โครงการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ครบวงจร จ.สุรินทร์ หนุนเกษตรกรใช้ระบบ PGS
โครงการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ต.คำผง อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ หนุนเกษตรกร ใช้ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS เพื่อการผลิตเกษตรมูลค่าสูง
จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมพัฒนาและยกระดับให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีและมีฐานะที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาคุณภาพสินค้าการเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการวางแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ หรือการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าปลอดสารพิษ ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุดในการสร้างสินค้าการเกษตร
"กรมพัฒนาที่ดิน" ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) ที่เป็นระบบการรับรองมาตรฐานที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน และร่วมตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์
ศุกร์ สกุลลักษณ์ หมอดินอาสา ต.คำผง อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ เกษตรกรต้นแบบที่เริ่มเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ในปี 2560 ผู้บุกเบิกด้านการตลาดของข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ที่ผลิตจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ตำบลคำผง เป็นข้าวที่มีความหอม นุ่ม เป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ภายใต้มาตรฐานระบบอินทรีย์ PGS Surin โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ทำน้ำหมัก และปุ๋ยพืชสดและองค์ความรู้การทำน้ำหมัก รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพดินและปรับปรุงบำรุงดิน จากสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ สำหรับการทำ เกษตรอินทรีย์ ที่ดินติดถนนจะต้องขุดร่องน้ำทำเป็นแนวกันชน เพื่อกันน้ำปนเปื้อนสารเคมีเข้าแปลงเกษตร ซึ่งถือเป็นมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ โดยในร่องน้ำได้เลี้ยงปลาและปลูกต้นไม้หลากชนิดบนคันคู และพื้นที่โดยรอบ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายได้อีกด้วย เช่น อ้อย กล้วย กระชาย หญ้าแฝก ตะไคร้ มะพร้าว ขี้เหล็ก ชะอม สะเดา ฝรั่ง มะม่วง มะพร้าว ขนุน มะยงชิด ส้มโอ เป็นต้น
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ตำบลคำผง มีสมาชิกเกษตรกรกลุ่มหลัก 50 ราย และกลุ่มเครือข่าย 30 ราย ได้เข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS และปรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน เกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านองค์ความรู้และเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินค้า ขายสินค้าข้าวอินทรีย์และสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตในตำบลคำผง ทั้งในจังหวัดสุรินทร์และต่างจังหวัด ซึ่งการปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกขายได้ราคาจากเดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ 11-12 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 18 บาทขึ้นไป
จากการที่ได้เข้าร่วมงานกับหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่องและการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดทักษะและมีความเชี่ยวชาญในการทำเกษตรอินทรีย์ "ศุกร์ สกุลลักษณ์" ผู้ที่เปลี่ยนแนวคิดของคนในชุมชนจาก "ทำข้าวอินทรีย์ มีแต่ขาดทุน" เปลี่ยนเป็น "ทำข้าวอินทรีย์ มีกำไรสูง" โดยแรงบันดาลใจในการเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐคือ เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาดี เป็นพี่เลี้ยงจนสามารถนำมาปฏิบัติจริงเกิดผลจนทำให้การดำเนินกิจการของกลุ่มฯ เป็นไปอย่างราบรื่น