#MeToo เราล้วนเคยถูกล่วงละเมิด

#MeToo เราล้วนเคยถูกล่วงละเมิด

จุดประกายชวนย้อนรอยที่มาของรางวัลบุคคลแห่งปีโดยนิตยสาร TIME ซึ่งยกให้ "หญิงผู้กล้า" ที่ออกมาประกาศให้โลกรู้ว่า พวกเธอถูกละเมิดทางเพศ

เมื่อนิตยสาร TIME ยกย่องให้เหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศในหลากหลายอาชีพเป็นบุคคลแห่งปีประจำปี 2017 พร้อมข้อความ The Silence Breakers : The Voices That Launch a Movement หรือ ผู้ทำลายความเงียบ : เสียงที่กระตุ้นการเคลื่อนไหว 

ทางนิตยสาร TIME ได้ขยายความเบื้องหลังการคัดเลือกในครั้งนี้ว่า นี่คือปัญหาที่ถูกสั่งสมมานาน หลายทศวรรษ และหลายศตวรรษ กลุ่มคนที่เปิดเผยเรื่องนี้ได้จุดกระแสปฏิวัติในการปฏิเสธพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ และมีพลังเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในเวลาสองเดือนก็ทำให้มีกระแสความโกรธเคืองและผลลัพธ์อย่างน่าตกใจและทันทีแทบทุกวัน ซีอีโอหลายคนถูกไล่ออก คนดังต้องเสียชื่อเสียง และบางรายถูกตั้งข้อหาคดีอาญา

นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วยคำเพียงแค่ 2 คำ ว่า “Me Too”

 

โครงการ Me Too ได้กลายเป็นกระแสไวรัลขึ้นเมื่อ อลิสสา มิลาโน นักแสดงหญิงชาวอเมริกันวัย 45 ปี ได้ทวีตเรื่องนี้แล้วมีคนนับล้านในหลายสิบประเทศทั่วโลกแชร์กันต่อ ๆ ไปจนกลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมา โดย ทวิตเตอร์ ได้ให้ข้อมูลกับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเอาไว้ว่า มีการทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็ก #MeToo กว่า 1.7 ล้านข้อความ และมี 85 ประเทศทั่วโลกที่มีการทวีตแฮชแท็กนี้อย่างน้อย 1,000 ข้อความ

ไม่ใช่แค่ทางทวิตเตอร์เท่านั้น เฟซบุคเองก็เผยสถิติว่ามีการโพสต์ คอมเมนต์ และรีแอคชั่นเกี่ยวกับเรื่อง Me Too นี้กว่า 12 ล้านโพสต์ ภายในเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมง โดยผู้ใช้ 4.7 ล้านคนทั่วโลก นี่ยังไม่นับรวมทางอินสตราแกรมที่แคมเปญนี้ก็กลายเป็นกระแสเช่นกัน

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ… ฉันเองก็เคยถูกล่วงละเมิด

วันที่ 15 ตุลาคม 2560 อลิสสา มิลาโน ช่วยทำให้แฮชแท็ก #MeToo กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเธอทวีตว่า “หากคุณเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศให้เขียนคำว่า “me too” เพื่อตอบรับทวิตนี้” ซึ่งก็ปรากฎว่าคนนับล้านต่างตอบรับคำขอของเธอ รวมไปถึงเซเล็บอย่าง เลดี้ กาก้า, อเมริกา เฟอร์เรรา, โรส แมคโกวาน, อีแวน ราเชล วูด, เกเบรียล ยูเนียน และอื่น ๆ อีกมากมาย

อลิสสา ซึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมานับครั้งไม่ถ้วน ได้ให้สัมภาษณ์รายการ Good Morning America เอาไว้ว่า การติดแฮชแท็ก #MeToo เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นทุกหนแห่ง ไม่ใช่เฉพาะในฮอลลีวู้ด แล้วก็ไม่ได้เกิดกับนักแสดงหญิงเท่านั้น อีกอย่าง การทำแบบนี้น่าจะทำให้คนรับรู้ถึงความใหญ่โตของปัญหานี้ด้วยว่ามีผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อมากมายแค่ไหน

มันคือวลีที่ผู้รอดชีวิตใช้กับผู้รอดชีวิตด้วยกันเพื่อให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้อยู่เดียวดาย

อันที่จริงแล้ว แคมเปญ #MeToo นี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน โดยนักเคลื่อนไหวสตรีผิวดำชื่อ ทารานา เบิร์ค ซึ่งผุดความคิดนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 2007 เมื่อเธอได้บอกกับหญิงผิวสีรายหนึ่งที่รอดชีวิตจากการทำร้ายทางเพศมาได้ว่าไม่ได้อยู่ตามลำพัง แต่ยังมีเพื่อน ซึ่งก็คือทารานา ที่เคยถูกล่วงละเมิดด้วยเช่นกัน

“มันไม่ใช่แคมเปญที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไวรัล หรือเป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นมาวันนี้แล้วถูกหลงลืมไปในวันพรุ่งนี้ แต่มันคือวลีที่ผู้รอดชีวิตใช้กับผู้รอดชีวิตด้วยกันเพื่อให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้อยู่เดียวดาย และเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้น” เบิร์ค กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการ #MeToo

ด้านมืดของฮอลลีวู้ดถูกเปิดโปง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้แฮชแท็ก #MeToo กลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็วก็เพราะว่าเกิดการเปิดโปงคดีล่วงละเมิดทางเพศครั้งร้ายแรงในฮอลลีวู้ดขึ้นพอดี เมื่อนักแสดงหญิงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แองเจลีนา โจลี่, กวินเนธ พัลโทรว, แอน แฮธอเวย์, เคท เบ็คคินเซล, คารา เดเลอวีน, แอชลีย์ จัดด์, ลูปิตา นยองโง, แดริล ฮันนาห์, อีวา กรีน ฯลฯ กล้าตบเท้าออกมาประกาศตัวว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจาก ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ผู้บริหารที่ทรงอิทธิพลยิ่งของวงการ

เคสของไวน์สไตน์ทำให้การล่วงละเมิดทางเพศถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และมีคนดัง ตลอดจนผู้บริหารทั้งในฮอลลีวู้ด และอุตสาหกรรมอื่น ถูกขุดคุยว่ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศกันหลายคน อาทิ บิล โอเรียลลี นักข่าวและพิธีกรรายการทีวีชื่อดังของสหรัฐ รอย ไพรซ์ ผู้บริหาร Amazon Studios และผู้กำกับ เจมส์ โทแบ็ค

แต่คดีล่าสุดที่กำลังเป็นที่ฮือฮากันเป็นอย่างมากก็คือเรื่องที่ เควิน สเปย์ซีย์ และ ดัสติน ฮอฟแมน นักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือซึ่งได้รับความนับถือเป็นอย่างมากในวงการ ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ โดยในเคสของเควินนั้นถูก แอนโทนี แรพพ์ นักแสดงซีรีส์เรื่อง Star Trek Discovery กล่าวหาว่าพยายามปลุกปล้ำเขาตอนอายุ 14 ส่วนดัสตินนั้นถูกนักเขียนชื่อ แอนนา เกรแฮม กล่าวหาว่าจับก้นเธอในกองถ่ายละครเรื่อง Death of a Salesman แถมยังพูดเรื่องเซ็กส์ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมตอนที่เธอยังเป็นเด็กฝึกงานอายุ 17 ปี

 เรื่องเล่าจากเหยื่อถึงเหยื่อ

แล้วการออกมาเปิดเผยว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมันดีหรือไม่ดีกันแน่?

