แพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมโยงความสัมพันธ์’แบรนด์-สังคม’

แพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมโยงความสัมพันธ์’แบรนด์-สังคม’

ในงานประชุมสัมมนา “Human Wired” จัดโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของสมาคมฯ

ภายในงานยังมีตัวแทนเอเยนซีชั้นนำ พร้อมด้วยตัวแทนจาก 5 แพลตฟอร์มชั้นนำของโลก เช่น  ไลน์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม กูเกิล และยูทูบ ร่วมนำเสนอมุมมองและทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างโลกดิจิทัลกับมนุษย์

อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานภายใต้หัวข้อ “Human Wired” ในครั้งนี้ ต้องการนำเสนอมุมมองความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับโลกดิจิทัล ที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาตอบสนองและเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของผู้คน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเข้าสู่โลก IoT หรือ Internet of Things มากขึ้น

 แต่ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ต่างๆอย่างไร ความสำคัญก็ยังอยู่ที่ผู้คนอยู่ดี โดยเฉพาะในแง่คุณค่าของชีวิตมนุษย์ การเชื่อมโยงสังคมของมนุษย์ และวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งหากนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมให้เข้าถึงผู้คนก็จะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น จึงต้องปรับการผสมผสานใช้ทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่

สำหรับคนในวงการโฆษณายังต้องปรับตัวตลอดเวลาทั้งด้านโครงสร้างองค์กร ด้านคอนเทนท์ที่ต้องแตกต่างและสร้างสรรค์ เป็นไอเดียใหม่ๆมากขึ้น ตลอดจนต้องปรับหรือเพิ่มทักษะการทำงาน และบูรณาการสื่อต่างๆเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ชี้แบรนด์ยังมีบทบาทสำคัญในโลกดิจิทัล

คริส รีทเทอร์แมน รองประธานกรรมการ บริษัท โอกิลวี่ แอดเวอร์ไทซิ่ง เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า  โอกิลวี่ ได้ใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับ Brands Matter เพื่อดูว่าแบรนด์จะยังคงมีความสำคัญหรือไม่และอย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ โดยแบรนด์ต่างๆพยายามสร้างสรรค์ สรรหาคำพูดมาให้เข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งในทางกลับกันผู้บริโภคเองก็สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ได้อยู่แล้ว สามารถพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์แบรนด์ในมุมต่างๆได้อยู่ตลอดเวลาผ่านแหล่งข้อมูลในโลกออนไลน์

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อแบรนด์ที่เก็บข้อมูลในสหรัฐ พบว่าผู้บริโภคกว่า 24% ไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูด และอีก 69% มองว่าแบรนด์อาจยังโกหกผู้บริโภคอยู่ เพราะแบรนด์มักมุ่งส่งเสริมการขายสินค้า ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับการบริหารแบรนด์ในทุกวันนี้ จึงมีความยากและท้าทายมากกว่าในอดีต เพราะผู้บริโภควิพากษ์วิจารณ์ และพูดถึงแบรนด์กันมากขึ้น ผ่านเครื่องมือดิจิทัล ต่างๆ ในมือ

ขณะเดียวกัน ได้เก็บข้อมูลใน 6 ประเทศ คือ ไทย อังกฤษ สหรัฐ จีน เม็กซิโก และออสเตรเลีย พบว่าผู้บริโภคยังมองแบรนด์มีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะตลาดที่ยังไม่มีพัฒนาการมากนัก อย่าง จีน ไทย  และเม็กซิโก  โดยมองแบรนด์เรื่องความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจในตัวแบรนด์อยู่มาก สวนทางกับสหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ อาจมีสัดส่วนไม่สูงนัก เพราะตลาดในประเทศดังกล่าวมีพัฒนาการไปค่อนข้างมากแล้ว

ดึงดิจิทัลเชื่อมโยงความสัมพันธ์แบรนด์-สังคม

ริวทาโร่ เซกิ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เดนท์สุ ประเทศไทย และบริษัท เดนท์สุ มีเดีย ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องพิเศษ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนไปแล้ว พบว่าทั่วโลกสัดส่วนกว่า 50% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต สำหรับไทยประมาณ  46 ล้านคน ที่ใช้สื่อออนไลน์ นอกจากนี้ การมองด้านบริบท (Context) ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการโฆษณาที่จะขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ โดยบริบทที่ว่านี้ต้องผนวกด้วยคอนเทนท์และช่วงเวลา ซึ่งต้องเป็นเวลาที่เข้าถึงพวกเขาได้อย่างเหมาะสม

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ความต้องการของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ คือ สิ่งที่พวกเขาจะดูในสิ่งต้องการดูและฟังในเรื่องที่ต้องการฟังเท่านั้น ดังนั้นการทำงานในวงการนี้ก็ยังต้องยึดหลักสื่อสารในสิ่งที่พวกเขาอยากดูและอยากฟังไว้ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยน “เทคนิค”ในการนำเสนอ ถ่ายทอดเรื่องรา

ฟู ตรูออง หัวหน้าฝ่ายเอเยนซี บริษัท กูเกิล ประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ“เล่าเรื่องผ่านเทคโนโลยี” ว่า เทคโนโลยีไม่ใช่คอนเทนท์ แต่เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วย ในการเล่าเรื่องให้น่าสนใจมากขึ้น ตัวอย่าง นิทานอีสป ที่เล่าเรื่องกันมา กว่า 300 ปี แต่ในท้ายที่สุดก็ได้มีการบอกเล่าคอนเทนท์นั้นต่อๆกันมา จนนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน โดยการเล่าเรื่องนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันด้วยการใช้คำพูดอย่างเป็นเวลานาน แต่อาจใช้คำ 1 คำ ภาพ 1 ภาพที่มีความหมาย หรือมีอารมณ์สอดแทรกอยู่ในนั้น  รวมถึงใช้เครื่องหมาย หรือสีสันต่างๆมาเล่าเรื่อง มาสื่ออารณ์ความหมาย ณ ขณะนั้นได้

เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ การเล่าเรื่องต่างๆ ช่วยเสริมในเรี่องการสร้างสรรค์ต่างๆได้ว่าจะเล่าเรื่องด้วยวิธีการอย่างไร ตัวอย่าง เทคโนโลยี Immersive Storytelling ด้วยการใช้เครื่องมือ 360 Media, VR VDO  Virtual Reality Cardboard ต่างๆ

ไลน์”เตรียมพัฒนาบริการครบสูตร

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ไลน์ มีแผนที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นแอพที่มีโซลูชั่นครบเครื่องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้า การสร้างชุมชน ติดต่อเชื่อมโยงกับสังคม เพื่อนฝูง และครอบครัวผ่านเซอร์วิสแชท การซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งตอนนี้ ไลน์ก็มีบริการหลากหลาย ทั้ง Chat room, Line TV, Line Pay, Line Today ที่เป็นนิวฟีดต่างๆให้ผู้ใช้งานได้แชร์เรื่องราวต่างๆในแพลตฟอร์มนี้ รวมถึงยังมี Line Finance ที่ให้บริการอัพเดตข่าวสารการเงิน  

พบว่าข้อมูลการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีของคนไทยในปัจจุบันนั้นใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโมบายมากกว่า 44 ล้านคน ใช้เวลากับสมาร์ทโฟน เฉลี่ย 234 นาทีต่อวัน  และใช้เวลากับไลน์แอพพลิเคชั่น เฉลี่ย 70 นาทีต่อวัน

เฟสบุ๊”เชื่อมแพลตฟอร์มทั่วโลก

รฐิยา อิสระชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี เฟซบุ๊ค ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การใช้งานโทรศัพท์มือถือขยายตัวเพิ่มขี้นรวดเร็ว เพราะมนุษย์ มีการเชื่อมโยง สื่อสารซึ่งกันและกันอยู่เป็นกลุ่ม วันนี้นักการตลาด ควรพิจารณาดู 3 เสาหลักในการสื่อสารกับผู้บริโภค ประกอบด้วย การคิดสร้างสรรค์ และการวัดผล

 สำหรับ เฟซบุ๊ค ได้มุ่งสร้างเครือข่ายแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงคนทั่วโลกให้ได้ 7 พันล้านคน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆของบริษัท และการซื้อ (Acquire) กิจการ  ปัจจุบันก็มียอดผู้ใช้งานจำนวนมากที่ยังคงใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง (บัญชีแอคทีฟ) ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ประกอบด้วย เฟซบุ๊ค ประมาณ 1.8 พันล้านราย WhatsApp มากกว่า 1 พันล้านราย Messengerกว่า 1 พันล้านราย และInstagram มากกว่า 500 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงผู้คนรวดเร็วมาก โดยเฉพาะสถิติความรวดเร็วในการเข้าถึงผู้คน 50 ล้านคนของสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ ใช้เวลา 38 ปี  โทรทัศน์ ใช้เวลา 30 ปี อินเทอร์เน็ต ใช้เวลา 4 ปี    ไอโฟน ใช้เวลา 2 ปี และโปเกมอน โก ที่ใช้เวลาเพียง 19 วัน เข้าถึงคน 15 ล้านคน

 “ยุคDigital Disruptive ที่ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อวงการสื่อ โดยเฉพาะการเสพสื่และใช้งานสื่อดิจิทัลและโมบายมากขึ้น เมื่อเทียบกับอดีตที่คนใช้สื่อทีวีและวิทยุมากกว่า แต่ก็มนุษย์ก็ยังคงถูกเชื่อมโยงกันด้วยการติดต่อและสื่อสาร”