เยือนพม่าของเจ้ายอดศึก สันติภาพในปากเสือ
เปิดใจสัมภาษณ์ผู้นำ Shan State Army กับภารกิจเพื่อสันติภาพ หลังการเยือนกรุงเนปิดอว์ แม้จะมีความหวัง แต่ระยะทางกว่าจะถึงวันนั้นยังดูยาวไกล
นับเป็นเวลา 66 ปีมาแล้ว ที่เราคุ้นตากับภาพเขียนบันทึกประวัติศาสตร์การร่วมลงนามในสัญญาปางหลวงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 ระหว่างฝ่ายพม่าคือนายพลอองซานในชุดสากล กับฝ่ายไทใหญ่คือเจ้าส่วยแต้ก เจ้าฟ้าเมืองยองห้วยและเจ้าจ๋ามทูน เจ้าฟ้าเมืองป๋อน ในเครื่องแต่งกายแบบชายไทใหญ่โบราณ
วันลงนามครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นอีกหลายเงื่อนไข ในการกำหนดชะตากรรมของสหภาพพม่ามาจนปัจจุบัน คือเป็นทั้งหนทางที่จะหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ, เป็นการร่วมแรงร่วมใจระหว่างพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ในการก่อตั้งสหภาพพม่า, แต่ที่สำคัญยิ่งนั้น-นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเมืองอันยืดเยื้อยาวนานของแผ่นดินพม่า เปลี่ยนแปลงทุกชีวิตจำนวนหลายสิบล้านคนในสหภาพพม่า ให้วิบัติพินาศ ก่อให้เกิดการสู้รบรุนแรงระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะกับชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่จับอาวุธลุกฮือขึ้นสู้อย่างไม่เคยจำนน เพราะเหตุจากสัญญาปางหลวงที่ทางรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าคว่ำกระดาน ฉีกทิ้ง ไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าว่า เมื่อครบสิบปีในปีพ.ศ. 2501 รัฐฉานมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะแยกตัวเป็นอิสระออกจากสหภาพพม่า ก่อตั้งประเทศของตนเป็นเอกราชได้
หลายสิบปีภายหลัง นับจากทุกฝ่ายต่างบอบช้ำสะบักสะบอมกับสงครามรุนแรงและปัญหาการเมืองอันยาวนาน ภาพประวัติศาสตร์การลงนามในข้อตกลงระหว่างรัฐบาลพม่าและทางไทใหญ่ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเต็งเส่งได้เดินหน้าพยายามเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อหาทางออกให้เกิดความปรองดองและสงบศานติภายในประเทศ โดยเริ่มมีการลงนามหยุดยิงเบื้องต้นระหว่างรัฐบาลพลเอกเต็งเส่งกับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2554
หลังจากนั้นเพียง 5 เดือนในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ก็ได้มีการเจรจาระดับสหภาพครั้งที่ 2 ระหว่างรัฐบาลเต็งเส่งกับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ที่เมืองเชียงตุง อันทำให้ชาวโลกได้เห็นความเคลื่อนไหวครั้งนั้นอย่างครึกโครม ทั้งจากทางสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ปรากฏเป็นภาพของเจ้าหน้าที่พลเรือนพม่าในชุดสากลและทหารพม่าหลายคนในเครื่องแบบเต็มยศ แสดง “อำนาจ” ของทหารอย่างเต็มที่ (อันบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายทหารยังมีอิทธิพลอย่างหนักหนาสาหัสอยู่ในรัฐบาลพลเอกเต็งเส่ง) นั่งโต๊ะเจรจาอยู่หลายชั่วโมงกับพลโทเจ้ายอดศึกและนายทหาร กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ที่แม้ส่วนใหญ่พวกเขาจะเป็นนายทหาร SSAที่ผ่านสนามรบและชีวิตนักรบมาอย่างโชกโชน แต่เมื่อต้องขึ้นโต๊ะเจรจากับฝ่ายพม่า พวกเขาต่างไม่อยู่ในเครื่องแบบทหาร แต่กลับเลือกแต่งกายด้วยชุดประจำชาติสีน้ำตาลอ่อนของชายไทใหญ่ ที่ชายชาวนาชาวสวนไทใหญ่ต่างใส่เสื้อผ้าเช่นนี้ ทั้งในชีวิตประจำวันและงานประเพณีต่างๆ มาแต่โบราณ
นับเป็นการประกาศ “อัตลักษณ์” แสดงถึงความมั่นคงของวัฒนธรรมไทใหญ่อย่างเข้มแข็ง ประกาศความเป็นชาติพันธุ์ไทใหญ่ ของประชาชนไทใหญ่รากหญ้า ซึ่งทหาร SSA แท้จริงพวกเขาต่างล้วนคือ กบฏชาวนา ที่ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับอำนาจทางทหารและความรุนแรงของฝ่ายพม่ามาอย่างไม่ยอมจำนน เพียงเครื่องแต่งกายของฝ่ายพม่าและไทใหญ่ที่ขึ้นโต๊ะเจรจาอันเปิดเผยสู่สายตาชาวโลก ยังสามารถสะท้อนถึงสภาพการเมืองในพม่าอย่างแจ่มชัด แสดงภาพประวัติศาสตร์ความเป็นมาทางการเมืองและการกำหนดอนาคตของแผ่นดินรัฐฉานในวันข้างหน้า ที่มาบัดนี้-หลายสิบปีหลังระบบเจ้าฟ้าไทใหญ่ล่มสลาย กลุ่มกบฏชาวนา “สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS)” ก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์อันทารุณมามากพอที่จะ “รับมือ” กับความความปลิ้นปล้อนของพม่าที่กระทำกับไทใหญ่มาตลอดอย่างแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง
หลังลงนามตกลงหยุดยิงกับพม่ามา 1 ปีครึ่ง ถึงวันนี้กองทัพรัฐฉานกับกองทัพพม่าก็ยังปะทะกันอยู่ถึง 90 กว่าครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่าช่วงก่อนเซ็นสัญญา แต่ทุกครั้งก็อยู่ในสภาพที่พลโทเจ้ายอดศึกกล่าวว่า “พม่ามายิงเราก่อน” หรือบางครั้งก็เป็นการลาดตระเวนเจอกัน จนแม้กระทั่งช่วงที่พลโทเจ้ายอดศึกไปพบกับพลเอกเต็งเส่งครั้งล่าสุดนี้ ก็ยังมีการปะทะกันอยู่ระหว่างทหารพม่าและทหาร SSA ในหลายพื้นที่
การพบปะเยี่ยมเยือนกันระหว่างพลโทเจ้ายอดศึกและพลเอกเต็งเส่งในช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมานี้ แม้จะเป็นการเจรจานอกรอบ แต่ก็ถือเป็นข่าวสำคัญที่ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร และสื่อออนไลน์ในพม่าติดต่อกันอยู่ร่วม 2 อาทิตย์ และยังปรากฏในเมืองไทย อีกทั้งเผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างครึกโครม ในเรื่องการเดินทางบุกถ้ำเสือของพลโทเจ้ายอดศึก เจาะเข้าไปกลางกรุงเนปีดอว์และเมืองย่างกุ้งชนิดไม่มียั่น เพื่อพบปะเจรจากับพลเอกเต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า, นางอองซานซูจี, และตัวแทนคณะทูตประเทศต่างๆ หลังจากนั้นพลโทเจ้ายอดศึกก็ได้เดินทางเข้าไปยังเมืองตองจี มัณฑะเลย์ จ๊อกเม ปางโหลง เพื่อพบปะพรรคการเมืองไทใหญ่,องค์กรภาคประชาชน และประชาชนในรัฐฉาน
แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2556 เมื่อพลโทเจ้ายอดศึกเข้าพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ภาพของผู้นำกองทัพไทใหญ่ที่ได้มอบของขวัญของฝากอันมีค่ายิ่งแด่ผู้นำการเมืองพม่า ด้วยการสวมเสื้อไทใหญ่ให้กับประธานาธิบดีพม่า ดูจะบอกเล่าเรื่องราวลึกๆ ได้หลายอย่าง การพบปะครั้งนี้ แม้ทั้งพลโทเจ้ายอดศึกและพลเอกเต็งเส่ง จะเป็นนายทหารระดับสูงที่ผ่านสนามรบในรัฐฉานมาอย่างโชกโชน แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้สวม “เครื่องแบบทหาร” มาคุยกันอีกแล้ว หากต่างฝ่ายต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยอมรับกันและกัน ผ่านสัญลักษณ์เสื้อผ้าชุดประจำชาติชายชาวสวนชาวนาไทใหญ่ที่เจ้ายอดศึกสวมให้ประธานาธิบดีเต็งเส่งอย่างแจ่มชัด
ในการพบกันอย่างเป็นทางการที่ห้องรับรองกลางกรุงเนปิดอว์ พลโทเจ้ายอดศึกได้พูดเสนอพลเอกเต็งเส่งเกี่ยวกับ การปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นสหพันธรัฐที่แท้จริง (Federal), ให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง, การปกครองบ้านเมืองโดยระบอบประชาธิปไตย, การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการสู้รบที่ยังเกิดขึ้น หลังจากที่มีการเจรจาหยุดยิงกันแล้ว,และที่เคยมีมติข้อตกลงในการประชุมที่เชียงตุงครั้งก่อนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการดูแลเรื่องสันติภาพนั้น ขอให้รีบดำเนินการจัดตั้งโดยเร็ว, เรื่องที่ดินที่ได้ยื่นขอไว้เพื่อใช้ในการเกษตรและเศรษฐกิจนั้น ให้ช่วยดำเนินการพิจารณาให้, ความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด ตามที่ได้ตกลงกันในการประชุมที่เชียงตุง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 อยากให้รีบดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น พลโทเจ้ายอดศึกและคณะก็ได้เข้าพบปะคณะรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ โดยมี นาย อูอ่องมิน รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดีของพม่าตัวแทนเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย และนาย อูโจเต็ง เป็นหัวหน้าคณะในการพูดคุย โดยได้พิจารณาเกี่ยวกับคำชี้แนะของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่ได้พบปะพูดคุยกันในตอนช่วงเช้า ถึงสิ่งที่จะต้องแก้ไขและสิ่งที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับข้อเสนอของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานที่ได้ยื่นเสนอไปทั้ง 7 ข้อ โดยทางฝ่ายรัฐบาลพม่าได้ตอบชี้แจงมาดังนี้
เกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำบัตรประชาชนแก่ประชาชนนั้น ให้ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานรวบรวมบัญชีรายชื่อยื่นให้แก่รัฐมนตรี อูขิ่นหยี่ ซึ่งรับหน้าที่ดำเนินการจัดทำต่อไป, เกี่ยวกับที่ดินที่จะใช้ในการเพาะปลูกเพื่อการเกษตร จำนวน 5,000 เอเคอร์ ที่ได้ยื่นขอไว้และให้ได้คำตอบกลับไปทันทีนั้น จะตอบให้ที่ตองยี, สำหรับการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดูแลเรื่องสันติภาพนั้น ให้รีบดำเนินการโดยเร็ว
และในบ่ายวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2556 พลโทเจ้ายอดศึกกับคณะก็ได้เข้าพบปะนางอองซานซูจี โดยได้ตั้งคำถามกับนาง ซูจี 3 ข้อคือ จะร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในการพัฒนาบ้านเมืองต่อไปอย่างไร?, จะพัฒนาอย่างไร ให้ระบอบประชาธิปไตยมีความก้าวหน้า?, ในการจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนั้น จะต้องเริ่มจากจุดไหนเป็นอันดับแรก
ทางนางออง ซาน ซูจี ได้ให้คำตอบกับเจ้ายอดศึกว่า “การที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองบ้านเมืองนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวผู้นำที่มีอำนาจ ซึ่งหากมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงนั้นก็ชั่วครู่เดียว และในส่วนที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปได้นั้น จะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนจนถึงผู้ใหญ่ให้เข้าใจ ถึงจะพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ และเห็นด้วยที่ทาง RCSS/SSA ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งในเรื่องนี้ได้พูดมาเป็นเวลา 5 ปีกว่าแล้ว เกี่ยวกับความร่วมมือกันนั้น ให้ได้มีการติดต่อประสานกันต่อไป”
สำหรับการเดินทางเยือนพม่าของพลโทเจ้ายอดศึกกับคณะซึ่งมีอยู่ 23 คน ครั้งนี้ดูจะพิเศษกว่าการทำงานทางการเมืองครั้งอื่นๆ ของเจ้า เพราะได้มีภรรยาของเจ้ายอดศึก เข้าร่วมในการเจรจาที่สำคัญอยู่หลายครั้งทั้งการพบกับอูอ่องมิน นางอองซานซูจี และพรรคการเมืองไทใหญ่กลุ่มต่างๆ จึงชวนให้ตั้งคำถามว่า การเดินทางเข้าปากเสือไปเจรจากับผู้นำฝ่ายรัฐบาลผู้นำฝ่ายค้านของพม่า และกลุ่มการเมืองในรัฐฉานครั้งนี้ พลโทเจ้ายอดศึกคาดหวังอะไร? และประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเยือนพม่านี้อย่างไร?
พลโทเจ้ายอดศึกได้ตอบคำถามสดตรงจากฐานที่มั่นชายแดนไทย-พม่า ดังต่อไปนี้
นึกยังไงถึงบุกถ้ำเสือ เจ้าต้องการอะไร หรือแสดงให้เห็นอะไร
อยากได้ลูกเสือก็ต้องกล้าเข้าถ้ำเสือ อยู่นอกถ้ำเรียกร้องอยู่เรื่อยๆ ทำได้แค่ให้เสือตกใจอย่างเดียว ผมรู้อยู่ว่าเข้าถ้ำเสืออันตราย เพียงแต่ว่าเราต้องรู้เรื่องเสือก่อน ผมเชื่อมั่นว่าถึงผมจะอยู่ในปากเสือ เสือก็ไม่กัดเพราะผมไปเรื่องสันติภาพของทั้งประเทศ ไม่ได้ไปสร้างศัตรู ลูกเสือที่ผมจะไปเอาก็คือสันติภาพ ผมไม่ได้ฆ่าเสือ ผมเพียงไปเอาลูกเสือมาดูแลให้สะดวกสบาย
การพบกับประธานาธิบดีเต็งเส่งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของเจ้าหรือไม่ เพราะได้ทราบมาว่า ช่วงยังเป็นทหาร พลเอกเต็งเส่งเคยมาเป็นแม่ทัพภาคเชียงตุง รัฐฉาน สมัยนั้นเคยต้องรบกันไหม
ที่ผมไปพบประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นหนแรก เพราะเต็งเส่งก็เพิ่งเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก การที่เราเคยรบกันมา แล้วได้มาเจอกันในเวทีเจรจานั้นน่าสนุกดี ถ้าความคิดตรงกันก็สนิทกันมากขึ้น ถ้าความคิดไม่ตรงกันก็โกรธกันมากขึ้น เพราะเราเคยรบกันทางทหาร เราก็เปลี่ยนความคิดว่ามารบกันทางการเมือง การรบกันทางการเมืองนี้ต้องเอาความคิดเป็นหลัก ไม่ใช่อารมณ์เป็นหลัก เรื่องเคยรบกันในวันวานต้องลืมไป แต่ที่ไม่ลืม-ลืมไม่ได้ คือจุดมุ่งหมายของเรา
การเคยพบกันในสนามรบ แล้วต้องมาพบกันในสนามการทูตการเจรจา แบบไหนที่เจ้ารับมือง่ายกว่ากัน
ผมว่าการทูตการเจรจานี้จะง่ายกว่า เพราะมันต้องสื่อทั้งท่าที สายตา และความคิดไปพร้อมกัน ได้เห็นได้รู้ชัดๆ อย่างนี้ไม่ยาก การไม่ได้เห็นนั้นแหละจะยาก เพราะเราเคยรบกันมา เคยได้ยินชื่อเสียงกันมา พอมาเห็นด้วยสายตา มาสัมผัสด้วยความคิดมันง่ายกว่า เมื่อมาเห็นหน้ากัน เรื่องเก่าๆที่เคยปะทะกันมาก็ต้องลืมกันไป เพราะอันนั้นเป็นอดีตไปแล้ว เพียงแต่ว่าจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ของเราเราลืมไม่ได้ ถ้าเรายังไม่สำเร็จตามจุดมุ่งหมายของเรา มันก็ต้องสู้กันทางการเมือง แก้ปัญหาทางการเมืองต่อไป
ได้เห็นที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งตอบเจ้าในการเจรจาครั้งนี้ว่า เรื่องเกี่ยวกับการสู้รบและสันติภาพนั้น ทางรัฐบาลพม่าได้มีคำสั่งถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองทัพว่า จะต้องสร้างสันติภาพในรัฐฉานให้ได้โดยเร็ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่า ไม่มีข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพจะต้องรับผิดชอบกระทำการตามคำสั่งของประธานาธิบดี และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ยังกำหนดไว้ด้วยว่า กองทัพกับบุคลากรของกองทัพไม่จำเป็นต้องขึ้นกับระบบยุติธรรมของพลเรือน ถ้ากองทัพพม่ายังมีอิสระที่จะกระทำการนอกเหนือคำสั่งของรัฐบาลพลเรือนเช่นนี้ ข้อเรียกร้องของเจ้าและสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ก็จะไม่มีทางได้ผล เจ้าคิดว่าจะ “ปลดล็อค” เพื่อแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
การสร้างสันติภาพมันต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ การสร้างสันติภาพในพม่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญมันก็ปลดล็อคไม่ได้ ถ้าทางพม่าอยากได้สันติภาพจริงๆ เขาต้องเปิดทางให้แก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ถ้าเขาไม่เปิดช่องทางให้แก้รัฐธรรมนูญได้ แสดงว่าเขาไม่ได้ต้องการให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง เขาแค่สร้างภาพให้ชาวโลกเห็นว่าในสหพันธรัฐพม่าสงบแล้ว แต่ความจริงมันปิดกันไม่ได้ สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน มันเป็นสมัย on line แล้ว
การแก้รัฐธรรมนูญมี 4 ประเด็น อันดับแรกก็โครงสร้างของประเทศให้เป็นสหพันธรัฐ-Federal อันดับที่ 2 การปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง อันดับที่ 3 ต้องปฏิรูปกองทัพพม่าให้เป็น Federal อันดับที่ 4 รัฐฉานต้องสามารถปกครองตนเองได้ ทั้ง 4 ประเด็นนี้สำคัญที่สุด ที่จะต้องผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ
ตอนนี้ตุระฉ่วยมานประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าและอองซานซูจีก็เห็นด้วยที่จะต้องปกครองประเทศแบบfederal แต่ทางกองทัพพม่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเป็นfederal ซึ่งตรงนี้ก็คือภายในของพม่า-ระหว่างทหารกับรัฐบาลเต็งเส่งยังมีความคิดแตกต่างกัน อูอ่องมินบอกกับผมว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ กลุ่มหยุดยิงทุกกลุ่มทั้งกองทัพรัฐฉาน(SSA/RCSS), กองกำลังพรรคมอญใหม่(NMSP), กลุ่มหยุดยิงเมืองลา(NDAA),ว้าแดง(UWSA),กองกำลังชาติพันธุ์ชิน (CNF), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP), กะเหรี่ยงคริสต์(KNU) จะมาลงนามหยุดยิงที่เนปีดอว์ ที่ผ่านมาเราลงนามไปแล้ว 2 ปี แต่การสู้รบก็ยังมีอยู่
