สวพ. 1 เจ๋ง ใช้เทคโนโลยีป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟแบบผสมผสาน
สวพ. 1 เจ๋ง ใช้เทคโนโลยีป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟแบบผสมผสาน
ในการปลูกกาแฟในปัจจุบันพบว่า มีการเข้าทำลายของศัตรูพืชทั้งโรคและแมลงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ มอดเจาะผลกาแฟ Hypothenemus hampei (Ferrari) (Coleoptera: Scolytidae) เป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดเล็ก 1.2-1.5 มิลลิเมตร ลำตัวสีดำ ขยายพันธุ์ ได้ 8-9 รุ่นต่อปี เพศเมียวางไข่ได้ 20-80 ฟอง วงจรชีวิต 28- 34 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม นับเป็นศัตรูที่สำคัญต่อการปลูกกาแฟในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตกาแฟได้มากถึง 50% ผลกาแฟที่ถูกเจาะจะเป็นช่องทางให้เชื้อราและแบคทีเรียเข้าทำลายซ้ำ ทำให้ผลร่วงเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟลดลง หากสามารถเก็บเกี่ยวผลกาแฟที่มอดเจาะทำลายอยู่ เมล็ดกาแฟที่ได้จะไม่มีคุณภาพ
นายนฤนาท ชัยรังษี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) เขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงมีการปลูกพืชหลากหลายชนิด หนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ “กาแฟอะราบิกา” เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกมาเป็นระยะเวลานานปัจจุบันพบว่ามีการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟกระจายในพื้นที่ต่างๆ และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดั้งนั้น เพื่อเร่งแก้ปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกร จึงได้นำเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดการมอดเจาะผลกาแฟแบบผสมผสานสร้างการรับรู้ เร่งการถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับมาตรการแก้ปัญหาการป้องกันและกำจัดมอดเจาะผลกาแฟ
เริ่มแรกจะต้องสำรวจการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นให้รักษาความสะอาดแปลง ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มให้โปร่ง เก็บเกี่ยวผลกาแฟให้หมดต้น เก็บผลกาแฟที่ถูกมอดเจาะไปทำลายนอกแปลงเพื่อลดการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟที่อาศัยอยู่ในผล และให้วางกับดักและสารล่อมอดเจาะผลกาแฟ (เมทิลแอลกอฮอล์ : เอทิลแอลกอฮอล์ อัตราส่วน 1:1 อัตรา 5-10 จุดต่อไร่สูงจากพื้น 1.0-1.5 เมตร กระจายทั่วแปลงปลูก และเติมสารล่อทุกๆ 2 สัปดาห์
ต่อจากนั้นให้ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียนา สายพันธุ์ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับมอดเจาะผลกาแฟ (DOA B18) อัตรา 1-2 ถุง ต่อน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่ง “เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียน่า” (Beauveria bassiana) มีลักษณะเป็นเส้นใยเชื้อราสีขาว โดยเชื้อราดังกล่าวจะแทงเส้นใยเข้าไปทำลายอวัยวะภายในตัวแมลง ส่งผลให้แมลงอ่อนแอ ป่วย และตายในที่สุด
เมื่อแมลงตายเส้นใยจะแทงออกมาภายนอกตัวแมลงและเจริญเป็นสปอร์แพร่กระจายไปตามลมและฝน ติดต่อไปยังแมลงตัวอื่นๆเชื้อราบิวเวอเรีย สายพันธุ์กรมวิชาการเกษตร (DOA-B18)เป็นเชื้อที่มีความเฉพาะเจาะจงในการควบคุมมอดเจาะผลกาแฟในระยะตัวเต็มวัยซึ่งทำให้ตัวเต็มวัยติดเชื้อและตายภายใน 5-6 วัน สามารถมองเห็นโครงสร้างเส้นใยของเชื้อราขึ้นปกคลุมลำตัวมอดชัดเจน ในช่วง 7-10 วัน หลังเชื้อเข้าทำลาย ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นผลงาน หนึ่งในนโยบายของกรม "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้"