“Sport Management” กับอนาคตกีฬาไทย

“Sport Management” กับอนาคตกีฬาไทย

กระแสเงินหมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมกีฬาในปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีการทำข้อมูลออกมาชัดเจน แต่บรรดาคนทำธุรกิจต่างรู้ดีว่ามีอยู่ระดับ “หมื่นล้านบาท”กลายเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรต่างอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม

หนึ่งในธุรกิจที่บรรดาองค์กรเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจคือ ด้าน “Sport Management” หรือ ให้บริการบริหารสิทธิประโยชน์แก่นักกีฬาแบบครบวงจร

เป็นการดูแลนักกีฬาตั้งแต่การบริหารจัดการรายได้ พัฒนามูลค่าของนักกีฬาในเชิงธุรกิจภาพลักษณ์ ดูแลสิทธิประโยชน์ ตลอดจนการวางแผนด้านการเงินระยะยาว หรือคนทั่วไปเรียกว่า“เอเยนต์นักกีฬา” นั่นเอง

บริษัทเอเยนต์นักกีฬาในประเทศไทย

ปัจจุบันใครที่ติดตามวงการกีฬา โดยเฉพาะ “ฟุตบอล” คงจะคุ้นชื่อของ ฮอร์เก เมนเดส, มิโน ไรโอลา หรือ โฟลเกอร์ สตรุธ เหล่านี้คือเอเยนต์ชื่อดังที่ถือกรรมสิทธ์ดูแลสตาร์ดังระดับโลกมากมาย บางคนสังกัดบริษัท บางคนก็เปิดบริษัทของตัวเอง เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังชีวิตทั้งในและนอกสนามของนักกีฬาอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการดูและสิทธิประโยชน์ของนักกีฬา

กลับมาที่วงการกีฬาไทย จะเห็นได้ว่าฟุตบอลภายในประเทศมีการพัฒนาไปมาก มีการซื้อขายนักฟุตบอลด้วยจำนวนเงินมหาศาล ยังไม่รวมถึงค่าจ้าง การรับงานพรีเซนเตอร์โฆษณา ฯลฯ

ที่ผ่านมาผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ให้กับนักกีฬาไทยส่วนใหญ่ จะเป็นญาติพี่น้อง โค้ช เพื่อนนักกีฬา หรือแม้กระทั่งสโมสรต้นสังกัด ซึ่งบางครั้งก็ยังไม่สามารถดูแลจัดการได้ทั่วถึง นักกีฬาเองก็ต้องการคนมาจัดการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่รวมถึงนักกีฬาต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ต้องการมืออาชีพมาดูแลเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทำให้ตอนนี้เริ่มเกิดบริษัทเอเยนต์นักกีฬาในประเทศกันบ้างแล้ว ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ4 บริษัท คือบริษัท ไทยแลนด์ ฟีฟ่า เอเยนต์ จำกัด,บริษัท ไทย ฟุตบอล เอเจนท์ จำกัด, บริษัท เค.บี. สปอร์ตแมเนจเมนท์ จำกัด และล่าสุดที่กำลังก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้ด้วยคือบริษัท ไอ-สปอร์ต จำกัดที่อยู่ในเครือของกลุ่มสามารถ

“Sport Management”บริหารความเสี่ยงนักกีฬา

หากพิจารณาถึงการแข่งขันด้านธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลนักกีฬาตอนนี้ยังเป็นธุรกิจที่ยังเปิดกว้างสำหรับโอกาส แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะวงการฟุตบอลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ก็อาจะกลายเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูงไม่แพ้ตลาดอื่นๆ ได้ในไม่ช้านี้เช่นกัน

โดยนาย ทวี อุดมกิจโชติ กรรมการผู้จัดการ ไอ-สปอร์ต ได้ให้ความเห็นถึงว่า การที่ในประเทศไทยยังมีผู้ที่ทำธุรกิจดังกล่าวน้อย ที่เหลือคือเป็นลักษณะของคนใกล้ชิดที่เข้ามาดูแล นอกจากนี้ยังมีนายหน้าที่ไม่ได้มีใบอนุญาตรับรอง หรือไม่ได้มาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือพอ

สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาก็คือมีนักกีฬาหลายคนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขาดการดูแลแบบต่อเนื่อง บางคนถึงขั้นถูกหลอกลวง นี่คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสำหรับนักกีฬาในปัจจุบัน

“นักกีฬาของไทยยังมีความผูกพันกับคนใกล้ชิดหรือต้นสังกัด ดังนั้นการจะเสนอตัวเป็นเอเยนต์ โดยตรงจึงลำบาก แนวทางของไอ-สปอร์ต คือรูปแบบ Sport Management ซึ่งไม่ใช่เอเยนต์ที่ดูแต่ผลประโยชน์ แต่เป็นการดูแลนักกีฬาตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง”

ความยากของการเข้าถึงนักกีฬาไทย

จากการที่นักกีฬาของไทยส่วนใหญ่คงมีความผูกพันกับคนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง โค้ชที่เคยดูแลมาตั้งแต่ระดับเยาวชน รวมไปถึงสโมสรต้นสังกัด นี่คือความยากของ Sport Management เพราะการจะเข้าถึงนักกีฬาสักคนหนึ่งก็จำเป็นต้องทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้เห็นพ้องด้วย

แต่ถ้านับเฉพาะหลักการที่ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า กำหนดไว้นั้นการแบ่งเปอร์เซ็นต์จาก “ค่าเซ็นสัญญา” เรตทั่วไปคือ10%แต่ก็มีบ้างที่ได้ส่วนแบ่งจาก “เงินเดือน” หรือได้รับเป็นเงินก้อนตามที่ตกลงไว้แต่แรก ทั้งจากนักฟุตบอลหรือจากสโมสรเอง แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 10% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมด

กระนั้นสำหรับวงการฟุตบอลไทยเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบของฟีฟ่านั้นอาจจะไม่ติดขัดอะไร แต่ด้วยการที่มีผู้ส่วนได้ส่วนเสียอยู่หลายส่วนจึงอาจทำให้การเข้าถึงนักกีฬามีเงื่อนไขอื่นๆเพิ่มเติม

     “สิ่งที่คล้ายกันของทุกบริษัทสำหรับการเข้าถึงนักกีฬาไทยคือการไม่ทำให้ทั้งตัวนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องรู้สึกถูกคุกคาม เมืองไทยยังต้องอาศัยเวลากว่านักกีฬาจะเข้าสู่รูปแบบสากล แต่แน่นอนว่าใครเริ่มได้เร็วก็มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าตลาด” นายทวีกล่าว

     ฟีฟ่าได้ยกเลิก ระบบเอเย่นต์นักฟุตบอลและนำระบบคนกลางขึ้นมาใช้แทนตั้งแต่เดือน เม.ย. 2558 เพื่อขจัดปัญหาต่างๆโดยเฉพาะความโปร่งใส แต่ก็ทำให้รายใหญ่ๆยิ่งมีโอกาสทำรายได้มากขึ้น

ส่วนประเทศไทยเรื่องของ Sport Management ยังคงเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ยิ่งวงการกีฬาในประเทศเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งได้เห็นการเติบโตของเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น