เผยผลสำรวจ 87.1% คนไทยพร้อมเปย์ค่าสมาชิกดูคอนเทนต์ผ่าน OTT แต่กลับเจอโฆษณาคั่น
บ้านสมเด็จโพลล์ เผยผลสำรวจ 87.1% คนไทยพร้อมเปย์ค่าสมาชิกดูคอนเทนต์ผ่าน OTT แต่ไม่วาย เจอโฆษณาคั่น ทั้งที่เสียเงินดู วอนภาครัฐเร่งกำกับดูแล OTT ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ OTT โดยเก็บกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,114 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 7 - 10 เมษายน 2567 โดยกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจเรื่องการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) คือการให้บริการเนื้อหาสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต การบริการผ่านแพลตฟอร์ม และเป็นแบบ In-App Purchase คือ การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้วมีการจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม หรือที่บอกรับสมาชิกและเรียกเก็บเงินโดยแพลตฟอร์ม
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ OTT เป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจากความสะดวกสบายในการรับฟังและรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านหลากหลายอุปกรณ์ โดยผู้ให้บริการ OTT มีทั้งที่จดทะเบียนบริษัทในไทยที่เสียภาษีให้กับประเทศแบบถูกต้อง และแบบที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทยโดยเงินของคนไทยที่ใช้บริการไหลออกไปยังต่างประเทศ โดยที่ประเทศไทยไม่ได้รับภาษีจากการชำระค่าบริการนั้นๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันพบว่า กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะบริการไอพีทีวี (IPTV) หรือโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับการให้บริการ OTT นั้น ทางกสทช. ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากำกับดูแลโดยเฉพาะ ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ OTT ส่วนใหญ่ คือไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสม การกำหนดราคาที่เหมาะสมกับผู้บริโภค การมี โฆษณาคั่น ในการรับชมผ่าน OTT แม้จะมีการชำระค่าสมาชิกหรือค่ารับชมแล้วก็ตาม เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร รวมถึงความเหลื่อมล้ำจากการถูกกำกับดูแลและการเสียภาษีระหว่างผู้ให้บริการ IPTV และผู้ให้บริการ OTT ทั้งๆ ที่ลักษณะและรูปแบบของการให้บริการมิได้แตกต่างกัน กสทช. ควรหาแนวทางกำกับดูแลกิจการ OTT ให้เป็นธรรมและเหมาะสมเพื่อประชาชน
สำหรับผลการสำรวจต่อเรื่องการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ OTT มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ใช้บริการ OTT ร้อยละ 91.3 มีการใช้บริการแบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 87.1 และมีการใช้บริการ OTT มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม ร้อยละ 90.1 โดยมีการใช้บริการ OTT จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทในประเทศไทย อันดับที่หนึ่งคือ TRUEID ร้อยละ 49 อันดับที่สองคือ AISPLAY ร้อยละ 44.3 อันดับที่สามคือ 3 PLUS ร้อยละ 18 อันดับที่สี่คือ MONOMAX ร้อยละ 13.3 และอันดับที่ห้าคือ Bugaboo inter ร้อยละ 8.4 และมีการใช้บริการ OTT จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทอยู่ในต่างประเทศ อันดับที่หนึ่งคือ Netflix ร้อยละ 67 อันดับที่สองคือ Youtube ร้อยละ 48.7 อันดับที่สามคือ Disney plus Hotstar ร้อยละ 15.3 อันดับที่สี่คือ Viu ร้อยละ 13.3 และอันดับที่ห้าคือ iQIYI ร้อยละ 12.2
ปัจจุบันมีการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ OTT ต่อเดือน เดือนละ 1 - 500 บาท ร้อยละ 75.5 มากที่สุด โดยคิดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ OTT ในปัจจุบันมีความเหมาะสม ร้อยละ 65.8 และคิดว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในการใช้บริการ OTT 1 - 500 บาท ต่อเดือน ร้อยละ 74.7 มากที่สุด
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ใช้บริการ OTT แบบเสียค่าสมาชิก คิดว่าไม่ควรมีโฆษณาคั่นในแพ็กเกจแบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 73.8 และ 1 ใน 4 ของผู้ชม หรือราว 25.6% เคยพบโฆษณาคั่นในแพ็กเกจแบบเสียค่าสมาชิก โดยเหตุผลที่ใช้บริการแพ็กเกจแบบเสียค่าสมาชิก อันดับที่หนึ่งคือ ต้องการรับชมเนื้อหาที่สนใจ ร้อยละ 72.2 อันดับที่สองคือ ไม่ต้องการรับชมโฆษณา ร้อยละ 19.4 อันดับที่สามคือ ต้องการติดตามดาราที่ชื่นชอบ ร้อยละ 6.8
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่า ภาครัฐควรจัดเก็บภาษีของผู้ให้บริการ OTT ร้อยละ 42.3 ภาครัฐไม่ควรมีการกำกับเนื้อหา ร้อยละ 51 ของผู้ให้บริการ OTT และภาครัฐควรมีการกำกับราคาค่าสมาชิกของผู้ให้บริการ OTT ร้อยละ 70.2 โดยอยากให้ทางภาครัฐ มีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการ OTT ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ อันดับที่หนึ่งคือ จ่ายค่าปรับ ร้อยละ 76.4 อันดับที่สองคือ ปิดการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 42.1 อันดับที่สามคือ ยึดใบอนุญาต ร้อยละ 1.9
หากพบเห็นปัญหาในการใช้บริการ OTT จะร้องเรียนไปทางไหน อันดับที่หนึ่งคือ คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการ OTT ร้อยละ 54.4 อันดับที่สองคือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 16 อันดับที่สามคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่คือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.6 และอันดับที่ห้าคือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อยละ 4.7