ทฤษฎีแห่งความสุข 'สุข...ทายาทหม่อนไหม' โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับเดือนสิงหาคม 2567 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข...ทายาทหม่อนไหม" โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
เป็นระยะเวลากว่า 60 ปีที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริม ตลอดจนเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมไทยโบราณที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย
ความงดงามของเส้นไหมที่เป็นเอกลักษณ์ ลวดลายที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย ผ้าไหม จึงเป็นมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่า ทั้งนี้ เพื่อให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์ "นกยูงไทย" ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) และนกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) และเพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานให้แพร่หลายทั่วโลก กรมหม่อนไหม ได้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จีน นอร์เวย์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อังกฤษ อินเดีย ฮ่องกง และญี่ปุ่น
วันที่ 1 – 4 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "มหัศจรรย์หม่อนไหมภูมิปัญญาผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชัน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสืบสานและให้ความสำคัญกับ ผ้าไหมไทย และเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเปิดงาน "ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นับเป็นมงคลชีวิตที่ธันย่าได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมยกดอกลายธันยลักษณ์ สีฟ้าเทอร์คอยส์ ทอโดยผู้ต้องขังหญิงจากโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และโครงการฝึกวิชาชีพการทอผ้าไหม ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เส้นไหมที่ใช้เป็นเส้นไหมพันธุ์ไทย ผลิตโดยผู้ต้องขังชายจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง ย้อมด้วยเมล็ดปิ้งขาว (คอคอเด๊าะ) จากดอยขุนแตะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ธันย่า ในฐานะทูตอัตลักษณ์ไหมไทย และที่ปรึกษากรมหม่อนไหมของกระทรวงเกษตรฯ ได้พบกับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนหนองม่วงหวาน ตำบลงิ้ว อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา จาก "โครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน" เป็นโครงการที่ กรมหม่อนไหม ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรู้และอาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน มีอาชีพที่มั่นคงหลังจบการศึกษา สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เยาวชนมีความรักและภูมิใจในอาชีพด้าน หม่อนไหม และยังเป็นการเสริมสร้างความรักและความผูกพันในครอบครัว ได้ทำมาหากินมีอาชีพไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงาน และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะและวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบต่อไป และปลื้มใจมากเมื่อได้ฟัง น้องวาววา เด็กชายธันวา ทองชู นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหนองม่วงหวาน หนึ่งในนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมงาน "ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 19 บอกกับธันย่าว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบสานและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทย
ผ้าไทย เป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติ การสร้างสรรค์ผลงานใส่ความเป็นไทยจนเกิดความสวยงามและประณีต ถือเป็นอีกหนึ่งการสนับสนุนสังคม เป็น Soft Heart Smart Power การสื่อสารศิลปวัฒนธรรมอย่างละมุนของไทยที่ทุกคนช่วยส่งเสริมการใช้ ผ้าไหมไทย ให้เป็นที่รู้จักไปสู่ระดับสากล มนต์เสน่ห์แห่งผ้าไทยสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
พบกับ ธันย่า และ ทฤษฎีแห่งความสุข ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนในกรุงเทพธุรกิจฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์