“สื่อเกาหลี” สู่ธุรกิจบันเทิงเต็มรูปแบบในประเทศไทย
ปรากฏการณ์ด้านความบันเทิงของเกาหลีที่แวะเวียนมาพบปะแฟนๆ ชาวไทยอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
จากการรวบรวมงานต่างๆ ที่ศิลปินจากเกาหลีเดินทางมาเมืองไทย ช่วงตั้งแต่เดือนต้นปี 2560 จนถึงเดือนมิถุนายน 2560 เพียง 5-6 เดือนที่ผ่านมา มีงานคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง หรือจะเป็นงานพรีเซ็นเตอร์ของศิลปินเกาหลีในประเทศไทยมากถึง 22 กิจกรรม โดยสามารถแบ่งเป็นคอนเสิร์ตถึง 10 ครั้ง ตามมาด้วยผลพวงจากความนิยมของภาพยนตร์และซีรีส์จนเกิดเป็นแฟนมีตติ้งมากถึง 7 งาน และที่เรียกให้แฟนๆ “เค-ป็อป” กระชุ่มกระช่วยและสามารถสร้างรายได้ให้กับสินค้า ศิลปิน หรือแม้แต่สถานที่ในการจัดงานก็คืองานเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์สินค้าในไทยที่ใช้ศิลปินเกาหลี 5 งานด้วยกัน ซึ่งถ้าดูจากค่าเฉลี่ยแล้วงานของศิลปินของเกาหลีมี 4 งานต่อเดือนเลยทีเดียว จนเรียกได้ว่ามีศิลปินจากประเทศเกาหลีเดินทางมาโชว์ตัว ทำกิจกรรม และมาเยือนเมืองไทยในทุกๆ สัปดาห์
ภาพรวมของกระแสนิยมในเกาหลี ที่มีมาแต่เนิ่นนานและยังไม่มีแน้วโน้มที่จืดจางลง ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายปรากฎการณ์ความนิยมนี้ว่า
"นับตั้งแต่ยุคแรกราวๆ ปีค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ถือเป็นยุคแรกของกระแสนิยมเกาหลี หรือ “เค-เวฟ” ลูกที่ 1 ในรูปแบบซีรีส์ ละคร ภาพยนตร์ โดยในช่วงยุคนั้นมี ซีรีส์ Autumn in my Heart รักนี้ชั่วนิรันดร์ และอีกหนึ่งเรื่อง “แดจังกึมจอมนางแห่งวังหลวง” ที่ตอกย้ำโคเรียฟีเวอร์มากขั้นถึงขนาดที่เริ่มมีความนิยมของวัฒนธรรมการกินอาหารเกาหลี ซึ่งกว่าที่กระบวนการผลิตสื่อบันเทิงจะเข้าใจในการตลาดและความต้องการของผู้บริโภคในช่วงนั้นต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ในการตรวจสอบตลาดอุตสาหกรรมบันเทิงและความต้องการของผู้บริโภคในโซนเซาท์อีสเอเชีย โดยผู้ผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีเข้าใจแล้วว่า ธุรกิจบันเทิง “เค-ดราม่า” ของเกาหลีนั้นสามารถตีตลาดวงกว้างได้ และไม่ใช่แค่เพียงที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ ไต้หวัน เท่านั้น แต่ยังสามารถออกมาตีตลาดไปทางยุโรปบ้าง
จนต่อมาเริ่มขยายวงกว้างมาที่คลื่นลูกที่ 2 คือ ความนิยมศิลปิน ดนตรี หรือที่รู้จักกันว่าเป็น "เค-ป็อป" และกระแสนิยมยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงปรากฎการณ์ใหม่ๆ คือ ก้าวข้ามมากกว่าความบันเทิงมาสู่วัฒนธรรมเกาหลี หรือ "เค-เคาล์เจอร์" ซึ่งรวมทั้งเรื่องภาษา และที่กำลังมาแรงคือ เรื่องอาหารการกิน"
การเติบโตของธุรกิจอาหารเกาหลีนี้มีมากกว่าการผันตัวของศิลปินมาเพื่อต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ชี้ให้เห็นว่าหากพิจารณาตามรูปแบบของ “เค-เวฟ” แล้ว ในด้านอาหารนี้ก็ขยับบทบาทและฐานะของผู้บริโภคชาวไทยเข้าใกล้วัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้น
“อธิบาย เค-เวฟ ในด้านอาหารที่มาจาก ซีรีส์ ละคร ที่ทำให้ผู้ชมชาวไทยรู้จัก จนยุค 2.0 ที่ศิลปินดาราทำให้ผู้บริโภคไทยใกล้ชิดมากขึ้นและรู้สึกว่าแตะต้องได้ อาหารเกาหลีในไทยจากเดิมมีแค่ ‘โคเรียทาวน์’ ก็ขยายมากขึ้นจนยุค 3.0 ที่วัตถุดิบเข้ามาจนผู้บริโภคชาวไทยเรียนรู้และเป็นผู้ผลิตได้”
อย่างไรก็ตาม ศิลปวัฒนธรรมของเกาหลียัังคงเติบโตต่อไปและคาดการณ์ว่าในอนาคตคลื่นลูกถัดไป สินค้าจากเกาหลีจะไม่เพียงวัฒนธรรมแต่คือรูปแบบและวิถีชีวิตแบบที่เรียกว่า “เค-สไตล์” การส่งออกทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งนี้ นอกจากเราคนไทยที่จะเป็นผู้บริโภคที่ดีแล้ว ก็ควรศึกษาแม่แบบการสร้างและส่งเสริมในเรื่องการส่งออกทางวัฒนธรรม ดร.ไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเราจะให้ความสำคัญในฐานะกับที่เราเป็นองค์ประกอบ ที่เป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เราน่าจะเรียนรู้จากเกาหลีได้สักส่วนหนึ่งในช่วงที่ศิลปวัฒนธรรมของเกาหลียังคงเติบโตในไทย ไม่ใช่เพียงสินค้าทางวัฒนธรรม แต่เป็นรูปแบบและวิถีชีวิตแบบที่เรียกว่า “เค-สไตล์”
การขับเคลื่อนของสังคมไทยจึงไม่ควรหยุดเพียงผู้บริโภค หากแต่ต้องเติบโตและพัฒนาแนวทางของตนเองเพื่อสร้างมูลค่าให้กับวัฒนธรรม