เครื่องช่วยฟัง-แอพช่วยสื่อสาร สิ่งประดิษฐ์ขายได้

เครื่องช่วยฟัง-แอพช่วยสื่อสาร สิ่งประดิษฐ์ขายได้

เครื่องช่วยฟังควบคุมด้วยคลื่นสมอง - แอพพลิเคชันช่วยการสื่อสารสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ผลเด่นในงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562

เครื่องช่วยฟังควบคุมด้วยคลื่นสมอง - แอพพลิเคชันช่วยการสื่อสารสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ตัวอย่างชิ้นงานเด่นในงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชิงเงินรางวัลกว่า 1 ล้านบาท


งานประกวดฯ จัดขึ้นวันที่ 24-25 ก.ย.ที่ห้องประชุม วช.มีผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วม 150 ผลงานใน 9 สาขา เช่น สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาสังคมวิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย เป็นต้น รางวัลแบ่งเป็น 5 ระดับตั้งแต่ระดับดีเด่นจนถึงชมเชย ส่วนพิธีมอบรางวัลจะจัดในงานวันนักประดิษฐ์ 2 ก.พ.ของทุกปี ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค


2 เทคโนโลยีลดเหลื่อมล้ำ

เครื่องช่วยฟังควบคุมด้วยสัญญาณสมอง ผลงานโดย “อนุกูล น้อยไม้” นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาการได้ยินซึ่งอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ อุบัติเหตุรวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการรับฟังเสียงที่ชัดเจนขึ้น ขณะนี้มีบริษัทเอกชนติดต่อขอรับถ่ายทอดผลงานวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ คาดว่าไม่เกิน 1 ปีจะสามารถออกสู่ตลาด
เครื่องช่วยฟังทั่วไปจะต้องกดปุ่มปิดเปิดเมื่อต้องการใช้งาน ซึ่งไม่สะดวกเท่าที่ควร ทีมงานจึงมีแนวคิดพัฒนาเครื่องช่วยฟังที่ทำงานร่วมกับ EEG sensor ซึ่งจะตีความสภาวะการทำงานของสมอง เพื่อปรับคุณภาพเสียงที่ได้ยินโดยอัตโนมัติ


“ส่วนแนวทางการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด โดยทางผู้ประกอบการจะระบุรายละเอียดของฟังก์ชันที่ต้องการ จากนั้นนักวิจัยทำการพัฒนาและทดสอบให้ตอบโจทย์ได้มากที่สุด” อนุกูล กล่าว 


  ขณะที่ผลงานแอพพลิเคชันช่วยเหลือการสื่อสารสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องในการได้ยิน พัฒนาโดย กรรณ จรรยาวุฒิวรรณ อาจารย์ประจำสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช (มสธ.) ที่ต้องการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาจึงเริ่มจากการใช้สื่อโซเชียลที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กในยุคนี้เข้ามาเป็นช่องทางในการสื่อสาร โดยเริ่มจากการพัฒนาคลิปวิดีโอให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว เช่น ทักษะการขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส การติดต่อกับหน่วยงานราชการ การติดต่อกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานให้การให้บริการสุขภาพ เป็นต้น


  จากนั้นพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อช่วยเหลือด้านการสื่อสาร ซึ่งออกแบบให้มีลักษณะเป็น Universal Design นอกจากผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินจะนำไปใช้ติดต่อสื่อสารแล้ว บุคคลทั่วไปก็สามารถนำไปใช้ได้ด้วย เป็นการผสมผสานสื่อในสังคมออนไลน์ที่ตอบโจทย์และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม


“2 ปีที่ผ่านมาได้รับผลการตอบรับมากขึ้น อนาคตจะขยายไปเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้ที่บกพร่องในการได้ยินมากขึ้น เช่น การเรียนด้านกราฟิกจากเดิมที่ผู้บกพร่องฯ ส่วนใหญ่มุ่งเรียนการทำอาหาร การเรือน ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ความสนใจเด็กรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังสอนเรื่องมารยาทการใช้สื่อออนไลน์และการเข้าสังคมที่เหมาะสม จากเดิมที่มีการแนะนำเรื่องเหล่านี้น้อยจนทำให้เกิดความแปลกแยก แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย” กรรณ กล่าว


วิจัยมีประโยชน์ขายได้


ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนด้านการวิจัยเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ ที่ต้องการพัฒนาฐานรากของการวิจัย โดยการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและสนับสนุนนักวิจัย นักประดิษฐ์ในการพัฒนาผลงานให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ
ในปีนี้เน้นการวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริงและขายได้ ที่สำคัญก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ยกตัวอย่าง งานวิจัยที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์วัดกระดูกสันหลังค่อมโดยใช้ระยะผนังและลำแสงอินฟาเรดในการตรวจ เพื่อให้ทราบปัญหาของภาวะกระดูกค่อมและความเสี่ยงกระดูกสันหลังหัก นอกจากนั้นยังเก็บเป็นข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ทางคลินิกได้อีกด้วย รวมถึงอุปกรณ์ให้ข้อมูลป้อนกลับทางสายตาเกี่ยวกับการลงน้ำหนักที่ขาขณะเคลื่อนไหวในท่าต่างๆ เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบว่า สามารถลงน้ำหนักได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถควบคุมด้วยโปรแกรมทางโทรศัพท์ สามารถถอดประกอบได้ เป็นต้น


“ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามปลดล็อกปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำงานวิจัย เช่น การส่งเสริมให้เปิดตลาดภาครับให้กับนวัตกรรมไทย การสนับสนุนเงินทุนในการทำมาตรฐานให้กับผลงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับ คาดว่าจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้นักวิจัยสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว