MP Group จัดประชุมวิชาการ การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูก
MP Group จัดงานประชุมวิชาการหัวข้อ การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูก โดยการระบุสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงมากถึง 14 สายพันธุ์ พร้อมแจ้งสิทธิ์การตรวจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมดในสตรี มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากการติดเชื้อ ไวรัสเอชพีวี ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเราสามารถตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อโรคนี้ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการของโรค เชื้อไวรัสเอชพีวีที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงในการก่อโรคไม่เท่ากัน ซึ่งในอดีตจะมีการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีเฉพาะบางสายพันธุ์ที่พบบ่อย หรือตรวจหลายสายพันธุ์แต่ระบุชื่อสายพันธุ์เพียงบางสายพันธุ์เท่านั้น ในประเทศไทยเคยมีการระบุว่าสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดตามข้อมูลของต่างประเทศคือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18
ในปัจจุบันมีข้อมูลทางระบาดวิทยาของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และพบว่าสายพันธุ์ที่ก่อโรคมะเร็งแตกต่างจากข้อมูลของต่างประเทศในบางส่วน คือพบสายพันธุ์ที่ 16, 51 และ 52 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยการระบุแยกรายงานสายพันธุ์ต่างๆ อย่างละเอียด จะสามารถช่วยให้การดูแลรักษาและเลือกวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยมี ฤทธิชัย ศรีวิจารย์ ประธานกรรมการ และนทพร บุญบุบผา ประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ ตระหนักถึงภัยคุกคามนี้ จึงได้จัดการบรรยายทางวิชาการขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ในรูปแบบการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ The Next Move of HPV DNA 14 Genotyping to Eliminate Cervical Cancer ภายในงานประชุมวิชาการของสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย (ACMTT) ครั้งที่ 45 ณ True Icon Hall ศูนย์การค้า ICONSIAM ในการประชุมนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, รศ.นพ.มงคล เบญจาภิบาล เลขาธิการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แพทย์เฉพาะทางสูติ-นรีเวช มะเร็งนรีเวช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และทนพญ.จินตนา ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรร่วมเสวนาวิชาการ โดยมี นทพร บุญบุบผา ประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนอ และแลกเปลี่ยนนำเสนอข้อมูลวิชาการ ในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการป้องกันและกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูก
ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง แนวทางสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกว่า ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ การฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรอง และการรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก ในประเด็นของการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรในกลุ่มเด็กหญิง พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสเอชพีวี ได้ดี แต่มีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงการได้รับวัคซีน โดยพบว่ามีประชากรเด็กหญิงกว่า 1.2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งคือการได้รับวัคซีนที่ถูกออกแบบมาไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่มีความเสี่ยงสูงและมีอุบัติการณ์สูงในประเทศไทย ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลด้านระบาดของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชพีวีในประเทศไทย จะช่วยในการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐให้ความสำคัญและมีนโยบายที่สนับสนุน การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยเทคโนโลยี HPV DNA Genotyping Test แบบแยกระบุทุก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ซึ่งให้สิทธิ์ตรวจฟรีแก่สตรีไทย ที่มีช่วงอายุ 30 – 60 ปี และให้ตรวจทุก 5 ปี เพื่อค้นหาและกำจัด มะเร็งปากมดลูก ได้อย่างทันท่วงที
