ผ่าตัดใหญ่'เชฟโรเลต'เหตุภายนอกหรือแผลภายใน
เชฟโรเลตเข้ามาทำตลาดในไทย โดยก่อตั้ง บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อ1 ม.ค. 2543
เป็นหนึ่งในเครือ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
เชฟโรเลต เซลส์ เริ่มจำหน่ายรถยนต์ภายใต้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้า "เชฟโรเลต" จากนโยบายยุติการทำตลาดยี่ห้อ "โอเปิล" ในตลาดเอเชีย ทำให้ "เสี่ยเท้ง" บันเทิงจึงสงวนพรสุข ผู้จำหน่ายรถโอเปิล ในนามพระนครยนตรการ ในขณะนั้น ต้องยุติบทบาทไปโดยปริยาย รวมถึงลิขสิทธิ์สินค้ารถยนต์อเมริกาเหนือทั้งหมดที่ ชัช จูตระกูล ถือลิขสิทธิ์ตัวแทนจำหน่ายในไทย
รถยนต์รุ่นแรกที่ เชฟโรเลต เซลส์ เปิดจำหน่ายและสร้างชื่อเสียงให้บริษัทคือ ซาฟิร่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบุกเบิกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์รายแรกของประเทศไทย ก่อนที่จะมีรุ่นอื่นๆตามมา คือ ครูซ, อาวีโอ, อาวีโอ ซีเอ็นจี, แคปติวา, โคโลราโด, เทรลเบลเซอร์ และโซนิค
อย่างไรก็ตามผ่านไป 15 ปี วันนี้ จีเอ็มประกาศลดขนาดธุรกิจในไทย นำมาซึ่งความสงสัยมากมาย
สาระสำคัญของประกาศได้แก่
การปรับโครงสร้างองค์กรในประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกฝ่ายและเพิ่มบทบาทหน้าที่ให้แก่พนักงาน ตามโครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจ (Voluntary Separation Program) เป้าหมายคือ 30% ของจำนวนพนักงานโดยรวม ทั้งในส่วนสำนักงานและระดับปฏิบัติการ (salaried and hourly)
ในส่วนของการลงทุนใหม่ก็หยุดดำเนินงาน โดยประกาศถอนตัวจากการเข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 โดยได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ก็จะหยุดจำหน่าย รถเก๋งรุ่นโซนิคและรถอเนกประสงค์เอ็มพีวี รุ่น สปิน เมื่อสิ้นสุดแผนการตลาดของรุ่นปีล่าสุด
ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศ จีเอ็มได้ประกาศยุติการผลิตรถที่ศูนย์การผลิตเบกาซีใกล้กับกรุงจาการ์ตาภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 2558 และปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็นบริษัทจัดจำหน่ายในประเทศแทน
จากนโยบายทั้งลดและถอนโครงการ ทำให้มีคำถามที่สะท้อนให้เห็นความไม่มั่นใจในการดำเนินงานของ เชฟโรเลตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"สัปดาห์นี้ผู้บริหารของ เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) อยู่ในแผนการเดินทางพบปะดีลเลอร์ ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มจาก กรุงเทพ ภาคกลางและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจร่วมกับจีเอ็มต่อไป" แหล่งข่าวระบุ
จีเอ็มระบุว่ากลยุทธ์ปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้หมายความว่า จีเอ็มจะถอนตัว แต่เป็นการย้ำว่าจีเอ็มควรจะทำในสิ่งที่แข็งแกร่งอยู่แล้วโดยเฉพาะ เชฟโรเลต ขึ้นชื่อในเรื่องรถเอสยูวีและรถกระบะ
ส่วนการหยุดขายรถเก๋งบางรุ่น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากปกติ ที่รถหมดรุ่นก็เปลี่ยนไปเป็นรุ่นใหม่ ซึ่งกรณีที่รถหมดรุ่นเรายังคงมีสต็อคอะไหล่ มาตรฐานเป็น10 ปี ตัวอย่าง เช่น ซาฟิร่า แม้หมดรุ่นไปนานแล้ว เราก็ยังมีอะไหล่ไว้ให้บริการ
บัญชาการใหญ่จากสิงคโปร์
เครือข่ายบริหารงานของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส นอกจากจะมี ศูนย์บัญชาการหลักที่ จีน แล้ว พื้นที่ไทยนั้นอยู่ภายใต้การจัดการ ของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคที่สิงคโปร์
ซึ่งเป็นสายงานที่ดูแล ธุรกิจของจีเอ็มใน 6 ตลาดหลัก ได้แก่ แอฟริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาหลีใต้ โดย สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคที่สิงคโปร์แห่งนี้ เพิ่งเปิดดำเนินงาน ได้ไม่นาน
"แดน อัมมานน์" ประธานกรรมการ จีเอ็ม กล่าวในช่วงที่ร่วมพิธีเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคอย่างเป็นทางการว่า สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์จะทำให้ จีเอ็ม มีความใกล้ชิดกับตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นและจะเชื่อมต่อกับประชาคมธุรกิจได้ครอบคลุมกว่าเดิม
ในขณะที่ สเตฟาน จาค็อบบี รองประธานบริหาร จีเอ็ม และประธานกรรมการ จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจทั้งในตลาดเศรษฐกิจระดับโลกและตลาดเกิดใหม่ คือ ผลิตภัณฑ์ ที่ยอดเยี่ยม โดยจีเอ็ม จะเปิดตัวรถใหม่ 40 รุ่น ทั่วทั้งภูมิภาคภายในสิ้นปี 2558
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์นี่เองที่เป็นผู้ออกคำสั่ง เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ครั้งใหญ่ของจีเอ็มในภูมิภาค
"ก่อนการประกาศนโยบายล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง รับข้อเสนอจากประเทศที่อยู่ในการเปลี่ยนแปลงหลายแนวทาง ซึ่งต่างก็เสนอเข้าไป แต่สุดท้าย คือ จีเอ็มเลือกตัดสินใจตามแนวทางที่สิงคโปร์เสนอทั้งหมด" แหล่งข่าวระบุ
ฝีแตกหรือพิษตลาดทรุด
ต้องยอมรับว่า ตลาดรถยนต์ไทยในช่วง2 ปีที่ผ่านมา มีความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องผลกระทบจากรถคันแรก ที่ทำให้ผู้ค้าระดมผลิตรถออกมาป้อนตลาดเมื่อหมดโครงการลงก็ทำให้กำลังผลิตเหลือจนต้องมีการปรับลดลง นอกจากนี้เศรษฐกิจโดยรวมก็ชะลอตัวทำให้กำลังซื้อลดลง แต่ภาวะที่ยากลำบากนี้กระทบทุกค่ายไม่เฉพาะจีเอ็มเท่านั้น
"จะเห็นว่าทุกค่ายต่างได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีใครปลดคน หรือ ปรับโครงสร้างดังนั้นน่าจะเป็นเพราะปัญหาภายในของจีเอ็มมากกว่า"
นักวิเคราะห์ในตลาดรถ ไม่สงสัยในประเด็นของจีเอ็มในภูมิภาคที่ต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้ เพราะต่างมองเห็นว่า สาเหตุนั้นไม่ใช่จากสภาพแวดล้อมภายนอก แต่ปัญหาเกิดจากภายใน
"ที่อินโดนีเซีย รุ่นสปินไม่สามารถสู้แค่แข่งได้เลยเนื่องจากคู่แข่งใช้โลคอล คอนเทนท์ มากกว่าได้เปรียบเรื่องต้นทุน"
แหล่งข่าวระบุอีกว่า ในไทยนั้นจีเอ็มเคลื่อนไหวช้า จังหวะที่ทุกคนแบ่งเค้กจากรถคันแรก จีเอ็มมีรถที่เข้าข่ายรถคันแรกเพียงไม่กี่รุ่น ในขณะที่ค่ายญี่ปุ่นทำโครงการ อีโค คาร์ 1 ออกมาขายแต่จีเอ็มกลับไม่ได้ร่วมโครงการและวางแผนจะเข้าอีโค คาร์ ร่น 2 ซึ่งเป็นรถสเปคสูงก็สายไปแล้ว
"เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากจีเอ็มในแบรนด์เชฟโรเลต จะเผชิญปัญหาอื่นๆ แล้ว รถนั่งและเอสยูวี บางส่วนกลับมีปัญหาทางด้านผลิตภัณฑ์จนเกิดการฟ้องร้องจากผู้บริโภค"
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นรวมๆ ทำให้ยี่ห้อที่เคยแข็งแกร่งอย่าง เชฟโรเลต ในช่วงยุคต้นที่เข้ามาเมืองไทยอ่อนแอลงและลงเอยด้วยการผ่าตัดใหญ่ในที่สุด
วาระสุดท้ายของบีกาซี
พื้นที่สำคัญที่ถูกพูดถึงในนโยบายใหม่ของจีเอ็ม เน้นไปที่อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะว่า จีเอ็ม นับเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในอินโดนีเซีย ภายใต้ชื่อ จีเอ็ม ชวา (GM Java) ก่อตั้งเมื่อปี 2470 ก่อนเปลี่ยนมาเป็นจีเอ็ม อินโดนีเซีย ในปัจจุบัน ทั้งนี้ จีเอ็มเพิ่งขยายการลงทุนเพื่อสร้างศูนย์การผลิตยานยนต์แห่งใหม่ที่เบกาซีไปเมื่อเดือน พ.ค.2556
ศูนย์การผลิตจีเอ็ม เบกาซี ตั้งอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางตะวันออกราว 16 กม. เป็นการลงทุนของเจนเนอรัล มอเตอร์ส อินโดนีเซีย มูลค่า ราว 4,430 ล้านบาท มีเนื้อที่ทั้งหมด 58,000 ตารางเมตร มีพนักงานทั้งหมด 700 คน
รถยนต์รุ่นสำคัญที่ผลิตและยกเลิกการขายในไทยไปด้วยคือ เชฟโรเลต สปิน รถอเนกประสงค์เอ็มพีวีขนาดซับคอมแพ็คท์ ซึ่งสปิน เผยโฉมครั้งแรกในเดือน ก.ย. 2555 ที่งานอินโดนีเซีย อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ โชว์ ทั้งนี้สปินที่ผลิตในอินโดนีเซียทั้งหมด ประมาณ 80% เป็นการทำตลาดในประเทศ ที่เหลือ 20% ส่งออกไปจำหน่ายยังไทยและฟิลิปปินส์ ศูนย์การผลิตจีเอ็ม เบกาซี จะผลิตสปิน 40,000 คันต่อปี
"วาระสุดท้ายของเบกาซี ย่อมกระทบต่อ พนักงาน 700 คน บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียอีก 43 บริษัท รวมถึง ผู้แทนจำหน่ายเชฟโรเลต อินโดนีเซียอีก 34 แห่งแน่นอน"