การลงนามครั้งใหม่นี้ จึงมีการดึงคนข้างนอกคือUNเข้ามาเป็นสักขีพยาน เพื่อให้ต่างประเทศเชื่อมั่นมากขึ้น และจำเป็นต้องให้ทางกองทัพพม่ามาลงนามด้วย การสู้รบถึงจะลดน้อยลง ไม่ใช่เพียงกลุ่มชาติพันธุ์เป็นฝ่ายมาลงนามอย่างเดียว หรือรัฐบาลอย่างเดียว จริงๆแล้วการลงนามหยุดยิงมันต้องมีกองทัพเป็นส่วนสำคัญ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้นำ รัฐบาลเป็นคนวางแผน แล้วให้กองทัพกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถืออาวุธมาลงนามปรองดองกัน ถ้ากองทัพมาลงนามกับกลุ่มชาติพันธุ์ และสามารถหยุดยิงได้ทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ความเชื่อมั่นก็จะเกิดขึ้น สันติภาพก็จะเกิดขึ้น จากนั้นการเปลี่ยนแปลงประเทศถึงจะเกิดขึ้นได้
เท่าที่ได้พบเต็งเส่งและอูอ่องมิน เจ้าเชื่อใจพวกเขาเพียงใด เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พม่าก็เบี้ยวและคว่ำกระดานข้อตกลงต่างๆ ที่มีกับกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดมา ครั้งนี้มีเงื่อนไขใดที่จะทำให้เจ้าไว้ใจพวกเขาได้ หรือที่ต้องไว้ใจเพราะไม่มีทางเลือก
การไว้ใจคนจะต้องใช้เวลา ผมเพิ่งพบเต็งเส่งครั้งแรก ดูท่าทีคำพูดนิสัยเขาก็เป็นคนดีอยู่ เพียงแต่ว่าการกระทำต่อไปต้องใช้เวลาดูกันต่อไป เพราะที่ผ่านมา พม่าโกหกเรามาตลอด เราก็รู้ เพียงแต่ว่าผู้นำแต่ละคนน่าจะไม่เหมือนกัน ก็น่าจะเป็นไปได้ กับอูอ่องมิน*นั้นเจอกันหลายครั้งแล้ว เขาก็มีความตั้งใจอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นอยู่ เพียงแต่ว่าเขาไม่มีอำนาจเต็มเท่าไหร่ ผู้มีอำนาจนั้นแหละที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ คนมีอำนาจที่แท้จริงที่เป็นทางการก็คือเต็งเส่ง ทหารก็มีอำนาจอยู่ แต่ถ้าเป็นทางการก็เต็งเส่ง ดูท่าทีทหารก็ไม่ค่อยลงรอยกับประธานาธิบดีเท่าไหร่ อันนี้เป็นเรื่องภายในของเขา
การพบกับอองซานซูจีป็นอย่างไรบ้าง ซูจีพูดชัดเจนไหมในเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าควรจะเป็นระบอบการปกครองแบบใด
การเปลี่ยนแปลงในพม่าซูจีก็เป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ซูจีเขาพูดชัดเจนว่าอยากให้เปลี่ยนแปลงเป็น Federal เป็นสหพันธรัฐที่แท้จริง แล้วก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ซูจีบอกว่า ถ้าผู้มีอำนาจอยากเปลี่ยนแปลงมันง่ายนิดเดียว อันนั้นหมายความว่า อำนาจอยู่ที่ทหารนั้นแหละ ซูจีบอกว่าการพัฒนาประชาธิปไตยอยากให้มีการสอนตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กในโรงเรียนขึ้นไป สอนทั้งเรื่องประชาธิปไตย เรื่องยาเสพติด ที่ทาง RCSS มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดซูจีก็ติดตามอยู่ ซูจีก็เห็นด้วย ต่อไปให้ประสานงานกัน ซูจีเขาก็เปิดกว้างอยู่
