แต้มต่อออริจินัล ‘My Cloud’

แต้มต่อออริจินัล  ‘My Cloud’

ความฝันของ “My Cloud” ก็คือ ต้องการจะเป็นฮี่โร่ช่วยเอสเอ็มอีไทยบุกตลาดได้ทุกที่ทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยสโลแกน “ใครๆก็สามารถขายของ และ จัดการร้านค้าได้ง่ายๆ ด้วยระบบ MyCloudFulfillment

สุดท้ายไม่ใช่ไอเดียที่แปลกใหม่ เพราะสตาร์ทอัพที่ชื่อ "My Cloud" (มาย คลาวด์) พบว่าหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอยู่ตรงที่ความได้เปรียบ แต้มต่อที่เหนือกว่าคนอื่น หรือ "Unfair Advantage"


ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “Fulfillment” หรือเชื่อมโยงระบบการจัดการสินค้า ตั้งแต่การนำเข้าคลังสินค้า การแพ็คสินค้า และการจัดส่ง ทำให้การให้บริการขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมันก็คือธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวผู้ร่วมก่อตั้งก็คือ “นิธิ สัจจทิพวรรณ”


แม้ว่าอินเตอร์เน็ตหรือ ออนไลน์กำลังมา Disrupt หรือเปลี่ยนธุรกิจแบบเดิมๆ จากการย่อโลกให้เล็กลงทำให้สามารถเชื่อมต่อคนทั้งโลกได้เพียงแค่เสี้ยววินาที และสร้างรูปแบบการค้าขายใหม่ๆ ทว่าจะมีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่อาจยังมีชีวิตอยู่ได้ไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ นั่นคือ การขนส่ง


เพราะระยะทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ หรือกรุงเทพไปญี่ปุ่น ก็ยังเท่าเดิม ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีใครคิดค้นวิธีหรือเครื่องมือที่ทำให้สินค้า “วาร์ป” เดินทางจากที่หนึ่งไปโผล่อีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วเหนือแสงได้ ที่สุดแล้วก็ย่อมต้องอาศัย “คลัง” และ “คน” เพื่อช่วยในการขนส่งอยู่ดี


และกว่าจะเป็น My Cloud นิธิร่วมกับ “ธฤษ ตัณฑเสถียร” เพื่อนจากสถาบัน “Babson College” ที่ได้รับความยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกด้านการสร้างผู้ประกอบการเริ่มต้นกันที่ธุรกิจจิวเวลลี่ออนไลน์มาก่อน


"สาเหตุมาจากพวกเราเปิดดูนิตยสารธุรกิจ Inc.ไล่ดูแล้วได้พบว่าจิวเวลลี่อยู่ในอันดับสองของธุรกิจที่น่าทำมากที่สุด ซึ่งตลาดเมืองไทยถือว่าใหญ่มากๆ แต่พอทำไปสักพักก็รู้ว่ามันเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ทั้งเงิน และเวลาเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก อีกทั้งช่วงเวลาที่เราทำคือย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว คนไทยเองก็ยังไม่พร้อมจะซื้อของแพงๆบนออนไลน์"


ยอมรับว่าการทำธุรกิจจิวเวลลี่ออนไลน์ถือเป็นการดิ้นรนที่เพื่อแสวงหาโอกาสในโลกยุคใหม่ ทางกลับกันก็ทำให้พวกเขารู้ว่าโอกาสนั้นมีอยู่น้อยมากหากทำธุรกิจโดยปราศจากจุดแข็งที่จะทำให้อยู่เหนือกว่าคนอื่น


อย่างไรก็ดี แม้ถือว่าธุรกิจนี้ไม่สำเร็จ ในอีกมุมก็กลับช่วยทำให้ได้เห็นถึงความเข้มแข็งของธุรกิจเดิมของครอบครัวที่เข้ามาช่วยซัพพอร์ตในการจัดเก็บ แพ็คและจัดส่งจิวเวลลี่ ซึ่งช่วงเวลานั้น พวกเขาเองมองเห็นถึงเทรนด์การเติบโตของธุรกิจ Fulfillment ที่สหรัฐอเมริกาแล้วเช่นกัน แต่แน่นอนว่าตลาดเมืองไทยก็คงเป็นอะไรที่มาก่อนเวลา


