สนจ. รวมพลังชาวจุฬาฯ จัดงาน 'ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566'
สนจ. รวมพลังชาวจุฬาฯ จัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566" สานต่อพระราชปณิธาน ชวนคนไทยร่วม "จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน"
วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน ผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ สนจ. ได้จัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์" ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมแสดงความจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียงกัน
สำหรับการจัดงาน ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 นี้ มีการจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน" ซึ่งเป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงวางรากฐานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมนิสิตเก่า จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของแนวคิดปีนี้ว่า งานปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงวางรากฐานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากมิติ อาทิ ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านคมนาคม รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้น เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
"ปี 2566 นี้ กิจกรรมในภาคเช้า ชาวจุฬาฯ จะร่วมกันถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล) และพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต อย่างเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ส่วนในภาคค่ำจะมีการจัดกิจกรรมการบริจาคเงินการกศุลที่ศาลาพระเกี้ยวซึ่งจะมีกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ"
อรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเชิญชวนชาวจุฬาฯ ทั้งนิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันสมทบทุนจุฬาสงเคราะห์ และทุนอาหารกลางวัน ให้กับนิสิตที่มีความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาคมจุฬาฯ และสังคมโดยรวม รวมทั้งโครงการเลือดชมพู (CU Blood) เติมเลือดใหม่ ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สนจ. และนิสิตปัจจุบัน ที่จะเชิญชวนและรณรงค์ให้นิสิต นิสิตเก่า อาจารย์ บุคลากรของจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคโลหิตแก่สภากาชาดไทยไม่ให้ขาดเลือดตลอดทั้งปี โดยมีเป้าหมายสำหรับยอดผู้บริจาคจำนวน 4,000 คน เป็นรายใหม่ไม่น้อยกว่า 800 คน ระหว่างวันที่ 24-29 ตุลาคม 2566
"ปีนี้ถือเป็นปีแรกในการทำงานในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะให้ สนจ. เป็นเครือข่ายกลางที่ยึดโยงนิสิตทุกคนทุกเจเนอเรชัน เพื่อสร้างพลังเป็นหนึ่งเดียว และยังพร้อมที่จะขับเคลื่อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นสถานศึกษาที่เติบโตยั่งยืนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยจะส่งเสริมทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ควบคู่คุณธรรมและจริยธรรมไปพร้อมกับความรู้ที่ทันสมัย พร้อมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับสมาชิกเครือข่ายทุกภาคส่วน และสังคมเพื่อร่วมพัฒนาประเทศและสังคมไทย" นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ กล่าว
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ยังคงสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จวบจนปัจจุบัน โดยได้น้อมนำเป็นแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนจุฬาฯ ไว้ 3 ด้าน คือ Future Leaders ผู้นำแห่งอนาคต และ Impactful Research & Innovation งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีประโยชน์สูงเพื่อสังคม รวมถึง Sustainability การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดการจัดงานในปีนี้ ภายใต้แนวคิด จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน จุฬาฯ ตั้งเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ผ่าน 5 กลยุทธ์
"ประกอบด้วย Energy Transition ปัจจุบันมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคารกว่า 30 แห่ง ในมหาวิทยาลัย Improving Energy System Resilience ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารอัจฉริยะ Creating Green Growth พื้นที่กว่า 50% เป็นพื้นที่สีเขียว มีการสำรวจและประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Lifestyle Transition รณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรใช้รถบัสไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า จักรยานภายในมหาวิทยาลัย โครงการ Chula Zero Waste ดูแลจัดการเรื่องขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และ Social Transition Social Support System กับกิจกรรม Chula SDG : Beyond Leading Change เสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับบุคลากรจุฬาฯ"
ณัฐพล รังสิตพล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 กล่าวเสริมว่า ประเด็นเรื่องของ Climate Change เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นทุกขณะ หากย้อนกลับไปยังเมื่อสมัยของรัชกาลที่ 5 เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์ล้วนเป็นการวางรากฐานการพัฒนาด้านการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน และสาธารณประโยชน์ให้ปวงชนชาวไทย โดยทรงวางรากฐานมาเมื่อประมาณ 170 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 ผ่านกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในภาคค่ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ มาร่วมเทิดพระเกียรติผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ การจัด Exclusive Exhibition แสดงภาพถ่าย และเครื่องใช้หาชมยากในสมัยรัชกาลที่ 5 วีดิทัศน์เทิดพระเกียรติ พระปิยมหาราช ต้นธารสู่ความยั่งยืน กิจกรรม CU Alumni Talk : จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน ละครเวทีเทิดพระเกียรติพระปิยมหาราช ชุด Net Zero Hero สานต่อพระราชปณิธานความยั่งยืน การแสดงดนตรีวง CU Band และศิลปินนิสิตเก่าจุฬา
"รวมถึงกิจกรรมระดมทุนบริจาคทุนจุฬาสงเคราะห์ และทุนอาหารกลางวัน เพื่อสร้างรากฐานทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของนิสิตที่ประสบปัญหาด้านทุนทรัพย์ ซึ่งการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความยั่งยืน และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืน ในการเดินทางมาร่วมงาน ทางสมาคมฯ ยังเชิญชวนให้ผู้มาร่วมงานใช้แนวทางรักษ์โลกร่วมเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะ หรือจะเดินทางมาพร้อมกันโดยใช้รถคันเดียวหลายคน หรือหากอยู่ใกล้สามารถเดินหรือปั่นจักรยานมาร่วมงาน เพื่อช่วยกันลดการปล่อย Carbon Footprint"
เชิญชวนนิสิตเก่าจุฬาฯ นิสิตปัจจุบัน ตลอดจนประชาชนทั่วไปผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคกันได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผ่านการโอนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 073-3-51890-1 บัญชีชื่อ มูลนิธิสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สำหรับกิจกรรม "วันปิยมหาราชานุสรณ์ 2566" สามารถติดตามรับชม Live สดได้ทาง FB page : Backbone MCOT, Chulalongkorn University และ Chula Alumni