ในโลกปัจจุบัน มีหลากหลายระเบียบวิธีการปกครอง แม้แต่สหพันธรัฐก็มีหลายลักษณะ ความเป็นสหพันธรัฐที่ซูจีและเจ้าเอ่ยถึงนั้น เห็นประเทศใดเป็นตัวอย่างว่าจะเหมาะสมกับพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์บ้างไหม ได้คุยกับซูจีลงรายละเอียดตรงนี้ไปบ้างหรือยัง
เรื่อง Federal ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียดเลย เพียงแต่ว่าที่พรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปศึกษาดู จะดูของอเมริกากับเยอรมัน พรรคการเมืองไทใหญ่ก็ไปดูของเยอรมันอยู่ เราเลือกดูประเทศที่มีการปกครองเป็น Federal
การพบปะเจรจากับกลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ ของไทใหญ่ ทั้งจายอ้ายเปา-หัวหน้าพรรคเสือเผือก (พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ Shan National Democracy Party- SNDP) , เจ้าขุนทุนอู หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy -SNLD) และ พล.ต.เสือแท่น ประธานพรรครัฐฉานก้าวหน้า (Shan State Progress Party-SSPP,องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉานเหนือ) ดูๆแล้วสามารถทำงานร่วมกันได้แค่ไหน เพราะเจ้ากับRCSSก็ได้ออกจากพื้นที่ในรัฐฉาน มาอยู่ตามป่าและชายแดนไทยตลอดช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่ไหม
ถ้าเอาพรรคการเมืองเป็นหลัก มันจะเป็นแบบหนึ่ง ถ้าเอากลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นหลัก มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะการเมืองมันไม่มีศัตรูถาวร ไม่มีมิตรถาวร แต่ชาติพันธุ์มันตายตัว ตอนนี้ผมเอาชาติพันธุ์เป็นหลัก ให้ชาติเราอยู่ดีกินดีและมีสิทธิเท่าเทียมคนอื่น เพราะผมไม่ได้เล่นการเมือง ผมทำเพื่อชาติบ้านเมือง
เจ้าคิดว่าการเจรจากับพม่า กับไทใหญ่กลุ่มต่างๆ หรือกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในรัฐฉาน ทั้งปะโอ ปะหล่อง ว้า ฯลฯ อะไรมันจะยากกว่ากัน
ผมว่าการเจรจาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ยาก เจรจากับพม่าจะยากกว่า เพราะพม่าเป็นรัฐบาล เขามีกองกำลังเหนือกว่า เขาก็อยากได้เปรียบคนอื่นตลอด การสร้างความปรองดองถ้าใครอยู่เหนือใคร ความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น ความปรองดองเกิดขึ้นได้นั้นต้องอยู่เท่าเทียมกัน ไม่ว่ากลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่
คราวนี้เห็นเจ้าพาภรรยาไปทำงานการเมือง พบปะกับทั้งเต็งเส่ง อูอ่องมิน ซูจี พรรคการเมืองไทใหญ่ และองค์กรต่างๆ ถือว่างานนี้เป็นการเปิดบทบาททางการเมืองของภรรยาเจ้าด้วยหรือไม่ ทำไมก่อนหน้านี้ คนทั่วไปจะไม่ค่อยมีใครได้เห็นภรรยาเจ้า
เพราะผมไปพบปะหารือเต็งเส่งครั้งนี้ผมไปสร้างสันติภาพ ผมเชื่อมั่นว่าการพาภรรยาไปนั้นเป็นเรื่องที่ดี และจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ภรรยาผมไม่ใช่นักการเมือง เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ไปครั้งนี้เขาไม่ได้ไปทำงานการเมือง แต่ไปกับผมเพื่อสร้างสันติภาพ เขาเชื่อมั่นว่าการไปพบผู้ใหญ่ของพม่าครั้งนี้จะไม่เป็นอันตรายอะไร
ในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพม่า เจ้าจะตั้งพรรคการเมืองด้วยหรือไม่