"พวกเรามาฟอร์มแนวทางกันในปี 2557 แต่ลงมือทำกันจริงๆ เมื่อปี 2558 โดยเริ่มทดลองกับร้านค้าออนไลน์เล็ก ๆก่อน เพราะคิดว่าน่าจะดูแลได้ง่าย แต่ปรากฏว่ากลับดูแลได้ยากกว่า เพราะสินค้าแต่ละชนิดที่เขาขายมีไม่กี่ชิ้น จึงมักไม่ค่อยตรวจสอบคุณภาพของสินค้าก่อนนำเข้าคลังสินค้า สรุปว่าเขาก็เป็นมือใหม่เหมือนกับเราก็เลยเกิดปัญหาขึ้นเยอะ แต่มันช่วยทำให้เราเห็นแพทเทิร์นว่า เราควรต้องทาร์เก็ตลูกค้ากลุ่มไหน ควรให้บริการอะไรบ้างที่เราจะรับผิดชอบได้จริงๆ ควรต้องคิดราคาเท่าไหร่ เราก็ค่อย ๆเชฟมันออกมาได้"


ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ My Cloud จึงไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าทำนองมือใหม่หัดขับ แต่ต้องทำธุรกิจมาประมาณหนึ่ง คือต้องเคยผ่านการลงมือทำกระบวนการต่างๆมาก่อน ทั้งเช็คสินค้าตรวจตราคุณภาพเป็น รู้ว่าต้องแพ็คอย่างไร ต้องส่งช่องทางใด ฯลฯ


"ลูกค้าเราจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่กำลังเติบโต และพบปัญหาตรงที่เขาไม่มีเวลาเพียงพอ เมื่อก่อนเขาแพ็คเอง ส่งเอง แต่พอธุรกิจขยายตัว เขาก็ทำเองไม่ทัน เมื่อธุรกิจกำลังอยู่ในสเตทนี้เขาควรจะเอาเวลาไปทำการตลาด การขายแทนที่จะมานั่งทำเรื่องหลังบ้านด้วยตัวเอง"


ปัญหาสุดคลาสสิค 10 ข้อ ที่พวกเขารวบรวมมาเพื่อแสดงว่าธุรกิจขายของออนไลน์ที่กำลังอยู่ในขาขึ้นต้องประสบพบเจอ ได้แก่ 1.ขาดระบบการจัดการที่ดี ทุกอย่างมั่วปนเปไปหมด 2.ถ้าต้องสร้างคลังเอง ต้องลงทุนมหาศาล 3.ลูกค้ามากมาย ทำออร์เดอร์ส่งได้ช้า 4.หยิบสินค้าผิด แพ็คสินค้าพลาด ส่งผิด 5.ไม่มีเวลาคิดต่อยอดธุรกิจ 6.สต็อกปน หาของไม่เจอ 7.ขายของหลายช่องทาง แทนที่จะปังกลับพัง 8.ปวดหัวกับการจัดการลูกน้อง 9.เอกสารท่วมหัวเอาตัวไม่รอด และ10.ออร์เดอร์เหวี่ยงขึ้น ๆลง ๆ


โดยความฝันของ “My Cloud” ก็คือ ต้องการจะเป็นฮี่โร่ช่วยเอสเอ็มอีไทยให้บุกตลาดได้ทุกที่ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ด้วยสโลแกน “ใครๆก็สามารถขายของ และ จัดการร้านค้าได้ง่ายๆ ด้วยระบบ MyCloudFulfillment


