ย้อนรอยจำคุกแกนนำนปช.ล้มประชุมผู้นำอาเซียน
(รายงาน) ย้อนรอยจำคุก 4 ปี แกนนำนปช.ล้มประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปี 52
ภายหลังจากศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษา สั่งจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา 13 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์นำกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ พัทยา ในเดือนเมษายน 2552
จำเลยในคดีนี้ ได้แก่ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, นิสิต สินธุไพร, พายัพ ปั้นเกตุ, วรชัย เหมะ, วันชนะ เกิดดี, พิเชฐ สุขจินดาทอง, ศักดิ์ดา นพสิทธิ์, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภารัตน์, นพพร นามเชียงใต้, สำเริง ประจำเรือ, สมยศ พรหมมา, นพ.วัลลภ ยังตรง และสิงห์ทอง บัวชุม พร้อมกับไม่ให้ประกันตัว และสั่งพักคดีผู้ต้องหา 3 คน คือ พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ นายสุรชัย แซ่ด่าน และ น.ส.อรวรรณ (ไม่ทราบนามสกุล) เนื่องจากไม่มารายงานตัวต่อศาล
ขณะที่ ธงชัย ศักดิ์มังกร และ พ.ต.อ.สมพล รัฐบาล ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ส่งผลให้ 13 แกนนำ ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางพิเศษพัทยา ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2558 ระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ภรรยาอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง พร้อมด้วยญาติๆ ของบรรดา 13 แกนนำ นปช. และทนายความ ได้ยื่นเรื่องขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ จ.ระยอง โดยอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในหลักทรัพย์ วงเงิน 2 ล้านบาท ส่วนคนอื่นๆ วงเงิน 8 แสนบาท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558
“เป็นอิสรภาพที่ยิ่งใหญ่ของคนที่ได้ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อประชาธิปไตยของทุกคน ซึ่งเราคิดอยู่แล้วว่า การต่อสู้ต้องมีเหตุการณ์แบบนี้ และอาจต้องมีความเสียสละ ซึ่งบางคนมันก็ต้องมีความเจ็บปวด บางครั้ง ถ้าเราไม่ยอมเสียสละหรือยอมเจ็บปวด ในเรื่องของประชาธิปไตยก็จะไม่เกิดขึ้น จากนี้ไปคงกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว และขอขอบคุณทุกคนที่ยังเป็นกำลังใจ และทุกคนที่ยังให้ความยุติธรรม ให้ความเมตตากับพวกเรา” อริสมันต์ เปิดใจหลังถูกปล่อยตัว
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถึงกระบวนการสืบพยานในชั้นศาล หลังจากกลุ่มแกนนำ นปช.ทั้ง 18 คน ถูกจับกุม ศาลจังหวัดพัทยารับฟ้องแยกเป็น 3 คดี โดยคดีแรกรับฟ้องเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 คดีที่ 2 ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 และคดีที่ 3 ศาลรับฟ้องวันที่ 21 ธันวาคม 2552 โดยแจ้งข้อหา 1.ร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งให้เลิกการมั่วสุม 2.ข้อหาร่วมกันเดินแถวเป็นขบวน และกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร 3.ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
4.มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยเป็นหัวหน้า เป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำผิดนั้น และ 5.ร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ โดยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 358, 362, 364 และ 365 และพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 108, 114 และ 148 แต่เนื่องจากทั้ง 3 คดี จำเลยมีหลายคน และกระทำผิดในข้อหาเดียวกัน ศาลจึงให้รวมเป็นคดีเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีและนัดสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย
ส่วนกระบวนการสืบพยาน ที่นำมาสู่การตัดสินคดีที่เกิดความล่าช้านั้น เป็นเพราะกระบวนการพิจารณา และกระบวนการสืบพยานของทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย ที่มีความประสงค์จะสืบพยานที่มีจำนวนหลายร้อยคน รวมทั้งทนายของแต่ละฝ่ายอีกด้วย จึงทำให้กระบวนการพิจารณาเกิดความล่าช้าออกไป แต่ก็ยังถือว่า ศาลได้พิจารณาตัดสินคดีเสร็จเร็วกว่าที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งเดิมที่ศาลต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 แต่ศาลสามารถพิจารณาคดีแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557
"อภิชาติ เทพหนู" ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา ระบุว่า ในกระบวนการพิจารณาสืบพยานในชั้นศาล หลังจากศาลได้รับฟ้องคดี ศาลได้นัดสืบพยานทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน คือทุกวันอังคารและวันพุธ ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงพิจารณาสืบพยานในช่วงแรกๆ อาจติดปัญหาการล่าช้าอยู่บ้าง เนื่องจากในขณะนั้นจำเลยบางคนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และอาจติดสมัยประชุม ซึ่งตามกฎหมาย ศาลก็จะพิจารณาสืบพยานไม่ได้และจำต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป จนกว่าจะหมดสมัยประชุม จึงจะสามารถพิจารณาสืบพยานได้ แต่โดยภาพรวมแล้ว คู่ความทั้งโจทก์และจำเลยที่มีความประสงค์จะให้สืบพยานมีจำนวนหลายร้อยคน แต่ก็นับว่าทุกคนให้ความร่วมมือในเรื่องการสืบพยานกับศาลเป็นอย่างดีมาโดยตลอด
"ที่ผ่านมาคดีนี้ ฝ่ายโจทก์ ซึ่งเป็นอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยว่า การกระทำหลายกรรมต่างกัน ตามมาตรา 91 ผลต่างของคดีก็จะแตกต่างกันออกไป เมื่อนำมารวมกัน อัตราโทษก็จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ศาลได้พิจารณาเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน จึงวินิจฉัยเป็นเจตนาเดียว และให้ลงโทษบทหนักข้อหาเดียว ตามมาตรา 90 ซึ่งหากฝ่ายโจทก์ คือ อัยการ ไม่เห็นด้วยในคำตัดสินของศาล ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ศาลพิจารณาลงโทษจำเลย ตามความผิด มาตรา 91 ได้ด้วยเช่นกัน” อภิชาติ ระบุ
จากนี้ไปหากคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว เชื่อว่า กระบวนการพิจารณาสำนวน คาดว่าจะใช้เวลาอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 2 ปี หรืออาจพิจารณาเพียงแค่ภายในไม่เกิน 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 น่าจะสามารถพิจารณาคดีแล้วเสร็จ ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณายืนตามศาลชั้นต้น คดีก็เป็นอันสิ้นสุด
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ระบุว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์ พิจารณายืนตามศาลล่างหรือศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ห้ามมิให้คู่ความทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใด ซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาตามความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้น เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด และอนุญาตให้ฎีกา อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันสมควรให้ศาลสูงสุดได้วินิจฉัยตามมาตรา 221 ได้
ขณะที่การต่อสู้คดีในชั้นศาล "คารม พลพรกลาง" หนึ่งในทีมทนายความฝ่ายจำเลย ลำดับความให้ฟังว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ไปในทิศทางเดียวกัน คือ การเคลื่อนไหวตามสิทธิในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ โดยการยื่นจดหมายคัดค้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเห็นว่าขึ้นมาปกครองโดยไม่มีอำนาจ ตามขั้นตอนกระบวนการประชาธิปไตย จึงไม่มีอำนาจและไม่มีความเหมาะสมที่จะจัดประชุมอาเซียน ซึ่งการเคลื่อนไหวนั้นก็ต่างคนต่างมา ไม่ใช่การร่วมสั่งการจากแกนนำ นปช.
การสืบพยานจำเลยส่วนใหญ่เบิกความต่อสู้คดีด้วยตนเอง บอกเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองเกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละคนมีรายละเอียดต่างกันในเรื่องสถานที่-เวลา เพราะต่างคนต่างมา เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ไม่ได้นัดแนะ ตระเตรียมลักษณะที่จะร่วมกันปลุกปั่นยุยง สร้างความวุ่นวาย หรือชุมนุมด้วยการใช้ความรุนแรง
ขณะที่เจตนาการเคลื่อนไหว เป็นการเดินทางมายื่นหนังสือให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุติการจัดประชุมอาเซียน แต่ช่วงเวลานั้นกลับมีบุคคลอีกกลุ่มที่สวมเสื้อสีน้ำเงิน ออกมาปะทะกับกลุ่มสนับสนุนจำเลย ดังนั้นความวุ่นวายในการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่กลุ่ม นปช.สร้างความรุนแรงขึ้นมา ซึ่งทางนำสืบฝ่ายจำเลย เราก็ต่อสู้ด้วยหลักฐานภาพถ่าย ที่มีการบันทึกไว้ด้วยว่ามีกลุ่มคนสวมเสื้อสีน้ำเงินระหว่างการเคลื่อนไหว แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มนั้น
คารม หนึ่งในทีมทนายความ กล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้น มองว่า การเคลื่อนไหวของ "อริสมันต์ นิสิต พายัพ และพวก" สืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุม นปช.ที่มี จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นแกนนำ มาตั้งแต่ช่วงปี 2552 ซึ่งเราต่อสู้ว่า ช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่พัทยา แกนนำระดับจตุพรและณัฐวุฒิก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้อง และไม่ได้มีการยื่นฟ้องคดี ดังนั้นเจตนาในการเคลื่อนไหวที่พัทยา จึงเป็นเพียงเจตนายื่นหนังสือคัดค้านการจัดประชุมอาเซียนเท่านั้น ซึ่งเราได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ที่มีกลุ่มกรีนพีซออกมาชุมนุมคัดค้านไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง จึงไม่ใช่เจตนาที่จะปลุกปั่น ยุยง อีกทั้งการที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ ที่มีบุคคลขัดขวางขบวนรถของนายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี บริเวณแยกสัญญาณไฟจราจร (ไฟแดง) ที่พัทยานั้น โจทก์ไม่อาจที่ยืนยันได้ว่า กลุ่มจำเลยใครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเราจะต้องต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาระวางโทษ ความผิดของจำเลย ด้วยมาตรา 116 ฐานปลุกปั่น ยุงยง ที่เป็นบทหนักสุด ในลักษณะร่วมกันกระทำการ เราก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้มาตลอดว่า จำเลยต่างคนมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากศาลเห็นว่าพฤติการณ์นั้นจะเป็นผิดก็ควรเป็นบทลงโทษแตกต่างกัน ไม่น่าที่จะลงโทษฐานร่วมกัน ด้วยบทลงโทษเดียวกัน ใน มาตรา 116 คนละ 6 ปี ซึ่งศาลเห็นว่าคำให้การของจำเลยมีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง แล้วลดโทษเหลือจำคุก 4 ปี
ดังนั้นชั้นอุทธรณ์เราจะเน้นย้ำให้ศาลเห็นถึงเจตนาการเคลื่อนไหว และแยกแยะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพราะสถานการณ์ที่เราถูกฟ้องเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่มีกลุ่มเสื้อสีน้ำเงินเข้มมาทำร้ายคนเสื้อแดงด้วย แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งการพิจารณาวางบทลงโทษจำเลยให้เหมาะสมตามพฤติการณ์