'กัญชงไทย' เส้นใยสู่ความยั่งยืน เผยโฉมสู่สายตาชาวโลก ในงาน VIATT ที่เวียดนาม
สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และแบรนด์ Touchable ร่วมแสดงนวัตกรรมการแปรรูปเส้นใยจากพืชกัญชง ในงาน VIATT จัดโดย Messe Frankfurt
สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย หรือ TIHTA ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และแบรนด์ Touchable ร่วมนำผลิตภัณฑ์และวัสดุจากเส้นใยกัญชงไทย นำเสนอในงาน Vietnam International Trade Fair for Apparel, Textiles and Textile Technologies หรือ VIATT ที่ถูกจัดขึ้นโดย Messe Frankfurt ณ Saigon Exhibition and Convention Center (SECC) เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีการเปิดงานไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีการออกบูธกว่า 500 ผู้ประกอบการกว่า 400 แห่งจากอังกฤษ เยอรมนี สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย อินเดีย ปากีสถาน และจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในกรอบเครือข่าย Texpertise ที่เชื่อมโยงผู้คนกว่า 500,000 คนจาก 11 ประเทศทั่วโลกและงานแสดงสินค้าสิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูปกว่า 50 ครั้ง ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจในด้านนี้ สามารถเชื่อมโยงและเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของบริษัทสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูประดับโลก สร้างการเชื่อมโยงตั้งแต่ห่วงโซ่มูลค่าไปจนถึงการผลิตวัตถุดิบและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
TIHTA ในฐานะผู้แทนองค์กรจากประเทศไทย ได้เล็งเห็นแนวโน้มที่ตื่นตัวของผู้ประกอบการด้านเส้นใยใน อุตสาหกรรมกัญชงไทย เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเส้นใยกัญชงเป็นหนึ่งในเส้นใยทางเลือกที่น่าจับตามอง ด้วยคุณสมบัติพิเศษหลายประการ อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนด้วยเทรนด์ นโยบายที่สอดคล้องต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมไปถึงการนำมาเป็นส่วนผสมร่วมกับวัสดุอื่นๆ ที่มีคุณประโยชน์หลากหลายด้าน รวมถึงความแข็งแรง ความยาว และความบางเมื่อนำมาทอ จึงออกมาอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น และแข็งแรง ที่สำคัญยังมีการศึกษาวิจัยเชิงนวัตกรรมด้านสิ่งทอพบว่า เส้นใยกัญชงมีคุณสมบัติ Antibacterial ทั้งนี้หากมีนวัตกรรมการแปรรูปสมัยใหม่เข้ามา อาจจะได้เห็นการต่อยยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงให้มีความโดดเด่นมากขึ้นไปอีก และดูจะเหมาะสมทั้งกับประเทศเมืองหนาวและเมืองร้อนได้อย่างลงตัว ทำให้ได้รับความสนใจจากหลากหลายประเทศที่จะนำเส้นใยทางเลือกนี้ไปพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์และวัสดุอื่นๆ มากมาย
อีกเหตุผลที่หลายแบรนด์ให้ความสนใจเส้นใยกัญชงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็เพราะว่า กัญชง เป็นพืชระยะสั้น ปลูกง่าย ปลูกซ้ำได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพดิน ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ และไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกด้วย ภายใต้คุณสมบัติการปลูกเช่นนี้เอง ที่ทำให้กัญชงถูกรับรู้ว่าเป็นเส้นใยคุณภาพดี ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในยุคที่การไม่ทำร้ายโลกเป็นประเด็นสำคัญทางสังคม เห็นได้ชัดถึงแนวโน้มการขยายตัวของตลาดเส้นใยออร์แกนิก จึงเป็นเรื่องของทางด้านอุปทาน (Supply Side) ที่จะต้องเตรียมการเรื่องการพัฒนาแหล่งต้นน้ำการปลูก นวัตกรรมการแปรรูป เพื่อรองรับอุตสาหกรรม เช่น การเก็บเกี่ยว การแปรรูปวัตถุดิบเบื้องต้น เครื่องมือในการรองรับการผลิตของต้นน้ำต่างๆ เป็นต้น ให้สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ TIHTA ยังได้ร่วมแชร์ข้อมูลอุตสาหกรรมกัญชงไทยภายในช่วงเสวนาให้แก่ผู้ประกอบการทั่วโลก ภายใต้หัวข้อ "Hemp For All, Growing Sustainable Hemp Together" พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์งาน Asia International Hemp Expo & Forum 2024 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์