เปิดข้อมูลตลาดและรูปแบบการซื้อขาย 'LNG' โลก

เปิดข้อมูลตลาดและรูปแบบการซื้อขาย 'LNG' โลก

LNG เป็นหนึ่งในพลังงานสำคัญของคนไทย เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ต้องศึกษาข้อมูลตลาด และรูปแบบการซื้อขายด้วย จะมีปัจจัยสำคัญด้านไหนบ้าง ตามอ่านได้ที่บทความนี้

"LNG" เป็นก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของเหลว เพื่อประโยชน์ในการขนส่ง ทั้งนี้ LNG ถือเป็นหนึ่งในพลังงานสำคัญของคนไทย โดยเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาด้านอุปทานของตลาดน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติของโลก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้ความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น จึงทำให้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีราคาสูงขึ้น ความผันผวนของราคาซื้อขาย LNG ในตลาดโลก จึงมีผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เปิดข้อมูลตลาดและรูปแบบการซื้อขาย \'LNG\' โลก

ทั้งนี้ ตลาดซื้อขายที่มีปริมาณการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคที่มีปริมาณมาก จึงถือเป็นตลาดสำคัญที่ถูกใช้ในการอ้างอิงราคา ในปัจจุบันราคาซื้อขาย LNG จะมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค และยังมีโครงสร้างราคาที่ต่างกันด้วย โดยสามารถแบ่งราคาตลาดอ้างอิงออกเป็น 3 ภูมิภาค ได้แก่

  1. ฝั่งอเมริกาเหนือ จะใช้ Henry Hub (HH) เป็นจุดซื้อขายก๊าซผ่านทางระบบท่อก๊าซฯ ที่เป็นราคาเนื้อก๊าซที่ส่งผ่านตามท่อ แต่ยังไม่ได้รวมค่าเปลี่ยนสถานะก๊าซเป็นของเหลวและค่าขนส่ง
  2. ฝั่งยุโรป จะแบ่งเป็น 2 ตลาด ได้แก่ National Balancing Point (NBP) เป็นราคาเนื้อก๊าซฯ ที่ส่งผ่านตามท่อก๊าซฯ ในสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่ได้รวมค่าเปลี่ยนสถานะก๊าซเป็นของเหลวและค่าขนส่ง และ Title Transfer Facility (TTF) เป็นราคาซื้อขายก๊าซในเนเธอร์แลนด์
  3. ฝั่งเอเชีย ประกอบด้วย Japanese Crude Cocktail (JCC) เป็นราคาอ้างอิงนำเข้าน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่นในแต่ละเดือนที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ของญี่ปุ่น นำมาใช้อ้างอิงในการทำสัญญาซื้อ-ขาย LNG รูปแบบ Term ในขณะที่ Japan / Korean Marker (JKM) เป็นราคาซื้อ-ขาย Spot LNG ในภูมิภาค Northeast Asia ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน 

เปิดข้อมูลตลาดและรูปแบบการซื้อขาย \'LNG\' โลก

สำหรับรูปแบบการซื้อขาย LNG แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. Term Contract (สัญญาระยะยาว) คือ การทำสัญญาซื้อขายที่มีการกำหนดราคา รอบการส่งมอบสินค้าที่ต่อเนื่อง และกำหนดกรอบระยะสิ้นสุดสัญญาที่แน่นอน โดยราคาที่ซื้อ-ขายจะคำนวณตามสูตรราคาอ้างอิงกับดัชนีราคาน้ำมันหรือราคาก๊าซฯ ตามข้อตกลงในสัญญา ดังนั้น สัญญา Term Contract จึงมีความแน่นอนสูงในการได้รับก๊าซธรรมชาติตามปริมาณและราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา
  2. Spot LNG (ราคาตลาดจร) คือ การซื้อ-ขาย LNG ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือหรือรายครั้ง โดยราคาซื้อขายจะอ้างอิงกับราคา LNG ในตลาดตามช่วงเวลานั้นๆ ผู้ที่ได้รับการอนุญาตนำเข้าก๊าซฯ ส่วนมากจะใช้วิธีการซื้อ-ขาย Spot LNG เพื่อบริหารจัดการความผันผวนราคาในระยะสั้น ดังนั้น สัญญา Spot จะมีข้อได้เปรียบในการซื้อขายที่ราคาตลาดช่วงราคาลง แต่หากช่วงที่ก๊าซธรรมชาติขาดแคลนผู้ซื้ออาจจะไม่ได้สินค้าตามที่ต้องการ 

ทั้งนี้ แนวโน้มการซื้อ-ขาย LNG จะเป็นรูปแบบ Term Contract มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มราคา LNG Spot มีราคาสูงขึ้นและมีความผันผวนสูง และแนวโน้มการทำสัญญาแบบ Term สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงการ LNG Liquefaction ใหม่ๆ มากขึ้น เพราะผู้ขายสามารถประเมินความต้องการได้ล่วงหน้าได้ นอกจากนี้ การทำสัญญาซื้อ-ขาย ที่ไม่ระบุจุดหมายปลายทาง หรือการซื้อเข้ามาบริหารใน Portfolio มีสัดส่วนมากขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อ LNG ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นของการซื้อขายแลกเปลี่ยน LNG ในอนาคต

เปิดข้อมูลตลาดและรูปแบบการซื้อขาย \'LNG\' โลก

ดังนั้น การกำหนดรูปแบบการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ จึงถือเป็นความท้าทายที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างราคา และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เนื่องจากประเทศไทย ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันก๊าซธรรมชาติก็มีความผันผวนของราคาซึ่งเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยที่ยากในการคาดการณ์