หลายภาคส่วนรวมใจร่วมวางปะการังเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ เกาะแสมสาร
มูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพเรือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมใจร่วมวางปะการังเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ เกาะแสมสาร มุ่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแนวปะการัง
มูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( มูลนิธิ อพ.สธ.) มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพเรือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมใจใน "โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ" เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2566 โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นประธานในพิธีวางปะการังเทียมเป็นปฐมฤกษ์ โดยมีพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายพรชัย จุฑามาศ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิ อพ.สธ.) นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสมพันธ์ จารุมิลินท ประธานคณะทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลไทย มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมพิธี ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย และร่วมกิจกรรมวางปะการังเทียม สร้างบ้านปลา ปล่อยเต่า และปลูกต้นไม้ บริเวณหน้าหาดทิศตะวันออกของเกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
"โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ" มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี - กองทัพเรือ (อพ.สธ. - กองทัพเรือ) โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้เกาะแสมสารเป็นแหล่งเรียนรู้ พระราชทานให้ดำเนินงานตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2541 ทรงเน้นเรื่องการบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยว การจัดการพื้นที่ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ เพราะมีผลกับเศรษฐกิจของท้องถิ่นชุมชน และความเสียหายอันจะเกิดกับทรัพยากร
มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพเรือ และหน่วยงานเครือข่าย จึงได้ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแนวปะการังบริเวณเกาะแสมสาร และมีการศึกษาวิจัยติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลปะการังที่จะไปสนับสนุนการจัดทำผังพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning; MSP) ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย และตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการปะการังในพื้นที่ดำเนินงาน อพ.สธ. - ทร. หมู่เกาะแสมสาร และเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการยกระดับความสำคัญของพื้นที่หมู่เกาะแสมสาร เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area; MPA) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบนิเวศของพื้นที่อ่าวไทยตะวันออก รองรับกับการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมของ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor; EEC) พร้อมทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ เกาะแสมสาร อีกด้วย
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวในพิธีเปิดงาน เมื่อ 25 ปีที่แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริแก่ผู้เกี่ยวข้องให้ ดำเนินการทั้ง 9 เกาะ คือ เกาะแสมสาร และเกาะข้างเคียง ศึกษาตั้งแต่ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งพืชบนดิน พืชน้ำ รวมถึงสัตว์ต่างๆ โดยเน้นระบบนิเวศวิทยาแบบภาพรวมทั้งระบบ ให้ทำการสำรวจทั้งด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา แร่ธาตุ ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพระราชดำรินี้คือแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กองทัพเรือ จังหวัดชลบุรี และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ที่มาร่วมกันสนับสนุนในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ จนป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทั้งทิวทัศน์ หาดทรายที่สะอาดสวยงาม พร้อมขอฝากชาวแสมสารและหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ช่วยกันดูแลธรรมชาติอันงดงามนี้ให้ดำรงอยู่เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป
โดยโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเกิดขึ้นบนหมู่เกาะแสมสาร ที่เป็นพื้นที่รวม ความหลากหลายทางชีวภาพ จากยอดเขาสู่ใต้ทะเลด้านอ่าวไทยฝั่งตะวันออกครั้งนี้ มีการจัดทำบ้านปลาบริเวณหาดเทียน ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสาหร่ายทะเลกลุ่มต่างๆ และสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย อาทิ ปลิงทะเล ฟองน้ำทะเล เม่นทะเล หอยทะเล ปลาทะเลในแอ่งน้ำขัง การร่วมปลูกต้นไม้ การปล่อยเต่า และการวางปะการังเทียมต่อเนื่องเป็นแนวยาวขนานกับหาดเทียนบนพื้นที่วางรวม 200 ตารางเมตร โดยนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการัง และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศปะการังรวมถึงทรัพยากรทางท้องทะเลบริเวณเกาะแสมสารอย่างยั่งยืนต่อไป