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยเทคโนโลยี HPV DNA Genotyping Test และรายงานผลการตรวจแบบแยกระบุเชื้อไวรัสที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ ว่า เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะมีประโยชน์มากกว่าการรายงานผลการตรวจคัดกรองแบบเดิม เพราะจะทำให้แพทย์สามารถตรวจติดตามว่าไวรัสสายพันธุ์เสี่ยงสูงกลุ่มใดยังคงมีการติดเชื้อซ้ำและนาน ซึ่งจะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกตามมา ทำให้สามารถวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่ระบุสายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ยังสามารถช่วยให้ติดตามความรุนแรงของโรค (ด้วยการระบุค่า Ct value) ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดไปจากแผ่นดินไทย จึงจัดกิจกรรมต่างๆ มาตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นโครงการราชวิทยาลัยสัญจร การจัดสัมมนาให้ความรู้ประชาชน และจัดงาน อีเวนท์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการ คัดกรองมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ยังมีการจัดทำกรอบความร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนการฉีดวัคซีน และการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งปัจจุบันพบว่าหญิงไทยมีความเขินอาย และกลัวเจ็บที่จะรับการตรวจโดยแพทย์ ไม่กล้าขึ้นขาหยั่ง ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงสนับสนุนและร่วมมือกับหลายองค์กรในการใช้วิธีการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self-sampling) เข้ามาช่วย นอกจากนี้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กำลังมีโครงการที่จะทำงานร่วมกับ บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) ในการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่ระบุสายพันธุ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อศึกษาหาข้อมูลทางระบาดวิทยาของการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในประเทศไทยให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะยังผลให้เป็นพื้นฐานของข้อมูลในการบริหารจัดการให้หญิงไทยปลอดจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้มีประสิทธิผลมากขึ้นตามไปด้วย
รศ. นพ. มงคล เบญจาภิบาล เลขาธิการ และประธานคณะอนุกรรมการจัดประชุมวิชาการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แพทย์เฉพาะทางมะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านความสำคัญของการตรวจแยกระบุสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงของไวรัสเอชพีวี หรือ Full high-risk HPV genotyping โดยในปัจจุบันมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากหลายการศึกษาวิจัยบ่งบอกว่า ไม่เฉพาะเพียงไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และ 18 เท่านั้นที่มีความสำคัญ สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงอื่นๆ มีความสามารถก่อให้เกิดรอยโรคที่สามารถพัฒนาไปเป็น มะเร็งปากมดลูก ได้มากเช่นกัน นอกจากนี้การตรวจ Full high-risk HPV genotyping ยังสามารถบอกถึงภาวะการติดเชื้อฝังแน่น (persistent infection) ซึ่งหมายถึง การติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงตัวเดิมๆ ซึ่งพบว่า อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดรอยโรคขั้นสูง (high grade cervical lesion) ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงมากขึ้นเป็นสามเท่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อแบบชั่วคราว (incident or transient infection) และในยุคที่การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV vaccination era) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก การทราบถึงข้อมูลทางระบาดวิทยาของเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค (geographic variation) อาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีให้มีความเหมาะสมสำหรับภูมิภาคนั้นๆ ได้
นักเทคนิคการแพทย์หญิงจินตนา ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยเลือกเทคโนโลยีการตรวจ HPV DNA ที่ระบุทุก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง นำไปสู่การจัดทำ HPV data center เพื่อพัฒนา วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยนำร่องในเขตสุขภาพที่ 3 ตรวจคัดกรองประชากรหญิงไทย 40,000 ราย พบการระบาดของเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 52, 16, 68, 58, 66 สูงเป็น 5 อันดับแรก ต่อมาได้ทำโครงการต่อยอดการตรวจคัดกรองโดยใช้ HPV self-sampling เพื่อให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด จากตัวอย่างการขับเคลื่อนโครงการที่จังหวัดชัยนาท พบว่าสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีทำได้ถึง 18,005 ราย ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น
MP Group มุ่งมั่นเป็นหนึ่งในองค์กรหลักภาคเอกชนที่จะทำงานร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ในประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการกำจัด โรคมะเร็งปากมดลูก ให้ไปจากประเทศไทย (HPV Zero) การตรวจคัดกรองที่ทันสมัยโดยใช้หลักการ Real-time PCR นวัตกรรมจากประเทศเกาหลีใต้ ช่วยตรวจได้อย่างรวดเร็ว รักษาได้อย่างทันท่วงที และจะช่วยให้สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ที่มีการระบาดของประเทศไทย ช่วยกำจัดมะเร็งปากมดลูกจากประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน