'รัฐบาล' เตรียมพลิกฟื้นประมงไทย ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตชาวประมง
"รัฐบาล" เดินหน้าพลิกฟื้นประมงไทย มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชาวประมง และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชน พร้อมลุยแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
คณะรัฐบาล มีนโยบายในการพลิกฟื้นการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมงของไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศและประชาชนอีกครั้ง ช่วยฟื้นคืนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของ ชาวประมง และอุตสาหกรรมภาคการประมง รวมทั้งสร้าง ความมั่นคงด้านอาหาร ให้แก่ประชาชนในประเทศ รวมไปถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก ภายใต้การบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน พัฒนาและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมประมงให้เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าและขยายตลาดการส่งออกสินค้าประมงของตลาดไทย ผ่าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำสู่ กรมประมง ในการศึกษา วิเคราะห์ และเห็นความจำเป็นที่ต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และชาวประมงผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม
ที่สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการ ทำการประมง โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นในการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ... ประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมใน 24 ประเด็น ใน 35 มาตรา ประกอบด้วย มาตราที่เกี่ยวข้องกับบทนิยาม องค์กรการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงและการติดตามควบคุมและเฝ้าระวังในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย มาตรการอนุรักษ์ บทกำหนดโทษ การกำหนดค่าธรรมเนียม และการแก้ไขเพิ่มเติมเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการประมง และการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทย
โดยปัจจุบัน (ร่าง) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ... ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายมาตราของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. ... ยังต้องผ่านการอภิปรายเป็นรายมาตรากันอย่างละเอียดถี่ถ้วนในสภาฯ จนกว่าจะได้ข้อสรุป โดยคณะกรรมาธิการฯ คาดว่าจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ให้แล้วเสร็จอย่างน้อยภายใน 6 เดือน
อย่างไรก็ดี นอกจากกฎหมายแล้ว ปัญหารองที่รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอดก็คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกับไทย ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวมทั้งเวียดนาม ซึ่งจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยภาพรวมของกระทรวงแรงงานยังไม่มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมงเป็นการเฉพาะ โดยแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงจัดอยู่ในกลุ่มการทํางานหนักประเภท 3D คือ งานสกปรก (dirty job) งานอันตราย (dangerous job) และงานยาก (demanding หรือ difficult job) จึงต้องได้รับการคุ้มครองด้านความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานบนเรือประมง
ดังนั้น กรมประมง ซึ่งมีภารกิจในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการทำประมง จึงได้มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคประมงเป็นการเฉพาะ อาศัยอำนาจตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้แรงงานที่จะทำงานบนเรือประมงจะต้องมีหนังสือคนประจำเรือ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการประมง เช่น การทำสัญญาจ้าง บัตรประกันสุขภาพ และการจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคาร เป็นต้น ส่งผลให้แรงงานที่ทำงานบนเรือประมงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจในการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวว่า แรงงานที่มาทำงานในภาค ประมงไทย ได้รับการคุ้มครองมีสวัสดิภาพสวัสดิการต่างๆ เหมือนแรงงานทั่วไป และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