ชาดอกเก๊กฮวย

ชาดอกเก๊กฮวย

ดร.ไชยยง แนะนำคุณประโยชน์ของ น้ำดอกเก๊กฮวย หรือชาดอกเก๊กฮวย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น นอนไม่หลับ เก๊าท์

คนเราต้องกินอาหารต้องดื่มน้ำทุกวัน ความไม่ใส่ใจที่แปลงเป็นข้ออ้างว่าไม่มีเวลาคิด ทำให้เราไม่รู้ว่า น้ำที่เราดื่มทุกวันมีคุณภาพเป็นอย่างไรจริงๆ

ขอเพียงเป็น “น้ำสะอาด” ก็เพียงพอ ก็แล้วน้ำที่ว่าสะอาดนั้นเป็นอย่างไร น้ำในแม่น้ำลำคลองดื่มได้ไหม น้ำฝนดื่มได้ไหม น้ำดื่มในเหยือกบนโต๊ะในร้านอาหารนั้นเล่า สะอาดพอดื่มได้ไหม ถามสิบคนก็ได้สิบคำตอบ เอาเข้าจริง เราอาจไม่แน่ใจว่า น้ำสะอาดที่เหมาะสำหรับดื่มนั้น มีคุณภาพอย่างไร

วิชาสุขศึกษาบอกเราว่า น้ำสะอาดสำหรับดื่มนั้น ต้องไม่มีเชื้อโรคและสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ทั้งเชื้อโรคและสารเคมีโดยส่วนใหญ่นั้น เราก็มองไม่เห็น ไม่ได้กลิ่น เมื่อไม่แน่ใจ คนเราจึงมักดื่มน้ำที่ต้มแล้ว แต่เมื่ออยู่นอกบ้าน จะหาน้ำต้มที่ไหนดื่มเล่า ร้านขายของในอดีต จึงมักชงน้ำดื่มต่างๆ ใส่แก้ว วางในชั้นบนของตู้แช่สแตนเลส มีฝากระจกเลื่อนเปิดปิด สะดวกแก่การหยิบฉวย น้ำดื่มที่มีแทบทุกร้าน เห็นจะเป็น ชาดอกเก๊กฮวย สีเหลืองสวยนั่นเอง

เก๊กฮวยเป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในจีน ใช้ดอกแห้ง ชงเป็นชาดื่มได้ ดีทั้งร้อนและเย็น บ้างก็ปรุงแต่งกลิ่นรสเพิ่มด้วยใบเตยและชะเอมเทศ หรือเติมรสหวาน ต้นเก๊กฮวยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการปักชำ

เก๊กฮวย มีลักษณะหลายอย่างคล้ายกับเบญจมาศ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เบญจมาศสวน เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี เจริญเติบโตเป็นพุ่มแผ่ไปตามพื้นดิน สูงไม่เกินหัวเข่า ใบเดี่ยวรูปรี ยาวราว 1-2 ข้อนิ้วมือ ขอบใบเว้าเป็นหยักลึก ดอกสีเหลืองที่มีลักษณะเหมือนดอกเบญจมาศหรือทานตะวันนั้น มีขนาดเพียงปลายนิ้วหัวแม่มือ กลางดอกมีสีเหลืองเข้มกว่าส่วนที่เห็นเป็นกลีบดอกรอบๆ

เก๊กฮวยที่ปลูกในเมืองไทยนั้น ออกดอกปีละครั้งในช่วงฤดูหนาว นอกจากเก็บดอกมาตากแห้งเพื่อชงเป็นเครื่องดื่มแล้ว ใบสดของเก๊กฮวยเมื่อใส่ในต้มซุปไก่ ช่วยชูกลิ่นหอมสมุนไพร คล้ายว่าต้มไก่ถ้วยนั้น เป็นอาหารบำรุงกำลังอย่างวิเศษขึ้นมาทันใด

ดอกเก๊กฮวยที่ใช้ชงชานั้น ควรเป็นดอกที่บานสมบูรณ์ดี ไม่ควรเลือกดอกที่แก่เกินไป เก็บเฉพาะส่วนดอก ไม่เอาก้านดอก ล้างสะอาดแล้วตากในที่ร่ม หรือคั่วในกระทะร้อน พรมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำไปตาก สำหรับวันที่อากาศแจ่มใส ใช้เวลา 3 วันก็จะได้ดอกเก๊กฮวยแห้ง เก็บในขวดปิดสนิท ในอุณหภูมิห้องหรือในตู้เย็นได้นานหลายเดือน

วิธีชงชาดอกเก๊กฮวย เริ่มจากใส่ดอกเก๊กฮวยแห้ง ลงในกาน้ำชา เทน้ำเดือดใส่ในกาพอท่วมดอกแห้ง ทิ้งไว้สักอึดใจแล้วเทน้ำทิ้ง การทำเช่นนี้เพื่อล้างฝุ่นผงที่อาจติดมากับดอก แต่ยังคงกลิ่นและฤทธิ์ของเก๊กฮวยไว้ เทน้ำเดือดใส่ในกาอีกครั้งให้เต็ม ทิ้งไว้ราว 5 นาทีจึงจะได้น้ำเก๊กฮวยที่หอมพอเหมาะ เมื่อดื่มหมดกาแล้ว เติมน้ำเดือดได้อีกครั้ง

น้ำเก๊กฮวยที่ชงเองนี้ มีสีเหลืองอ่อนๆเท่านั้น แต่ที่เรามักเห็น น้ำเก๊กฮวยเป็นสีเหลืองจัดนั้น เกิดจากการแต่งสีด้วยผลพุดซ้อน ซึ่งก็ไม่เป็นอันตรายอะไร ดอกเก๊กฮวยแห้งนี้สามารถชงได้ 2 ครั้ง อย่าเคี่ยวดอกเก๊กฮวยกับน้ำเดือดเป็นอันขาด จะทำให้น้ำเก๊กฮวยมีรสเฝื่อน ขม

กล่าวกันว่า เก๊กฮวยมีฤทธิ์เย็น ช่วยขับพิษร้อน ขับลม ขับเหงื่อ แก้ร้อนใน แก้ปวดมึนศีรษะ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ ปัจจุบัน มีหลักฐานจากงานวิจัยบ่งชี้ว่า สารสกัดดอกเก๊กฮวยมีฤทธิ์ระงับการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ระงับความวิตกกังวล บำรุงตับ ป้องกันอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน ลดการสร้างกรดยูริก เป็นผลดีในการป้องกันและบรรเทาอาการโรคเก๊าท์เรื้อรัง

ชาดอกเก๊กฮวย จึงเหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยบำรุงร่างกายผู้ที่มีโรคเรื้อรังเช่น นอนไม่หลับ เบาหวาน โรคตับ โรคเก๊าท์ เป็นต้น

หลากหลายฤทธิ์ทางยาของดอกเก๊กฮวย รวมกันแล้ว มีผลบำรุงร่างกาย มากกว่ารักษาโรคใดโรคหนึ่งให้หายขาดไปได้ การทำให้ชาดอกเก๊กฮวยเข้มข้นหรือสกัดเป็นยา อาจทำได้ แต่ก็จะเป็นการเพิ่มฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์ด้วยเช่นกัน

ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่ซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดแช่เย็นจากร้านสะดวกซื้อ บ้างก็เป็นน้ำเปล่าที่ผ่านการกรองแล้ว บ้างก็เป็นน้ำปรุงรส แต่งกลิ่น ไม่แน่ชัดว่าเพิ่มคุณค่าหรือไม่ แต่ราคานั้น เพิ่มแน่นอน

ช่วยกันทำ ช่วยกันดื่มน้ำชาสมุนไพรมากคุณค่านี้เถิดครับ ทุกวันนี้ น้ำชาดอกเก๊กฮวย ก็จวนเจียนจะเป็นของย้อนยุค เช่นเดียวกับ ผ้านุ่งโจงกระเบน หรือม้าก้านกล้วย ไปเสียแล้ว

บทความโดย *ดร.ไชยยง รุจจนเวท สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง