป่า"
ปตท. นับเป็นองค์กรอันดับต้นๆ ของไทยที่ดำเนินงานด้านนี้มานานกว่า 2 ทศวรรษ หนึ่งในนโยบายสำคัญด้านการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมของ ปตท. มีที่การดำเนินงานมายาวนานก็คือ "การปลูกป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในไทย" โดยในปี 2537 ปตท. ได้อาสาปลูกป่า 1 ล้านไร่ ทั่วประเทศภายใต้ "โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50" มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในไทยให้มากขึ้น และเป็นการสร้างพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดมลพิษในอากาศ และคืนสมดุลสู่ธรรมชาติ
จากผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานตลอด 25 ปี ในการฟื้นฟูป่าทั่วประเทศ ปตท. ได้พัฒนาต่อยอดและจัดตั้ง "สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท." ขึ้นมา เพื่อสานต่อภารกิจฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ รวมถึงส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายเพื่อดูแลป่าอย่างยั่งยืน อีกทั้งได้จัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ" ขึ้นมา 3 แห่งในไทย เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ด้านการปลูกป่า การฟื้นฟูระบบนิเวศ และเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการปลูกป่าซึ่งสามารถช่วยลดมลพิษในอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยศูนย์การเรียนรู้ฯ ด้านการปลูกป่าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่
1. ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อยู่ในพื้นที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมายในการปลูกป่าชายเลนมาตั้งแต่ปี 2537 โดยพลิกฟื้นที่ดินที่เคยเป็นนากุ้งร้างที่มีสารเคมีตกค้างจนสามารถปลูกป่าชายเลนได้สำเร็จในปี 2540 ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้สามารถปลูกต้นไม้ไปได้ถึง 471,600 ต้น (600 ต้น/ไร่) และสามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 17,010 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ณ ปี 2564)
นอกจากความสำเร็จในการปลูก ป่าชายเลน ที่อุดมสมบูรณ์ได้แล้ว ปตท. ยังพัฒนาพื้นที่นี้ต่อเนื่องให้เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน เกิดการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนอย่างยั่งยืน โดยเปิดให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทำการวิจัย ท่องเที่ยวพักผ่อน และบริหารจัดการเพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืนสำหรับชุมชน
2. ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง
ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง โดยในปี 2557 สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ได้รับมอบหมายเข้ามาพัฒนาที่ดินในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง และเลือกพื้นที่จำนวน 351.35 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การพักผ่อนหย่อนใจ โดย ปตท. มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการปลูกป่าฯ 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์" แห่งนี้ขึ้นมา โดยออกแบบให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการป่าครบวงจร เป็นพื้นที่สาธิตการปลูกป่าและวิจัยการฟื้นฟูป่าหลากหลายรูปแบบ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นภาคตะวันออกและพันธุ์ไม้หายากของไทย รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าและระบบนิเวศป่าไม้ ให้แก่นิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนผู้สนใจ อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ที่สำคัญของภาคตะวันออก จากการดำเนินการปลูกป่าตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบันพบว่าที่นี่ปลูกต้นไม้ได้มากถึง 453,082 ต้น สามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3,759 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ณ ปี 2564)
นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ยังถือเป็นผืนป่าขององค์กรธุรกิจแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใน "โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย" (T-VER) ภาคป่าไม้ โดยในปี 2561 ผืนป่าแห่งนี้ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก จำนวน 763 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อีกด้วย
3. ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพฯ
ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2558 โดย ปตท. ตั้งใจให้ "ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง" เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องป่าและระบบนิเวศที่ผสมผสานความสวยงามด้านภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึงเป็นพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ บนที่ดินของ ปตท. จำนวน 12 ไร่ จากเดิมที่นี่เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและเป็นที่ทิ้งขยะ ต่อมา ปตท. มีแนวความคิดที่จะ "สร้างป่าให้กับคนกรุงเทพฯ" โดยนำองค์ความรู้จากการปลูกป่ามาแล้ว 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ มาต่อยอดเป็น "ป่านิเวศ" เพื่อจำลองป่ากรุงเทพฯ ในอดีต ที่มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ดั้งเดิมและพันธุ์ไม้หายากกว่า 270 ชนิด
ในขณะเดียวกันก็ออกแบบให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อให้คนกรุงหรือเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในเมือง ได้มีโอกาสรู้จักและสัมผัสป่าอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องเดินทางไกล และได้ตระหนัก ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้ปลูกต้นไม้ไปแล้วถึง 7,524 ต้น รวมพรรณไม้กว่า 250 ชนิด สามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 230 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ณ ปี 2564)
จากการดำเนินงานของ "ศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ" ทั้ง 3 แห่งข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ก็สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้มากตามไปด้วย ซึ่งช่วยลดมลภาวะทางอากาศได้จริง นอกจากนี้ ปตท. ยังมุ่งหน้าดำเนินงานด้านการปลูกป่าเพื่อลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์ “เร่งปรับ-เร่งเปลี่ยน-เร่งปลูกป่า” นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
โดย ปตท. ตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวไว้ว่า จะมุ่งดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยมีกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการรองรับที่เป็นรูปธรรม จากกลยุทธ์หลักอย่างการ "เร่งปรับ-เร่งเปลี่ยน-เร่งปลูกป่า" ซึ่งประกอบไปด้วย
- "เร่งปรับ" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออก การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization: CCU) การต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้น โดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30%
- "เร่งเปลี่ยน" มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับพอร์ตการดำเนินธุรกิจสู่ธุรกิจสีเขียว โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าเรื่องของพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50%
- "เร่งปลูกป่า" การบำรุงรักษาป่าร่วมกับภาครัฐและชุมชน มุ่งสู่การเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. โดยมีแผนปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และกลุ่ม ปตท. 1 ล้านไร่
ปัจจุบันนี้ ปตท. เป็นองค์กรที่มุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero อย่างจริงจัง มุ่งยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน