‘วินัย’ หรือ ‘ไร้สาระ’ ?

‘วินัย’ หรือ ‘ไร้สาระ’ ?

เปิดเทอมแล้ว กฎของโรงเรียนก็คือกฎ ทว่าสิ่งเหล่านั้น คือ วินัย หรือ ไร้สาระ มาฟังหลากหลายเสียงที่เกี่ยวข้อง

เด็กนักเรียนเซ็นฟรังฯ และ โรงเรียนวัดราชโอรส ต้องถักผมทรงเปียตะขาบเท่านั้น โรงเรียนโยธินบูรณะ อิงลิชโปรแกรม ต้องตัดผมเท่ากับติ่งหู มีครูคอยตรวจทุกเช้า ลองฟังเสียงจากผู้มีประสบการณ์เล่าว่า .....


“ขณะส่งหลานสาวคนเล็กไปโรงเรียน ณ เช้าวันหนึ่ง....พลันคิดขึ้นมาว่า อยากรณรงค์ให้โรงเรียนมัธยมถักเปียแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เพราะตอนนี้หลานสาวต้องไปถึงโรงเรียนเร็วกว่าเดิม เพื่อให้เพื่อนถักเปียตะขาบให้ ขณะเดินทางไปโรงเรียน ก็พยายามคิดหาหนทางว่า จะทำอย่างไรกับเปียตะขาบเจ้าปัญหา น่าจะเปิดดูวิธีถักเปียตะขาบจากยูทูบ หรือจะให้หลานสาวศึกษาวิธีถักเปียจากเพื่อนๆ ที่ถักเป็น เราสองคนน้าหลานจะได้ไม่ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพื่อรีบไปโรงเรียนแบบนี้” นี่เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของชายหนุ่มวัย30 ต้นๆ


เอกลักษณ์ เชิดชู เจ้าของความคิดข้างต้น ขยายความว่า “ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือโรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ทั้งประเทศ การแต่งกายให้ถูกระเบียบเป็นสิ่งที่ถูกต้องและผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความใส่ใจและให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนเต็มที่ แต่เรื่องระเบียบบางอย่าง อาทิ เช่น การถักเปียให้เรียบร้อยสำหรับเด็กผู้หญิงที่ไว้ผมยาว โดยการถักเปียจะเป็นลักษณะการถักเปียตะขาบ แบ่งผมให้เท่ากันสองข้าง ซึ่งการถักลักษณะนี้ ทำให้เกิดความยุ่งยาก คือ หนึ่ง-ใช้เวลาถักนานกว่าเปียปกติทั่วไป

ในขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร มีการเข้าแถวเพื่อเคารพธงชาติก่อน 08.00 น. ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องเผื่อเวลา ทั้งการแต่งตัว ทานอาหารเช้า การเดินทาง และถักผม โดยบางส่วนของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่มีเพียงคุณพ่อและคุณแม่ หรือผู้ปกครองที่ไม่สามารถถักเปียตะขาบได้ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เด็กนักเรียนต้องช่วยเหลือกัน โดยการถักให้กันหน้าโรงเรียน โดยที่ปัญหาลักษณะนี้ดูอาจจะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร แต่ผู้ปกครองเกิดความสงสัยว่า จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องถักเปียรวบผมให้ตึงขนาดนั้น ในขณะที่เปียแบบธรรมดาก็ดูเรียบร้อยได้เช่นกัน”

กฎระเบียบดีดีแบบนี้ คุณแม่ชอบ

สำหรับเด็กวัยรุ่น บางทีอยากจะออกนอกกฏระเบียบบ้าง ทว่าสำหรับผู้ปกครองคิดว่าเด็กๆ ฝึกให้อยู่ในกฏระเบียบไว้ก็ดี เพราะบางทีคุณพ่อคุณแม่พูด เด็กไม่ฟัง ก็ต้องหวังโรงเรียนช่วยฝึก

“ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กฏระเบียบเยอะแต่พอรับได้ ไม่ว่าจะต้องทำตัวยังไง การแต่งตัว บุคลิกภาพ ทรงผม ความประพฤติ กฏการออกนอกโรงเรียนในแต่ละวัน ออกได้เท่าไหร่ วันหยุดต้องทำยังไง เรามีลูกชายสองคน คนโตอยู่ม.4 เทอมนี้จะต้องเรียน รด. ทรงผมจะต้องตัดแบบสั้นเกรียน วัยรุ่นส่วนใหญ่จะรักผมมาก ช่วงปิดเทอมทำสีผมตามสไตล์เกาหลี ญี่ปุ่น ก่อนเปิดเทอมก็เลยต้องจัดปาร์ตี้อำลาทรงผม อำลาความหล่อกับเพื่อนๆ สำหรับเราเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อยู่แล้ว แต่สำหรับพวกเขาซึ่งเป็นวัยรุ่น ก็คงมีอะไรขัดใจอยู่นิดหนึ่ง เพราะทำตามกฏแล้วไม่เท่ ส่วนโรงเรียนก็เข้มงวดมาก นักเรียนก็หลบๆ เลี่ยงๆ กันเอง สนุกๆ ตามประสาวัยรุ่น ไม่เหมือนสมัยเรา เรียนสาธิตเกษตร กฏระเบียบไม่ค่อยเข้มงวดมากนัก”


“เรื่องทรงผมไม่มีกฏเลยจะไว้ทรงอะไรก็ได้ เราเองก็ไม่ได้ผูกกับแฟชั่นเยอะขนาดนั้น เด็กสมัยนี้มีไอดอลเป็นนักร้องเกาหลี ง่ายๆเลย แค่เข็มขัด บางคนต้องไปหาแบบมีแบรนด์ มียี่ห้อ แต่อยู่ในแบบที่คล้ายกับโรงเรียนกำหนด สมัยเราแม่ซื้อแบบไหนให้เราก็ใช้แบบนั้น เสื้อผ้าชุดนักเรียนก็ต้องใส่ให้เก๋มีแฟชั่นนิดๆ กางเกงสั้นกว่าปกติ เสื้อยาวกว่าปกติ ทรงผมตามกฏเป็นอะไรที่ทำใจยากสำหรับเด็กสมัยใหม่ที่ตามเทรนด์แฟชั่น สำหรับผู้ปกครองไม่รู้สึกอะไรกับกฏระเบียบเข้มงวดของโรงเรียน ดีเสียอีกที่โรงเรียนจะเป็นสถานที่ฝึกให้ลูกเราอยู่ในกฏระเบียบ ตัวเราเองไม่เชื่อว่ากฏระเบียบจะทำให้เราเรียนดีขึ้น หรือแย่ลง ไม่มีผลต่อการเรียนเลย ต้องตัดผมแบบนี้ ถักผมเปียสองข้างแล้วจะทำให้เรียนเก่งขึ้นก็ไม่ใช่ ขณะที่คนออกกฏเขาก็คงจะคิดอีกแบบ คงจะมีเหตุผลที่จะออกกฏระเบียบมาแบบนั้น”


คุณแม่ ไพพรรณ หลักแหลม เห็นว่า การมีกฏระเบียบเป็นสิ่งที่ดี ควรเริ่มฝึกตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน เมื่อเด็กโตขึ้น ไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ที่ทำงาน ก็ต้องทำตามกฏระเบียบของสังคม และที่ทำงาน เช่น เวลาทำงานต้องเข้างานเวลา 08.00 น. พักเที่ยงรับประทานอาหาร 12.00-13.00 น. ไม่ใช่เวลาอื่น ที่นอกเหนือจากนี้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เป็นการฝึกตัวเองให้อยู่ในกฏที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้


ด้าน โสภา สัจจพงษ์ เล่าว่า “โรงเรียนราชินีบนที่ลูกเรียน เขามีกฏอยู่แล้วว่า เด็กนักเรียนต้องนุ่งกระโปรงเอว 25 ยาว 25 ลูกเราสูง 158 ไม่ถือว่าสูงมากยังโดนสั่งให้เลาะกระโปรงเลื่อนตะเข็บลงอีก ครูบอกว่าสั้นไป ทั้งๆ ที่ไม่เห็นจะสั้นเลย ผมต้องถักเปียให้แน่น 2 ข้าง โบว์ต้องใช้สีน้ำเงินเท่านั้น ห้ามไว้ผมม้า ต้องติดกิ๊บสีดำห้ามมีลวดลาย ถ้าใครจะไว้ผมสั้นต้องเห็นติ่งหู ถุงเท้าข้อยาวพับ มีลวดลายไม่ได้ต้องถุงเท้าคาร์สันสีขาว เมื่อก่อนอยู่โรงเรียนนานาชาติ ใส่ถุงเท้าลายดอกไม้ กระเป๋าใช้อะไรก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องใช้กระเป๋าของโรงเรียนสีน้ำเงิน เวลาครูนั่งอยู่ เด็กจะต้องคลานเข่าเข้าไปหาครู แต่ก็ชอบนะ เพราะมีความเป็นไทยดี อีกอย่างไม่ทำให้เด็กฟุ้งเฟ้อ ใช้แต่ของแบรนด์เนมเหมือนที่ผ่านมา”


โรงเรียนดังกล่าวอนุญาตให้นักเรียนติดพวงกุญแจหรือสัญลักษณ์ไม่มีเสียง ขนาดไม่เกิน 2-3 นิ้วเพียง 1 ชิ้นที่กระเป๋า ห้ามใช้นาฬิกาดิจิทัล นาฬิกานักเรียนหญิงเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 นิ้ว สีดำ ขาว เงิน ทอง นาฬิกานักเรียนชายเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1.5 นิ้ว สีดำ ขาว เงิน ทอง นักเรียนชั้นอนุบาลห้ามนำเงินมาโรงเรียน นักเรียน ป.ต้น นำเงินมาได้ไม่เกิน 50 บาท ป.ปลาย 100 บาท ม.ต้น 150 บาท และม.ปลาย 500 บาท ส่วนใหญ่จะนำเงินมาเกิน บางครั้งครูก็ตรวจ เลยต้องนำเงินไปฝากกระเป๋าตังค์เพื่อน เสื้อนักเรียนห้ามไหล่ตกเกิน 1 นิ้ว ผมสั้น ยาวเลยติ่งหูไม่เกิน 2 นิ้ว ผมยาว ถักเปียเดี่ยวหรือ 2 เปีย โดยแบ่งผมเป็น 3 ส่วน ถักเป็นเปียไม่น้อยกว่า 3 ข้อ โดยเหลือส่วนปลายผม 2-4 นิ้ว ห้ามรัดเป็นเปลาะหรือรัดหัวท้าย ผูกโบว์กว้าง 0.5-1.5 นิ้วเท่านั้น


ด้าน พรทิพย์ ตัณฑ์จยะ คุณแม่ลูก 2 มองว่า “ส่วนตัวแล้ว บางทีเราก็อยากให้ลูกชายหล่อ ไม่อยากให้หัวเกรียนขนาดนั้น แต่กฏที่โรงเรียนลูก ถ้าเสยผมแล้วมีผมเลยนิ้วออกมาต้องไปตัด เหมือนๆ กับหญ้าแหละนะ (หัวเราะ) คุณครูต้องตรวจผมทุกๆ 2 อาทิตย์ ถ้าทำผิดก็ต้องโดนหักคะแนน บางทีลูกชายต้องไปเดินแฟชั่น จำเป็นต้องไว้ผมให้ดูหล่อนิดหนึ่ง เราก็ต้องไปทำหนังสือขออนุญาต ข้อดีของกฏระเบียบก็คือ เด็กทั้งหลายจะได้ไม่ต้องไว้ทรงผมสะเปะสะปะ มองในแง่ของระเบียบวินัยก็ดีนะคะ ตอนที่เราเรียนโรงเรียนอัสสัมฯ เขาให้ถักเปียสองข้าง ผูกโบว์สีน้ำเงิน ขาว เท่านั้น ใครจะชมพู แดง ไม่ได้เลย จะถักเปียอะไรก็ได้ ถ้าผมเลยบ่านิดหน่อยต้องผูกผม เลยบ่ายาวอีกนิดต้องถักเปียเดี่ยว หรือเปียสองข้างก็ได้ ใช้แค่หนังสติกมัดผมไม่ได้นะ โบว์สำเร็จรูปก็ใช้ไม่ได้ ต้องใช้ริบบิ้นผูกเป็นโบว์เท่านั้น ตอนที่เรายังเด็กก็รู้สึกอึดอัด พอโตขึ้นก็รู้สึกดีเพราะทำให้เรากลายเป็นคนมีระเบียบวินัย ถ้าไม่มีกฏเหล่านี้ ไว้ทรงผมอะไรก็ได้ ใส่เสื้ออะไรก็ได้มาเรียนคงได้โดดเรียนกันสนุกสนาน ”


พัชรพร กิจพยัคฆ์ เล่าว่า มาแตร์เดอี โรงเรียนของลูกสาว ให้เด็กหญิงไว้ผมยาวได้แต่ต้องรวบผมให้เรียบร้อย ถักเปียแบบไหนก็ได้ไม่บังคับ ทว่าต้องผูกโบว์ให้เรียบร้อย โดยใช้โบว์สีขาว สีน้ำเงิน และสีน้ำตาลเท่านั้น


“นับว่ามีความยืดหยุ่นพอสมควรสำหรับโรงเรียนนี้ นักเรียนหญิงบางคนตัดผมสั้น ไว้ผมหน้าม้า ก็ไม่เข้มงวดอะไรมาก พอยาวมากเกินไปคุณครูก็แค่เข้ามาเตือน เรื่องของถุงเท้าก็ไม่ได้บังคับ แต่ต้องใช้กระเป๋าแบบฟอร์มของโรงเรียนก็คือ เป็นเป้สีน้ำเงิน เรื่องของรองเท้าอาจจะมีบ้าง ต้องสวมรองเท้าหนังสีดำที่มีลักษณะเป็นรองเท้านักเรียนรัดข้อขึ้นมานิดหน่อย เด็กบางคนมีความจำเป็นต้องใส่รองเท้าแนวเพื่อสุขภาพ ไปขออนุญาตก็ได้”


คุณแม่รายนี้ให้ทัศนะถึงในกรณีที่บางโรงเรียนบังคับให้นักเรียนหญิงต้องถักผมเปียตะขาบเท่านั้น ห้ามถักทรงก้างปลา หรือทรงอื่นๆ อาจจะเป็นเพราะ “เปียตะขาบ” มีความแข็งแรงกว่าแบบอื่น เวลาถักต้องดึงให้ตึงผูกให้แน่น เด็กๆ เล่นสนุกทั้งวัน ยังไงเปียไม่มีหลุด พัชรพร เล่าว่า เธอถักผมเปียทุกชนิดให้กับลูกสาว ทว่า เปียตะขาบลูกสาวบอกว่ารัดแน่นเกินไป รู้สึกไม่ค่อยผ่อนคลายศีรษะ ผมเปียธรรมดา ถักแล้วนูนสวยดูเรียบร้อยเหมือนกัน แต่หลุดง่าย เธอว่าโรงเรียนเซ็นโยฯ ต้องถักเปียตะขาบ 2 ข้าง โบว์สีน้ำเงินเท่านั้น โชคดีที่มาแตร์ไม่เคร่งครัดขนาดนั้น เปียเดี่ยว เปียคู่ แถมที่คาดผมไปโรงเรียนก็ยังได้


คุณแม่อย่าง พจน์ศิรินทร์ สุวรรณรัฐ เธอว่ากฏระเบียบของโรงเรียนไม่มีปัญหาสำหรับเด็กและผู้ปกครองอย่างเธอเลย
“ความจริงแล้วโรงเรียนจิตรลดา ที่ลูกเรียนมีกฏระเบียบค่อนข้างเยอะมาก เพราะโรงเรียนอยู่ในสวนจิตรลดา ทั้งเด็ก และพ่อ แม่ ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย อย่างคุณแม่ต้องนุ่งกระโปรงคลุมเข่า ห้ามใส่เสื้อแขนกุด สวมรองเท้าแคชชู เพราะโรงเรียนอยู่ในวัง ห้ามใส่เสื้อผ้าสีดำ สำหรับตัวเราเองก็ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว รู้สึกว่ากฏระเบียบเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่รู้สึกยุ่งยากอะไร นักเรียนหญิงของโรงเรียนนี้ชั้นประถม ไว้ผมเปีย 2 ข้าง เปียข้างเดียวไม่ได้ ห้ามรวบผม จะมีสีโบว์แตกต่างกันในแต่ละชั้นเรียน ชุดนักเรียนเป็นกระโปรงยาวคลุมเข่า ห้ามไว้ผมม้า ถ้าเป็นนักเรียนชั้นมัธยม เปียข้างเดียวได้ ผมม้าไว้ได้แต่ห้ามยาวมาถึงคิ้ว ”


คุณแม่รายนี้เคยเรียนที่โรงเรียนราชินีบน มีกฏระเบียบไม่น้อย เช่น ต้องคลานเข่า นั่งพับเพียบ จึงชินกับกฏระเบียบเหล่านี้ เธอมองว่าการมีกฏระเบียบนั้นถือว่าดี ปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักความมีวินัย จะทำอะไรตามใจตัวเองไม่ได้ โตขึ้นอยู่ในสังคมได้ เพราะสังคมแต่ละแห่งก็ต้องมีกฏระเบียบที่เราต้องยอมรับและปฏิบัติตามโดยไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกแย่ไม่มีความสุข

กฏระเบียบ ย่อมมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย


รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา แสดงความเห็นถึงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนว่า จริงๆ แล้วมีข้อดีอยู่เยอะ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการ เมื่อใช้เครื่องแบบที่โรงเรียนกำหนด ทำให้การซื้อเครื่องแบบชัดเจนแล้วก็เป็นรูปแบบเดียวกัน นอกจากนี้ทำให้ไม่เกิดความแตกต่างหรือสร้างความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กๆ รู้สึกเสมอภาค เพราะใส่เหมือนๆ กัน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลในเรื่องระเบียบวินัย และที่สำคัญ คือ ประหยัดสตางค์ผู้ปกครอง


“ถ้ามองในแง่หลักการ มันก็เข้าใจได้ในระดับนึง แต่ถ้าเริ่มลงในรายละเอียดในบางเรื่องจะกลายเป็นเรื่องจุกจิก จนถึงขั้นเป็นเหตุผลที่ไม่น่ารับฟัง” รศ.ดร.สมพงษ์ เอ่ย และย้ำว่า เมื่อใดก็ตามที่ “เครื่องแบบ” ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบหรือลงโทษเด็ก เครื่องแบบหรือกฎระเบียบก็จะกลายเป็นความจุกจิกที่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดี
“มันจะกลายเป็นความหยุมหยิมที่น่ารำคาญ เราอย่าเสียเวลาไปกับเรื่องพวกนี้มากเกินไป แทนที่จะไปหาอะไรทำที่ถูกต้องและเหมาะสมที่จะช่วยพัฒนาเด็กได้ อย่าลืมว่า เด็กวันนี้เป็นเจนแซท (GenZ) ขณะที่ครูยังเป็นพวกเบบี้บูมเมอร์ หรือพวกคอนเซอร์เวทีฟจ๋า ความแตกต่างทางความคิดก็เกิดขึ้น ยิ่งถ้าเครื่องแบบกลายเป็นเครื่องมือตอบสนองภายใต้ระบบการใช้อำนาจ เด็กอาจยิ่งรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็อาจนำไปสู่สัมพันธภาพที่ไม่ดีระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนก็เอาครูไปล้อเลียนลับหลัง ส่วนครูก็มีอคติกับเด็กที่แต่งตัวผิดระเบียบได้”
ในทางตรงกันข้าม หากครูมองเห็นเรื่องการแต่งกายหรือกฎระเบียบหยุมหยิมเป็น “สาระ” ก็อาจเสี่ยงที่จะละเลยเรื่องอื่นๆ ที่ควรทำ หรือควรใส่ใจมากกว่า


ชิดชนก ทองใหญ่ ณ อยุธยา คุณแม่ลูกแฝดชาย-หญิงวัย 11 ขวบ น้องปริม-น้องเปรม ที่แยกกันไปเรียนโรงเรียนชายล้วนและหญิงล้วน เอ่ยถึงข้อดีของเครื่องแบบว่า ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทำให้ทุกเช้าเป็นเช้าที่เรียบง่ายสำหรับเด็ก ไม่ต้องมีปัญหาว่า วันนี้จะใส่ชุดอะไรดี แล้วก็ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องใส่ชุดซ้ำ ไม่ต้องมาคอยกลัวว่า เดี๋ยวเพื่อนจะล้อ


"เพราะมันทำให้ทุกๆ คนเหมือนกัน เขาถึงเรียกมันว่า ‘ยูนิฟอร์ม’ ไง มันคือชุดที่ใส่แล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แปลกหรือแตกต่าง มันทำให้คนที่มาจากหลากหลายที่ หลายระดับฐานะ มีความเหมือนกันได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ ‘ยูนิฟอร์ม’ เป็นอะไรที่เกินกว่าวัตถุประสงค์ที่มันควรจะเป็น จะกลายเป็นความน่ารำคาญทันที เช่น กระโปรงนี้มันสั้นไปนะ ตีเกล็ดแคบเกินไป หรือ เสื้อตัวโคร่งเกินไป อย่างโรงเรียนลูกสาว จะเปลี่ยนเครื่องแบบบ่อย อนุบาลก็ชุดนึง ประถมต้นก็ชุดนึง พอขึ้นประถมปลายก็เปลี่ยนอีก เธอจึงซื้อชุดที่โอเวอร์ไซส์ขึ้นมาเพื่อให้ใส่ต่อได้สามปี แต่ถ้ามีกฎห้ามเสื้อตัวโคร่งก็อาจเป็นปัญหาได้”


“ส่วนตัวยังไม่เคยเจอปัญหาจากเรื่องกฎระเบียบหยุมหยิมเกินไป เพราะหลายๆ เรื่องมันมีเหตุผลรองรับพอสมควร เช่น ที่โรงเรียนลูกสาวให้ไว้ผมสั้นถึง ม.3 แต่เขาก็ยืดหยุ่นพอที่จะไม่สนใจว่าจะมัดแกละหนึ่งข้าง สองข้าง หรือจะถักเปีย จะผูกโบว์จิ๋ว โบว์เขื่อง ยังไงก็ได้ ซึ่งก็คิดว่า โอเคนะ แต่จะไม่โอเค ถ้าโรงเรียนเอาเรื่องเครื่องแบบมาใช้ตัดสินเด็ก เช่น บางทีเด็กโตไว สูงขึ้น กระโปรงก็เลยเข่าขึ้นมา ครูเห็นแล้วจับเด็กมาทำโทษ หรือเอาเด็กออกมาประจานหน้าเสาธง แทนที่จะตัดคะแนนหรืออะไรก็ว่าไป แบบนี้ไม่ใช่แล้ว มันไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการมีเครื่องแบบ คุณไม่มีสิทธิทำให้ใครอับอายในที่สาธารณะ”


ที่สำคัญ คือเธอย้ำว่า ต้องอย่าหลุดประเด็นของคำว่า ‘ยูนิฟอร์ม’