โดยจะมีบริการหลัก ๆอยู่ 3 บริการด้วยกัน นั่นคือ 1.บริการเก็บของ เป็นแวร์เฮาส์ระบบปิด ปลอดฝุ่น ไม่ร้อนอบอ้าว ทำการตรวจสอบการรับเข้า และจัดเข้าชั้นวางสินค้าที่มีระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง มีการรับประกันสินค้า อีกทั้งลูกค้าสามารถตรวจเช็คสต็อคสินค้าได้ ทุกที่ ทุกเวลาบนระบบออนไลน์ 2. บริการแพ็คสินค้า ตามออร์เดอร์ที่กำหนด ป้องกันการเสียหายและ จัดเตรียมให้ถูกต้องตามขั้นตอนของแต่ละช่องทางการขาย มีขั้นตอนการตรวจสอบอย่างละเอียด และ 3. การจัดส่ง ทุกช่องทางตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะส่งทางไปรษณีย์ , Kerry, นิ่มซี่เส็ง, พัสดุภัณฑ์ไทย, Lalamove ฯลฯ พร้อมกับจัดส่ง Tracking Number เพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะการจัดเตรียมและส่งของแต่ละออเดอร์ได้ทุกที่ ทุกเวลาเช่นเดียวกัน


“แรกๆ เราก็เกือบพลาด เคยมีพวกแชร์ลูกโซ่จะมาใช้ชื่อเราเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ต้องระมัดระวังปัจจุบันเราจะมีสัญญากับลูกค้าที่ละเอียดมาก เราต้องรู้และมั่นใจว่าสินค้าที่เข้ามาในคลังเป็นอะไร ต้องเป็นสินค้าที่ถูกต้อง ได้รับมาตรฐานอย.หรือมอก. ไม่เป็นสินค้าอันตราย เพราะกฏหมายไทยยังไม่รองรับการทำธุรกิจแบบนี้มากนัก เราจึงต้องโปรเท็คตัวเองเต็มที่ให้มากที่สุด”


ปัจจุบันลูกค้าของ My Cloud มีอยู่ 120 ราย หลักๆจะขายสินค้ากลุ่ม อิเล็คทรอนิกส์ ,ซัพพลีเมนท์หรือพวกอาหารลดความอ้วน อาหารเสริมต่างๆ, กลุ่มสินค้าบิวตี้และแฟชั่น ทั้งยังคาดหวังว่ารายในปีนี้น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายคือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท


พวกเขามองว่า แนวโน้มภาพรวมธุรกิจค้าปลีกนั้นเป็นเรื่องของ “ออมนิชาแนล” ผู้ที่อยู่ในธุรกิจจึงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะต้องเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่ต้องใช้ทุกช่องทางเพื่อตอบสนองกับ Customer Journey เส้นทางหรือแนวทางในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าในยุคดิจิทัล


"สุดท้ายแล้วการซื้อของมันไม่มีออนไลน์หรือออฟไลน์ พอลูกค้าเห็นโฆษณาของเราบนเฟซบุ๊ค เขาก็อาจเดินไปดูของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต และไลน์ไปถามเพื่อนว่าสินค้าดีไหม แล้วไปดูรีวิวต่อที่พันทิป จากนั้นก็ไปดูราคาอีกทีที่ลาซาด้า สุดท้ายเขากลับซื้อที่ช้อปปี้ ถ้าคุณไม่ไปอยู่ในจุดที่เขาเดินผ่านและค้นหา คุณก็ขายของไม่ได้"


ส่วนแผนในอนาคตของ My Cloud นั้น พวกเขาบอกว่าจะเป็นเรื่องการนำเอาดาต้ามาวิเคราะห์เพื่อเจาะลึกถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นรายบุคคล ซึ่งช่วยทำให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการได้ตอบโจทย์ความต้องการได้ดียิ่งขึ้น ยังมีเรื่องของการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ รวมถึงการรุกไปยังกลุ่มลูกค้านักธุรกิจต่างประเทศที่สนใจมาทำตลาดเมืองไทยด้วย


"ต้องบอกว่าเรากำลังมองหาเงินทุนอยู่ ที่ต้องการคือวีซีหรือนักลงทุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือเสริมในเรื่องคอนเน็คชั่น เรามองหาคนมาช่วย มาวางแผนไปด้วยกัน ไม่ใช่คิดมาลงเงินแล้วเร่งโต เพราะเราต้องการจะค่อยๆเติบโตไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ถ้ากระโดดเร็วไป ก้าวเร็วไปก็กลัวพลาด ซึ่งที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้ทำการตลาดอะไรเลยแต่ก็ยังโตได้สิบเท่า "