เพ ลา เพลิน ร่วมกับกลุ่มเยาวชนอาสา สร้างมูลค่าสู่ชุมชนด้วยภูมิปัญญาทางสุขภาพ
"เพ ลา เพลิน" ร่วมกับกลุ่มเยาวชนอาสา สร้างมูลค่าสู่ชุมชนด้วยภูมิปัญญาทางสุขภาพ ตามแนวทางการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน
ในปัจจุบันกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ กลับมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมกันเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดจากการลดใช้พลาสติก เทรนด์การปลูกต้นไม้ การนำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ การรณรงค์ลดการใช้พลังงาน รวมถึงโครงการที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานราชการ เอกชน และอื่นๆ มากมาย
เพ ลา เพลิน จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นอีกหน่วยงานภาคเอกชน ที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ สืบเนื่องจากโครงการส่งเสริมด้านสมุนไพรท้องถิ่นมาใช้ในเชิงสุขภาพ ในนาม "Arokaya Wellness Sala" โดยที่ผ่านมามีการนำกิจกรรมด้านสมุนไพรและภูมิปัญญาไทยผ่านการลงมือทำและสร้างแนวความรู้ "นาข้าว นาอาหาร นายา" เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเยาวชนที่เข้ามาทำกิจกรรมภายในพื้นที่ ได้เล็งเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาชุมชนและการแพทย์แผนไทย โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่มที่ปรึกษา อาทิ อาจารย์แพทย์แผนไทย คมสัน ทินกร ณ อยุธยา พรทิพย์ อัษฎาธร ที่ปรึกษาวิสาหกิจเพ ลา เพลิน และกรรมการผู้จัดการบริษัทเพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด รวมถึงวิทยากร และปราชญ์ชุมชน จนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มเยาวชนคนในเมือง ได้กลับมาให้ความสนใจในภูมิปัญญา ทั้งด้านสุขภาพและอาหารท้องถิ่น ก่อให้เกิดกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจตอบแทนคืนสังคมและชุมชน ในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาจากข้าวและสมุนไพร
โดยกลุ่มเยาวชนนี้ได้รับการอบรมจากวิทยากรวิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน และแพทย์แผนไทยจากโครงการ "Arokaya Wellness Sala" ในด้านของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาจากสมุนไพรและข้าว และได้มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ออกแบบในเชิงการส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์, Packaging, Marketing Concept และอื่นๆ ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างมูลค่าในแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัตถุดิบท้องถิ่นในภาคอีสาน และหวังสร้างแรงกระเพื่อมสู่เยาวชนในวัยเดียวกัน ให้หันมาเห็นคุณค่าในการส่งเสริมชุมชนและภูมิปัญญา
สำหรับผลงานที่ร่วมกันพัฒนา มีทั้งเรื่องของการนำสมุนไพรมาทำ Wellness Products และทำงานร่วมกับชุมชนข้าวสารัช โดยนำมาทำสครับผิวสมุนไพร มากส์หน้าทองคำจากข้าว ยาดมสมุนไพรจากข้าวกล่ำ และไอศกรีมข้าวนกกระเรียน ทั้งนี้เพื่อต่อยอดให้แก่ชุมชนทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้สู่ภาคชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการเสริมกิจกรรมใหม่ๆ ให้แก่ชุมชนเพื่อต่อยอดในภาคการท่องเที่ยวได้อย่างน่าสนใจ จากผลผลิตที่เหลือใช้จากเกษตรกรรม ตามแนวทางการสร้าง Sustainability Framework ใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการตอบแทนคืนธรรมชาติและชุมชนได้เป็นอย่างดี