เรื่องเพศ ต้องพูด

เรื่องเพศ ต้องพูด

ถ้าคำว่า “เพศ” ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องที่เด็กควรรู้ แล้วต้องอายุเท่าไรจึงจะคุยกันได้

คุณจะทำอย่างไรเมื่อลูกมีความสงสัยในเรื่อง “ เพศ”


ก.เลี่ยง ไม่ตอบคำถาม


ข. บอกไปว่า “โตขึ้นเดี๋ยวก็รู้เอง”


ค. อธิบายความอย่างละเอียด(ยิบ)


ง.ให้ความรู้ตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม


จ.ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง


ไม่ใช่คำถามเก็บคะแนนปลายภาค แต่นี่คือความจริงจากทุกครอบครัวที่มีสมาชิกตัวเล็กๆ อยู่ในบ้าน และเมื่อลูกเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ความสงสัยในสิ่งรอบตัวก็มีมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเพศ


คุณไม่รู้หรอกว่าจะคุยเรื่องเพศกับลูกได้แค่ไหน หรืออย่างไรจึงจะเรียกว่าพอดี จนกว่าคุณจะได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเรื่องเพศอย่างถูกต้องเสียก่อน

เพศ-สำคัญ


มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่า การคุยเรื่องเพศกับลูกเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญที่ชื่อ “ทัศนคติ”


“เราอยู่ในสังคมที่บอกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรก เด็กไม่ควรข้องเกี่ยว แต่เด็กมันคิดตลอดเวลา แค่คิดจะมีแฟนก็ผิด เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมให้เขารู้สึกว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยกับพ่อแม่ได้” จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง(สคส.) และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบาย


จิตติมา เพิ่มเติมว่า เรื่องเพศเกี่ยวข้องกับสุขภาพและการจัดการความสัมพันธ์ ฉะนั้นจึงไม่ได้หมายความแค่ “เพศสัมพันธ์” เพียงอย่างเดียว


“เราจำเป็นต้องคุยเรื่องนี้กับลูกหรือเด็กที่เราต้องดูแล เพราะในยุคนี้สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น เราไม่สามารถใช้กระบวนการในสังคมที่คอยควบคุมเด็กได้แล้ว แต่มันต้องอาศัยการสร้างทักษะให้กับเด็กให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นในการเตรียมให้เด็กมีความพร้อมที่จะมีทักษะชีวิตในเรื่องเพศ หรือเรื่องความฉลาดรู้เรื่องเพศจึงสำคัญ ถ้าเราไม่เตรียมเขาตั้งแต่เด็กแล้วมาถึงวันหนึ่งเราจะมาแก้ไข มันจะยิ่งยากกว่าการเตรียมพร้อม”


มีตัวอย่างของการขาดทักษะในการคิดและตัดสินใจเรื่องเพศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการท้องไม่พร้อม การล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น สังคมไทยอยู่ในภาวะที่มีความกังวลและห่วงใยต่อเรื่องนี้มาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวเพื่อปรับความสัมพันธ์และเปลี่ยนมุมมองเรื่องเพศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญที่สุด


“พลิกมุมมองเรื่องเพศ คุยกับลูกเชิงบวก” เป็นหลักสูตรในการอบรมที่เกิดขึ้นเพื่อปลดล็อคความกังวลใจของพ่อแม่ผู้ปกครองในการสื่อสารเรื่องเพศกับลูก ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีตามบริบทของแต่ละครอบครัว


“เราต้องทำให้เห็นว่าเรื่องเพศเป็นวิถีชีวิต มันอยู่ในทุกอณูของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบมาคุยเพื่อแก้ปัญหาที่ตัวเองกลัว กลัวท้องทำไงดี กลัวลูกจะไปข่มขืนคนอื่นทำไงดี มันต้องทำให้เห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องของวิถีชีวิตเลย มันอยู่ในชีวิตประจำวัน อีกอย่างคือต้องรื้อวิธีคิดว่า การคุยกับลูกเรื่องเพศไม่ใช่การหา How to ส่วนใหญ่จะคิดแบบนั้น ฉันถือคัมภีร์ไปคุยกับลูก หนึ่ง, สอง, สาม, สี่,...มันไม่ใช่ เราต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว”


