ส่องไอเดียธุรกิจ 'โตมี' เพิ่มมูลค่า-ต่อยอด 'ข้าวไทย' สู่สินค้า High Profit
ส่องไอเดียธุรกิจ "โตมี" เพิ่มมูลค่า-ต่อยอด "ข้าวไทย" สู่สินค้า High Profit ตอบโจทย์ตลาดส่งออก SME ที่ไม่ได้มีดีแค่ข้าว
ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ ของไทยจัดได้ว่า เป็นสินค้ายอดนิยม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นุ่ม และมีกลิ่นหอม ปัจจุบันความท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกข้าวคือ การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และการใช้ไอเดียพัฒนา ต่อยอดข้าวไทยให้เกิดเป็นสินค้าที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ
ภาวิณี เทพเกษตรกุล กรรมการ บริษัท โตมี อินเตอร์เทรด จำกัด เป็นทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจว่า กิจการที่ทำเป็นธุรกิจครอบครัว ตนเป็นลูกคนโต มีพี่น้อง 4 คน พ่อทำธุรกิจโรงสีที่จังหวัดศรีสะเกษ ชื่อ บริษัท โตมี จำกัด ด้วยประสบการณ์ที่เติบโตมากับธุรกิจครอบครัว กับแนวคิดของพ่อที่อยากให้ลูกๆ ค้าขายเป็น และต่อยอดธุรกิจโดยการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ พ่อจึงเตรียมการไว้ให้ด้วยการซื้อที่ดิน 10 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี เราจึงเริ่มสานต่อธุรกิจด้วยเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศ ตามที่พ่อตั้งใจไว้
ภาวิณี กล่าวเพิ่มเติมว่า SME ต้องรู้จักสินค้า รู้สิ่งที่ขายและคนซื้อ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องการส่งออก จึงเริ่มทำงานในบริษัทส่งออกแห่งหนึ่งในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการนาน 1 เดือน แล้วกลับมาทำที่โตมี ตอนนั้นเรามีตู้คอนเทนเนอร์เพียง 1 ตู้ กับเครื่องจักรไม่กี่เครื่อง และ Warehouse 1 หลัง บนที่ดิน 10 ไร่ ที่พ่อเตรียมไว้ให้ ทำให้ 3 เดือนแรก สามารถส่งออกข้าวได้เพียง 1 ตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น แต่ด้วยความโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก ธนาคารกรุงเทพ ทำให้เราสามารถขยับขยายกิจการได้
"ช่วงแรกเน้นขายสิ่งที่เป็นความต้องการของลูกค้า เช่น ต้องการข้าวที่มีกลิ่นหอม นิ่ม เมล็ดสวย ซึ่งบางปีผลผลิตข้าวในพื้นที่มีน้อยไม่ตรงความต้องการลูกค้า เรากลับมาทำการศึกษาจบพบว่า ข้าวของเรามีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อพัฒนาขึ้นไปเป็นจุดขาย ทำให้ได้เรียนรู้ว่า สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือ ต้องรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสินค้าไปเรื่อยๆ แต่ควรนำเสนอจุดเด่นที่มี หลังจากศึกษาหาข้อดีของข้าวในพื้นที่ พบว่าข้าวเรามีจุดเด่นในเรื่องรสชาติ เพราะจากการวัดค่าดัชนีน้ำตาล ผลคือมีความหวานที่สุด เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวทั้งหมด จึงนำมาสู่การพัฒนาต่อว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวคงความหอมได้นานขึ้นควบคู่กับพื้นที่ใดที่เมล็ดข้าวสวย พร้อมปรับแนวคิดใหม่ว่า เราต้องรู้จักตลาดเพื่อวางตำแหน่งสินค้าให้เหมาะสม จึงจะได้ผลตอบรับที่ออกมาดีขึ้น หลังจากส่งออกสักระยะพบว่า กำลังการผลิตทำได้เพียง 10% ของข้าวที่ส่งออกทั้งหมด จึงต้องแก้ไขด้วยการหา Supplier เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างของข้าวที่เหมาะกับตลาดเฉพาะกลุ่ม เราต้องดูว่าข้าวที่รับซื้อมาจากแหล่งไหน ตรงความต้องการหรือไม่ ต้องมีทีมหลังบ้าน ทำหน้าที่วิจัยพัฒนา เพื่อตรวจสอบว่าข้าวมีความนุ่ม หอม นิ่ม แค่ไหน โดยใช้นวัตกรรมในการตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้" ภาวิณี กล่าว
ภาวิณี กล่าวต่อไปว่า ครอบครัวที่มีการสืบทอดมาจากพ่อ จะมีความยากเรื่องแนวคิดที่แตกต่างกันคือ เรามองว่าโลกของการซื้อขายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนไป พฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนรุ่นใหม่จะนิยมซื้อสินค้าที่มีแพ็กเกจขนาดเล็ก แต่พ่อมองว่าการซื้อขายจำนวนมากต่อครั้ง แบบที่เคยทำมาตลอดนั้นน่าจะเห็นผลดีกว่า นอกจากนี้ธุรกิจโรงสีมีเรื่องของฝุ่น นก หรือเรื่อง Food Safety ที่ต้องใส่ใจอย่างมาก เราจะลงทุนในส่วนนี้ เพราะเราขายสินค้าให้กับผู้บริโภคนำไปรับประทานโดยตรง เรื่องมาตรฐานจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โรงงานได้รับการรับรองระบบคุณภาพ HACCP & GHPs, BRC, KOSHER, HALAL และทีมตรวจสอบคุณภาพที่ใส่ใจควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต ทำให้ "โตมี" ได้ความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง "มีไอเดีย แต่ขาดตลาดรองรับทำไม่ได้ เนื่องจากเราเริ่มลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อผลิตในกลุ่มสินค้าไมโครเวฟ ข้าวพร้อมรับประทาน (Ready to Eat Rice) สามารถหุงได้โดยไมโครเวฟ เราจึงมีความสามารถในการผลิตสินค้าอื่นเพิ่มขึ้น จึงคิดว่าเมื่อคนหุงข้าวแล้ว ทำอะไรต่อ เราเลยเพิ่ม Product line ต่างๆ เข้ามา ย้อนกลับไปเราทำเรื่องข้าวอนามัย ใส่วิตามินลงไปในข้าวเพื่อเพิ่มคุณค่า ตลาดที่อเมริกานิยมมาก แต่การเพิ่มวิตามินทำให้ข้าวที่ขายในปัจจุบันมีเมล็ดที่มีสีต่างกันตามชนิดที่ใช้ เช่น สีเหลือง ม่วง เขียว โจทย์คือ ทำยังไงให้ข้าวไม่มีสี ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ตามมาตรฐานการรับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา USDA (U.S. Department of Agriculture)"
ภาวิณี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเรามีไอเดียธุรกิจแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องมีออเดอร์เข้ามาด้วย ช่วงโควิดตลาดอย่าง Walmart หรือ Costco มีความต้องการสินค้าสูงมาก บวกกับเรามีความสามารถและมีใจที่จะทำ เชื่อว่าเรามีศักยภาพในการส่งออกได้ ช่วงที่เราทำกลุ่มสินค้าไมโครเวฟไรซ์ แม้จะเป็นสินค้าที่ High Profit แต่ขณะเดียวกันก็ High Risk มีความเสี่ยงต่อความเสียหายสูง เช่นกัน หากเกิดปัญหาต้องทำลายทิ้งอย่างเดียว แต่การทำสินค้าในรูปแบบของข้าวอบแห้งที่เราวิจัยและพัฒนาจะลดความเสี่ยงลงได้ เนื่องจากมีการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารแนวใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้า เช่น ข้าวพร้อมทานบรรจุในรูปแบบรีทอร์ทเพาซ์ ข้าวกึ่งสำเร็จรูปแบบเติมน้ำร้อนรับประทานได้เลย ข้อดีคือ อายุการเก็บรักษานานถึง 2 ปี น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
โตมี ไม่ได้มีดีแค่ข้าวเท่านั้น แต่ด้วยวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกลของทายาทธุรกิจรุ่นใหม่อย่าง "ภาวิณี" จึงใช้สินค้าที่มีอยู่ เพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการพัฒนาสินค้าข้าวใหม่แตกไลน์ผลิตภัณฑ์สู่สินค้าประเภทต่างๆ เช่น เส้นเตี๋ยวอบแห้ง แป้งข้าวเหนียว น้ำมะพร้าว
"ในธุรกิจขายข้าว จะมีข้าวที่เมล็ดหัก เราจะส่งไปให้โรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยวผลิตให้ เมล็ดข้าวเหนียวที่หัก เราจะส่งไปทำแป้งข้าวเหนียว และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำนมมะพร้าว และอีกหลากหลาย สำหรับส่งออกตามสเปกที่เราต้องการ ล่าสุดทำข้าวมะพร้าว (Coconut Jasmine rice) โดยการใส่ทั้งเนื้อและน้ำมะพร้าวลงไปผลิต เพื่อเพิ่มความหอม ส่งออกที่ตลาดอเมริกาได้ผลตอบรับดีมาก เรายังต่อยอดไปอีก อาทิ ข้าวที่รับประทานแล้วอร่อย เรายังต่อยอดไปข้าวที่มีประโยชน์ Functional rice ที่ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา" ภาวิณี กล่าว
ภาวิณี กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางของธุรกิจว่า ตลาดในกลุ่มข้าวสารเป็น Full capacity มีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากที่วางแผนไว้ด้วยสัดส่วน 6 พันล้านบาท น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ส่วนที่ต้องนำไปพัฒนาต่อยอดยังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก จึงมองไปถึง กลุ่มอาหารสัตว์ เพิ่มด้วย เพราะเรามีข้าวกล้องที่มีสารอาหารเหมาะกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว แต่อาจจะนำมาพัฒนาเพิ่ม โดยเติมโปรตีนและพืชทางการเกษตรเข้าไป
รู้จัก บริษัท โตมี อินเตอร์เทรด จำกัด ได้ ที่นี่