คำถามนี้คงต้องให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อตอบ เพราะคงจะไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ดีไปกว่าผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์แบบเดียวกันมาแล้ว

ถ้าเช่นนั้นเรามาฟังความคิดเห็นของผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ให้ผู้อื่นกันดีกว่า

อเมริกา เฟอร์เรรา : ถูกล่วงละเมิดทางเพศครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ เธอบอกว่า “ฉันต้องเห็นหน้าชายคนนี้ทุกวันเป็นเวลาหลายปี เขาจะยิ้มแล้วโบกมือให้ ส่วนฉันก็จะรีบเดินผ่านไป เลือดในกายฉันเย็นเฉียบ เขาหวังจะให้ฉันปิดปากเงียบแล้วยิ้มกลับไป” นั่นเป็นสาเหตุที่เธอเรียกร้องให้ผู้หญิงยอมเปิดปากพูดเรื่องนี้ออกมา

อีแวน ราเชล วู้ด : เปิดประเด็นได้น่าสนใจว่า เธอไม่เคยคิดว่ามันเป็นการข่มขืน หากถูกกระทำโดยคู่รัก ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วมันใช่ นอกจากนี้เธอยังมองว่า “การถูกข่มขืนครั้งหนึ่งทำให้ง่ายขึ้นที่จะถูกข่มขืนอีกครั้ง” อีแวน ยังพูดแทนความรู้สึกของเหยื่ออีกหลายคนที่ไม่ยอมเปิดเผยเรื่องราวเอาไว้ว่า “เพราะฉันอาย และคิดว่าตัวเองเป็น “ปาร์ตี้เกิร์ล” จึงสมควรที่จะถูกข่มขืนแล้ว ฉันไม่ควรไปที่นั่น ฉันไม่ควรทำตัวเลว”

เกเบรียล ยูเนียน : นักแสดงสาวรายนี้บอกว่าถูกข่มขืนที่ร้านขายรองเท้า Payless ตอนที่สวมเสื้อทูนิคตัวยาว และเลกกิ้ง เรื่องนี้ทำให้เธอขอร้องผู้คนว่าอย่าพากันโทษเหยื่อว่าถูกข่มขืนเพราะชุดที่ใส่ เพราะมันไม่เกี่ยว

เบค ไลฟ์ลีย์ : ประสบการณ์ของเบลคก็น่าสนใจตรงที่บางคนอาจมองว่าสิ่งที่เธอเจอนั้นเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้วมันถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน โดยเบลคเล่าว่าเธอเคยถูกเมคอัพอาร์ติสล่วงละเมิด เขาพูดบางอย่างที่ไม่เหมาะสม แล้วก็ยืนกรานที่จะใช้นิ้วของตัวเองทาลิปสติกให้เธอแทนที่จะใช้แปรง แล้วมีอยู่คืนหนึ่งเธอกำลังหลับอยู่ในกองถ่ายแล้วตื่นขึ้นพบว่าผู้ชายคนนั้นกำลังถ่ายคลิปเธออยู่ ซึ่งเธอต้องขู่ว่าจะฟ้องร้องเขาถึงยอมลบคลิปไป

ลอรา เดิร์น : ลอราเพิ่งจะมารู้เอาเมื่อเร็ว ๆ นี้ (เพราะแม่ของเธอบอก) ว่าสิ่งที่เธอเจอตอนอายุ 14 เรียกว่าการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งน่าจะมีหลายคนที่เป็นแบบเดียวกับเธอ

เทอร์รี ครูว์ส : แม้แต่นักแสดงผิวสีร่างบึ้กอย่างเทอร์รีก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เขาบอกว่าถูกผู้บริหารระดับสูงของฮอลลีวู้ดลูบคลำอวัยวะเพศในงาน แต่ปล่อยมันไปเพราะกลัวว่าจะถูกแก้แค้น

แม้ว่าแคมเปญ #MeToo จะยังไม่แพร่หลายมาถึงบ้านเรา ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากประเทศแถบซีกโลกตะวันตก แต่อย่างน้อยก็อยากให้บทความชิ้นนี้ส่งไปถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศทั้งจากคนใกล้ตัว หรือคนแปลกหน้าว่า..

พวกคุณไม่ได้อยู่เพียงลำพังในโลก แต่ยังมีผู้ร่วมชะตากรรมอีกมากที่พร้อมจะยื่นมือมารับฟัง และผู้ที่สมควรจะอายไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ แต่เป็นผู้กระทำต่างหาก