สคช. มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพให้พนักงานบริษัท AAT จำนวน 232 คน
สคช. มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพให้พนักงานบริษัท AAT จำนวน 232 คน เพื่อยกระดับการทำงานของบุคลากรไทยให้มีศักยภาพสูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. เป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพให้พนักงานของ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AAT บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า จำนวน 232 คน ในอาชีพช่างเทคนิคระบบหุ่นยนต์, ช่างซ่อมสีรถยนต์, ช่างปรับประกอบ, แม่พิมพ์ปั๊มโลหะ และครูฝึกในสถานประกอบการ ซึ่ง AAT เป็นสถานประกอบการต้นแบบที่ได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในสถานประกอบการ โดยมีนายเคนอิจิโร ซารุวาตาริ ประธานบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และคณะผู้บริหาร สคช. นายสถิรยุทธ แสงสุวรรณ รองประธานบริษัท ฝ่ายทรัพยากรบุคคล AAT และคณะผู้บริหารของ AAT ร่วมในพิธี
นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า เป็นก้าวสำคัญที่สถานประกอบการขนาดใหญ่ให้การยอมรับและใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพในการยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของพนักงาน ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบได้กับคุณวุฒิทางการศึกษา ช่วยลดค่าเสียโอกาสในการมีงานทำ สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ก่อนและสามารถกลับไปเข้ารับคุณวุฒิทางการศึกษาได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งรับค่าตอบแทนพิเศษให้กับพนักงาน ในขณะที่สถานประกอบการก็จะลดต้นทุนในการพัฒนากำลังคนในสถานประกอบการ แต่ได้พนักงานที่มีศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้บริหารและพัฒนามาตรฐานอาชีพตามเป้าหมายต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อทำให้กำลังแรงงานไทยมีศักยภาพสูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายเคนอิจิโร ซารุวาตาริ ประธานบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า AAT แม้จะเป็นบริษัทข้ามชาติ แต่เป็นสถานประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้พนักงาน มีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Upskill และ Reskill ซึ่งหากพนักงานมีทักษะที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เกิดประโยชน์กับทั้งสถานประกอบการเองและตัวพนักงาน เพราะคุณวุฒิวิชาชีพคือประกาศนียบัตรที่รับรองโดยหน่วยงานรัฐบาล เป็นการยืนยันว่าพนักงานมีความรู้ ความชำนาญ และเพิ่มโอกาสในการมีงานทำได้เมื่อเขาต้องการไปทำงานที่อื่น
"ขณะที่การอบรมอาชีพเสริมยังเป็นการต่อยอดสร้างอาชีพใหม่ นำไปสร้างอาชีพรองรับเมื่อเกษียณอายุ เป็นการเติมเต็มทักษะใหม่ที่เอาความรู้ไปต่อยอดสร้างธุรกิจในอนาคตได้ ที่ผ่านมามีการอบรมอาชีพให้กับพนักงาน AAT ให้กับพนักงานในสายการผลิต รวมไปถึงพนักงานขับรถ พ่อครัว แม่ครัว พนักงานทำความสะอาด และต่อยอดไปถึงคนในครอบครัวอีกเกือบ 400 ชีวิต"