รู้ไว้ ใช่ว่า มารยาทบนบันไดเลื่อน

นักเดินทางส่วนใหญ่ทราบดีว่า ...
เมื่อเดินทางไปต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศก็ตาม ข้อควรคำนึงหลักข้อหนึ่งคือต้อง “เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดและทำความไม่พอใจกับคนท้องถิ่น คู่มือท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะแนะนำนักท่องเที่ยวว่า ควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมและการปฏิบัติของแต่ละพื้นที่หรือประเทศไม่เหมือนกัน
เรื่องนี้ นักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นทราบดี ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยพากันไปเที่ยวอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเพราะไม่ต้องขอวีซ่า แต่ถึงแม้จะอยู่ในเอเชียด้วยกัน แต่บุคคลิก นิสัยใจคอและการปฏิบัติตัวระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่นก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เรื่องนี้ทำให้มีการออกคู่มือมารยาทสำหรับนักท่องเที่ยวไทย (ผู้ชอบทำอะไรตามใจฉัน) เมื่ออยู่ในญี่ปุ่น ในคู่มือนี้มีการกล่าวถึงมารยาทในการใช้บันไดเลื่อนด้วย พวกเราหลายคนอาจแปลกใจว่า เรื่องแค่นี้ก็ต้องมีแนะนำด้วย ไม่เห็นจำเป็นต้องสนใจจำเพราะก็ทำตามคนอื่นไปได้
แต่ผู้ที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นจะทราบดีว่า ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการใช้บันไดเลื่อนซึ่งแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ ไกด์มักจะบอกเสมอว่า การยืนบนบันไดเลื่อนนั้น ในเขตคันโต (โตเกียว)จะชิดซ้าย แต่เขตคันไซ (โอซาก้า)ยืนชิดขวาที่มาของวัฒนธรรมนี้เชื่อกันว่า เพราะในสมัยเอโดะเขตคันโตมีซามูไรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซามูไรมักจะเดินชิดซ้ายเพื่อที่จะได้ใช้มือขวาชักดาบได้สะดวก ในขณะที่เขตคันไซเป็นเมืองท่าทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าซึ่งมักจะเดินชิดขวาเพื่อที่จะรักษาข้าวของและทรัพย์สินไม่ให้โดนขโมยหยิบฉวยไปได้ง่าย และวัฒนธรรมนี้ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน การยืนชิดขวานี้ปฏิบัติกันในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมันและจีน
แต่ไม่ว่าจะยืนชิดด้านใด คนญี่ปุ่นและคนในหลายประเทศก็มักจะเว้นอีกด้านหนึ่งเพื่อให้คนที่ต้องการเดินบนบันไดเลื่อน สำหรับในเมืองไทย พวกเรานิยมยืนชิดซ้ายและเว้นทางขวาไว้สำหรับคนที่เร่งรีบได้ไปก่อน
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ญี่ปุ่นเริ่มการรณรงค์ไม่ให้เดินบนบันไดเลื่อนเพราะผลการศึกษาพบว่า การเดินทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เมื่อต้นปีนี้ องค์กรกิจการเพื่อผู้บริโภคของญี่ปุ่นรายงานว่า ระหว่างปี 2554-2556 คนญี่ปุ่นจำนวน 3,865 คนในโตเกียวต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะบาดเจ็บจากการใช้บันไดเลื่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการลื่นหรือชนกัน หรือสะดุดร่มหรือไม้เท้าของคนที่ยืนอยู่ระหว่างเดินขึ้นลง เว็บไซท์ของสมาคมบันไดเลื่อนญี่ปุ่นยังเตือนว่า การเดินบนบันไดเลื่อนทำให้เสี่ยงกับการลื่นหรือตกบันไดซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บหรือตายได้ การรณรงค์นี้ยังต้องการเปลี่ยนวัฒนธรรมการยืนชิดด้านใดด้านหนึ่งของบันไดเลื่อนเพื่อเปิดทางให้แก่คนที่ต้องการเดินบนบันไดเลื่อนด้วยโดยแนะนำให้ยืนตรงกลางแทน
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นร่วมมือกันทำแคมเปญนี้เพื่อลดอุบัติเหตุสำหรับคนทุกวัย แต่ให้ความสำคัญกับพลเมืองอาวุโสมากที่สุด บริษัทผู้ให้บริการรถไฟหลักๆ หลายแห่งของญี่ปุ่นเคยรณรงค์ให้ใช้บันไดเลื่อนโดยไม่ต้องยืนชิดด้านใดด้านหนึ่งมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งมาในปีนี้ ที่บริษัทรถไฟทั้งหมด 51 แห่ง และผู้ให้บริการรถไฟที่เชื่อมเส้นทางไปยังสนามบินระหว่างประเทศฮาเนดะ นาริตะ เข้าร่วมแคมเปญนี้
ญี่ปุ่นมีการวิจัยเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยวิเคราะห์การออกแบบและการใช้งานบันไดเลื่อนที่ถูกต้อง และพิจารณาจากข้อมูลของสมาคมบันไดเลื่อนแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีตัวแทนของกลุ่มผู้ผลิตบันไดเลื่อนและลิฟต์เป็นสมาชิกที่ระบุว่า สมมุติฐานของของการออกแบบบันไดเลื่อนคือ ผู้ใช้จะไม่เดินขึ้นหรือลงระหว่างใช้ นอกจากนี้ คนที่ใช้บันไดเลื่อน มีมือที่ถนัดที่ใช้จับราวบันไดเลื่อนแตกต่างกันและบันไดเลื่อนไม่ควรรับน้ำหนักด้านใดด้านหนึ่งมากเป็นพิเศษ
ผู้ใช้บันไดเลื่อนในสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟและห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะเห็นโปสเตอร์ชักชวนไม่ให้เดินบันไดเลื่อนและไม่จำเป็นต้องยืนชิดด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังแนะนำให้เว้นช่องว่างไว้ระหว่างแต่ละคนด้วย การรณรงค์ครั้งนี้ของญี่ปุ่นเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องนี้เป็นระเบียบที่ไม่เคยมีเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันต่อมาเท่านั้น
บริษัท อีสต์ แจแปนเรลเวย์ หนึ่งในผู้ให้บริการรถไฟที่เข้าร่วมโครงการรณรงค์นี้กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการรณรงค์ในรูปแบบใหม่นี้เป็นต้นมา มีจำนวนอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังยึดติดกับการยืนชิดราวบันไดด้านใดด้านหนึ่งอยู่ดี บริษัทหวังว่าพวกเขาจะค่อยๆ ยอมเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้
เราคงต้องมาดูกันต่อไปว่า เมืองไทยจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไรหรือจะมีการรณรงค์หรือไม่ ข่าวว่า ในสถานีรถไฟใต้ดินบางที่มีป้ายรณรงค์งดเดินขณะอยู่บนบันไดเลื่อนแล้ว