จิตติมา ว่า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว ต้องเริ่มจากการตรวจสอบฐานความสัมพันธ์ในครอบครัวว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบไปถึงค่านิยมความเชื่อของครอบครัวต่อเรื่องเพศ สุดท้ายแล้วจึงมาถึงขั้นตอนของการหาข้อมูลความรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้


“สิ่งที่จะเกิดเลยก็คือความไว้วางใจร่วมกันในเรื่องนี้ มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น แล้วท้ายที่สุดมันจะทำให้ไม่ห่วง ซึ่งพอเอาเข้าจริงๆ เราได้คุยกับพ่อแม่หลายคน ความห่วงไม่ห่วงไม่ได้อยู่ที่ลูกมีพฤติกรรมอย่างไร แต่ห่วงที่สุดคือกลัวลูกไม่คุยด้วย ไม่ปรึกษา เพราะฉะนั้นเมื่อมีความใกล้ชิด ปรับคุยกันได้ลูกก็จะรู้สึกเบาใจ ลูกจะรู้ว่าพ่อแม่หวังดีจริงๆ เมื่อเกิดปัญหาลูกก็จะหันมาหาพ่อแม่เป็นคนแรก แล้วก็เชื่อว่าปัญหาจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ ซึ่งทุกเรื่องมันเป็นเรื่องของการวางรากฐาน ปรับตัวและเรียนรู้ร่วมกันไป”


เพศ – สัมพันธ์


“มันเป็นความขัดแย้งของสังคมด้วยนะที่มีการพูดเรื่องเพศ การพูดเรื่องอวัยวะอะไรพวกนี้มันดูลึกลับ แล้วเราก็เห็นว่า ในความเป็นจริงคุณครูเองก็ไม่ได้พูดอย่างตรงไปตรงมา ใครที่จะเป็นคนพูดที่ดีล่ะ ก็เป็นพ่อแม่นี่แหละ แต่...เราก็อึดอัดเหมือนกันที่จะตอบอย่างตรงไปตรงมา เรารู้สึกว่าเราต้องหาทักษะในการตอบให้ได้ความรู้ด้วย ไม่พยายามที่จะหลงลืมอะไรไป แล้วก็ให้คุณค่ากับเรื่องนี้อย่างแท้จริง”


วีรวรรณ กังวานนวกุล นักกิจกรรมอิสระที่มีลูกชายวัย 9 ขวบ บอกแบบนั้น และนั่นจึงทำให้เธอพยายามค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดการสื่อสารเรื่องเพศที่มีประสิทธิภาพ


หนึ่งในวิธีการที่จะสื่อสารกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องใช้ทักษะการฟังอย่างมีสติ (Deep or Mindful Listening) เพื่อให้ได้ยินทั้งในสิ่งที่ลูกบอกด้วยคำพูดและภาษาท่าทาง จากนั้นจึงค่อยๆ ตอบคำถามให้เหมาะสมกับช่วงวัย ตรงไปตรงมา แต่ต้องเสริมสร้างมุมมองเชิงบวกต่อร่างกายของตัวลูกเอง ตอบให้ลูกมั่นใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง สำคัญที่สุดคือคำตอบนั้นต้องไม่ทำร้ายเด็กหรือคนอื่นๆ ด้วย


“เมื่อก่อนเรายืนยันว่าให้ใกล้อีกหน่อยแล้วค่อยพูด เช่นเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง หรือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไป แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราต้องเตรียมความพร้อม เราต้องตั้งหลักดีๆ ที่จะต้องเริ่มพูด มันไม่มีหลักสูตรตายตัวว่าจะต้องพูดเมื่อไร เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตัวเด็กเองก็ไม่เหมือนกัน ฐานการรับรู้ของลูกเรากับลูกคนอื่นก็ไม่เท่ากัน เราเตรียมความพร้อมลูกเรามาระดับหนึ่งแล้ว คิดว่าเราสามารถที่พูดเรื่องของถุงยางอนามัยได้แล้ว พูดถึงการเคารพคนอื่น หรือการที่จะไปสัมผัสคนอื่นโดยที่เราไม่รู้สึกได้ แต่ในขณะที่เด็กที่ไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมมาเขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเอง อารมณ์ตัวเอง และรู้จักเคารพตัวเอง”


ผู้เป็นพ่อแม่มักกังวลกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยที่ลูกเติบโต แต่มีบางครอบครัวเท่านั้นที่สื่อสารเรื่องเพศกับลูกอยู่บ้างตามโอกาสและปัจจัยที่เอื้ออำนวย ขณะที่หลายครอบครัวยังไม่แน่ใจว่า ควรเริ่มคุยเรื่องเพศกับลูกเมื่อไรด้วยวิธีอย่างไร


“จริงๆ มันมีสถานการณ์หลายสถานการณ์ที่เราจะพูดได้เลย ช้อนสถานการณ์นั้นขึ้นมาพูด อย่างเช่น เราดูหนังฝรั่งด้วยกัน เด็กฝรั่งเขามีอะไรกันตั้งแต่อายุ 13 เป็นธรรมดา หนังบางเรื่องเปิดเผยเรื่องนี้ หลายครั้งที่เราตอบแบบง่ายเกินไป เรารู้สึกว่าเราต้องรู้ลึกซึ้งก่อนที่จะตอบ ง่ายเกินไป เช่น เขาทำอะไรกันต่อไป จูบๆ จูบเราก็บอกว่าเป็นการแสดงความรัก แต่ถ้าเกิดมีเพศสัมพันธ์จริงๆ เราก็บอกว่า แม่ก็ว่ายังนะ แต่ว่าเราจะไม่ตอบสั้นแบบนั้น เราจะถามกลับเพื่อให้เกิดการคุยกัน แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น”


ในวัยเล็กๆ ลูกๆ ก็อาจจะยังมองเห็นว่าพ่อแม่เป็นที่ปรึกษาได้อย่างเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้น ได้เข้าสู่สังคมที่กว้างขวางขึ้น พ่อแม่อาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่เขาจะหันหน้าเข้ามาปรึกษา


เพราฉะนั้นการสื่อสารเรื่องเพศไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลเรื่องเพศแก่ลูก แต่คือการสร้างความรู้สึกปลอดภัย และความไว้วางใจระหว่างเรากับลูกไปพร้อมๆ กัน

เพศ - สื่อสาร


สำหรับเทคนิคในการสร้างความไว้วางใจกับลูกคือต้องรู้จักตัวเอง รู้จักลูก และยอมรับให้เกียรติซึ่งกันและกัน รับฟังและพูดคุยกันอย่างมีสติ นอกจากนี้ก็ควรให้ความไว้วางใจกับลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย


“เรื่องหนึ่งที่เราไม่ค่อยเห็นความสำคัญก็คือการรักษาความลับของลูก ลูกจึงไม่ไว้วางใจเราแล้ว เพราะเราไม่รักษาความลับของเขา” จิตติมา ภาณุเตชะ เสนอความคิดเห็นที่สำคัญ


จิตติมา บอกว่า ที่ผ่านมามีพ่อแม่ที่เคยเข้าอบรมหลักสูตรพลิกมุมมองเรื่องเพศ คุยกับลูกเชิงบวก หลายรุ่น และแต่ละรุ่นก็จะกลับไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน


“เราเป็นหลักสูตรพื้นฐานของพ่อแม่ แต่เรามองเห็นความต่าง คือกลุ่มแรก พ่อแม่ที่เดินออกจากบ้านแล้วมาอบรม เขากังวลเรื่องนี้อยู่แล้ว เขาพยายามหาวิธีการป้องกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ พ่อแม่เหล่านี้จะกลับไปพร้อมกับการลดความคาดหวังในตัวลูก นี่คือพ่อแม่ที่แอคทีฟ ส่วนใหญ่จะกลับไปพร้อมกับการลดความคาดหวังกับลูก และปรับความสัมพันธ์ใหม่ จะเป็นเพื่อนกับลูก ไม่ใช่ทุ่มเทอย่างเดียว แต่เพราะทุ่มเทนั่นแหละถึงมา


แต่ถ้าพ่อแม่ที่มาแบบถูกเกณฑ์มา เขาจะกลับไปพร้อมกับความใส่ใจลูกมากขึ้น บางคนคิดเป็นภาระ เรื่องนี้โรงเรียนต้องสอน เพราะฉะนั้นเขาจะกลับไปมองลูกอย่างที่ลูกเป็นมากขึ้น เพิ่มความใส่ใจมากขึ้น และเอาเข้าจริงพ่อแม่ที่คาดหวังลูกสูงๆ ใส่ใจลูกน้อยนะ ใส่ใจในอย่างที่ลูกเป็นน้อย ท้ายที่สุด จุดร่วมสำคัญคือทำให้มองลูกว่าเป็นมนุษย์มากขึ้น ให้เขามีโอกาสได้สะท้อนได้พูดในสิ่งที่ลูกเป็นจริงๆ ได้ฟังลูกอย่างแท้จริง”


สำหรับแนวโน้มของสังคมในความสนใจเรื่องเพศ จิตติมา มองว่า ควรจะมีการสร้างกลุ่มเฉพาะเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้าถึง ซึ่งภาครัฐควรเปิดโอกาสหรือเอื้อให้เกิดระบบที่เหมาะสมด้วย


“ทุกวันนี้เราอาจจะเห็นศูนย์เยาวชน มีกิจกรรมกีฬา แต่มันจะเป็นกิจกรรมนันทนาการ มันควรที่จะมีกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นศูนย์ครอบครัวจริงๆ ที่มีกระบวนการจัดการสื่อสารในครอบครัวมากขึ้น ในเชิงนโยบายพี่มองว่าเรามีองค์ความรู้ เรามีต้นแบบในการทำงานที่ดี แต่พ่อแม่ขาดพื้นที่แบบนี้”


จิตติมา ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเรื่องเพศไม่ได้ถูกบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นการกลับไปที่จุดแรกคือการรื้อวิธีคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตของทุกคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ


“ถ้ารื้อวิธีคิดแล้วเมื่อพ่อแม่มารวมตัวกัน มาคุยกันมัน จะทำให้ปัญหาเรื่องเพศไม่ใช่ปัญหาปัจเจก ไม่ใช่ปัญหาความล้มเหลวส่วนตัวของครอบครัว ไม่ใช่พฤติกรรมที่ไม่ดีส่วนบุคคล อย่างเราเห็นเด็กท้องไม่พร้อมก็กระโจนไปเลย ใจแตก ไม่รักนวลสงวนตัว พ่อแม่เลี้ยงมายังไง แต่มันจะขยับไปสู่ว่า เฮ้ย ระบบสังคมปล่อยให้เด็กและครอบครัวโดดเดี่ยวนะเรื่องนี้ เราไม่มีระบบซัพพอร์ตอะไรที่จะช่วยกันเยียวยาปัญหา มันไม่มีโรงเรียนที่จะสอนเรื่องนี้ มันจึงต้องมีระบบกลุ่ม ระบบสภาพแวดล้อมทางสังคมช่วย” จิตติมา ส่งท้าย


แน่นอนว่า ก่อนจะให้คนอื่นช่วยเรา ในฐานะพ่อแม่ที่มีลูก ซึ่งต้องดูแลและรับผิดชอบกันไปตลอดชีวิต ก็ควรที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน ด้วยการเป็นพ่อแม่ที่ดีและเปิดใจคุยกับลูกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตของลูกเป็นสุขและปลอดภัย