รุ่นใหม่วางแผนชีวิตก่อนแก่ ดัน"ธุรกิจประกัน"รุ่ง..!!
เศรษฐกิจดีหรือแย่ ค่ารักษาพยาบาลไม่เคยลดลง !! บ่งชี้ผ่าน“คนยุคใหม่”เริ่มวางแผนชีวิตก่อนแก่ ผลักดัน“ประกันชีวิต & สุขภาพ” ขึ้นแท่นหนึ่งธุรกิจมหัศจรรย์“โตโดดเด่น” เอกชนขานรับปัจจัยบวกเพียบ ทั้งฐานลูกค้ายังต่ำ นโยบายลดหย่อนภาษี
“เราไม่สามารถต่อรองค่ารักษาพยาบาลได้” คงเป็นหนึ่งในสาเหตุให้ “คนยุคใหม่” หันมาให้ความสำคัญกับค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยมากขึ้น สอดคล้องกับปัจจุบันไทยกำลังย่างเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) ประกอบกับพฤติกรรมคนยุคใหม่ครองตัวอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือแม้แต่มีครอบครัว มีลูก แต่ว่าคนยุคใหม่เลือกพึ่งพาลูกได้น้อยลง ขณะที่มีความเสี่ยงโรคร้ายมีมากขึ้น...!!
ต้องทำประกันสุขภาพ !! คือสิ่งที่คนยุคใหม่กำลังตระหนักถึง ส่งผลให้ประกันชีวิต กลายเป็นธุรกิจที่“โดดเด่น” โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หากไม่อยากลำบากตอนแก่ ต้องเริ่มวางแผนกันตั้งแต่อายุน้อยๆ
โดยสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556–2560) พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราเติบโตของเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 11.31 % ขณะที่ในปัจจุบัน (ม.ค.– มิ.ย.2561) ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันสุขภาพ 41,087.395 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันสุขภาพจากประกันชีวิต 36,060.35 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 87.76 %
หนึ่งในเหตุผลที่คนสนใจซื้อประกันสุขภาพกันมากขึ้น เนื่องมาจากต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ย “ราว 8%” รวมถึงการรับมือกับโรคร้าย ประกอบกับต้องการได้รับบริการทางการแพทย์ที่สะดวกและรวดเร็ว สามารถรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำให้สวัสดิการที่มีอยู่เดิม หรือสิทธิอื่นๆ อาจไม่เพียงพอ
ธุรกิจประกันชีวิต จึงกำลังเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจสูง ซึ่งในไทยจะมีบริษัทประกันชีวิตมากถึง 24 บริษัท แต่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีหุ้นประกันชีวิตให้เลือกลงทุนเพียง 2 บริษัท นั่นคือ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA และ บมจ.ไทยรีประกันชีวิต หรือ THREL
หากพิจารณา “หุ้นกลุ่มประกันชีวิต” มีลักษณะเป็นหุ้นเติบโตได้ดีในระยะยาว ทั้งในแง่ของ“รายได้และกำไร”ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการเติบโตในอนาคต อาทิ รายได้ต่อหัวคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น , ความต้องการการออมทางเลือก , ความต้องการหลักประกันชีวิต , ฐานการทำประกันชีวิตที่ยังโตได้อีกมาก และนโยบายสนับสนุนของรัฐในการลดหย่อนภาษี เป็นต้น
ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2558-2560) ของ BLA และ THREL พบว่าโดยเฉลี่ยมีกำไรและรายได้เติบโตน่าพอใจ โดย “หุ้น BLA” มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,108.20 , 5,110.30 และ 3,635.39 ล้านบาท ด้านรายได้ 55,509.16 , 55,482.25 และ 56,276.81 ล้านบาท ตามลำดับ “หุ้น THREL” มีกำไรสุทธิ 388.67 , 321.75 , 435.68 ล้านบาท รายได้ 1,891.27 , 2,058.01, 2,220.33 ล้านบาท ตามลำดับ
ล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2561 BLA และ THREL มีกำไรสุทธิ 3,982.18 ล้านบาท และ 237.37 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 42,528.46 ล้านบาท และ 1,968.16 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาพฤติกรรมของคนยุคใหม่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพบว่า ประเทศญี่ปุ่นทำประกันชีวิตมากกว่า 100% หมายความว่า คน 1 คน ถือกรมธรรม์มากกว่า 1 กรมธรรม์ ขณะที่เมืองไทยยังมีสัดส่วนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ “แค่ระดับ 33%” เท่านั้น
สะท้อนว่าธุรกิจประกันในเมืองไทยยังสามารถเติบโตอีกมาก !!
สอดคล้องกับ “สมาคมประกันชีวิตไทย” เผยตัวเลขธุรกิจประกันชีวิตไทย 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.ปี 2561) มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 312,530.24 ล้านบาท อัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 5.01% แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 89,970.03 ล้านบาท เติบโต 8.47% และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 222,560.22 ล้านบาท เติบโต 3.68% อัตราความคงอยู่ที่ 84%
โดยเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ ประกอบด้วย “เบี้ยประกันชีวิตปีแรก” มีจำนวน 46,347.39 ล้านบาท “เบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว” จำนวน 43,622.63 ล้านบาท ซึ่งมาจากช่องทางธนาคารเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 48.39% โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 151,236.67 ล้านบาท เติบโต 6.13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป็นผลจากการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบ “จ่ายครั้งเดียว” (Single Premium) ที่ขายผ่านช่องทางธนาคารมีการขายมากเป็นพิเศษ รองลงมาคือ ช่องทางตัวแทนประกันชีวิต สัดส่วน 44.61% มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 139,415.18 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2.35% การขายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น โบรกเกอร์ , ระบบอินเตอร์เน็ต , เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือเดินเข้ามาซื้อด้วยตัวเอง สัดส่วน 4.74% มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 14,827.25 ล้านบาท เติบโต 34.01% และการขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง สัดส่วน 2.26% มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 7,051.13 ล้านบาท เติบโตลดลง10.04%
ขณะที่ ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 สมาคมประกันชีวิตไทย วางเป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมปี 2561 อยู่ที่ 4-6% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศไทยในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 39% เท่านั้น อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีความคุ้มครองและการวางแผนการเงินเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
รวมถึงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ โดยกรมสรรพากรให้สิทธิผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อนำมารวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดที่ 100,000 บาท นับเป็นแรงจูงใจสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคธุรกิจ อาทิ การปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารการขายของแต่ละบริษัทประกันชีวิตให้มีความเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายต่อเนื่อง และเหมาะสมกับบุคคลในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการพัฒนาการให้บริการที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
สนับสนุนให้ความรู้ด้านการประกันชีวิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เข้าถึงประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยบวกที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจ
ด้าน “เชน เหล่าสุนทร” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง หรือ WPH เล่าให้กับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนไทยหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากที่ผ่านมามีโปรโมชั่นให้กับคนไข้ที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ออกมามาก เพื่อเป็นการดึงดูดให้คนไข้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลมากขึ้น โดยเริ่มเห็นสัญญาณในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนไทยบางแห่งได้รับผลกระทบจากสัดส่วนคนไข้ต่างชาติลดลง
ทั้งนี้ หากดูในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่าสัดส่วนคนในประเทศที่มีการทำประกันชีวิตพวงด้วยประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรงสัดส่วนสูงมากกว่า 100% นั่นหมายความว่า ประชากรหนึ่งคนมีกรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพมากกว่า 1 กรมธรรม์ขึ้นไป
“ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่ง เล็งเห็นการเติบโตของกลุ่มคนไข้ประกันสุขภาพมากขึ้น สะท้อนผ่านการปรับกลยุทธ์หันมาจับตลาดคนไข้กลุ่มนี้กันมากขึ้น ทั้งมีโปรโมชั่นดึงดูต่างๆ ออกมา”
“อัญชลิน พรรณนิภา” ประธานบริษัท บมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TQM ผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการนายหน้าประกันภัยปัจจุบันมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก 2 บริษัท ได้แก่ TQM Broker ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย และ TQM Life ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันชีวิต เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมของธุรกิจประกันมีอัตราการเติบโตในระดับดีต่อเนื่อง มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันทำให้โอกาสเติบโตมีมาก รวมทั้งอัตราการทำประกันภัยและประกันชีวิตในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยข้อมูลรายงานธุรกิจประกันประจำปี 2559 ของ “สวีส รีอินชัวร์รัน” ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำของโลก พบว่า ธุรกิจประกันของประเทศในทวีปเอเชีย โดยในไทย มีสัดส่วนเบี้ยประกันรับรวมทุกประเภทต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Insurance Penetration) ที่ 5.42% หากพิจารณาเบี้ยประกันภัยต่อคน (Insurance Density) พบว่า ไทยมีเบี้ยประกันภัยต่อคน (Insurance Density) เพียง 323.4 ดอลลาร์ต่อคน (GDP) ต่อจำนวนประชากร ต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสให้บริษัทได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมประกันที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกในอนาคต โดยกลุ่มบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัย จึงไม่มีความเสี่ยงด้านการดำรงเงินกองทุนฯและการบริหารผลตอบแทนจากเบี้ยประกันภัย
“ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกิจนายหน้าประกันภัย ท้าทายมากขึ้น ซึ่งบริษัทเห็นโอกาสนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ดีมากยิ่งขึ้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลการดำเนินและรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัยให้แก่บริษัท อย่างยั่งยืน” เขาย้ำให้ฟัง
“ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น” ปัจจุบัน บริษัทแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 4 ด้าน คือ “ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย” ให้บริการผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (TQM Broker)โดยมีการขายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยทั้งสิ้นกว่า 130 ผลิตภัณฑ์ ทั้งในกลุ่มประกันรถยนต์ (Motor) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และกลุ่มประกัน Non-Motor ในรูปแบบประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันวินาศภัยเบ็ดเตล็ด เป็นต้น
“ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต” ดำเนินธุรกิจผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม ไลฟ์ อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (TQM Life) ซึ่งมีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตทั้งสิ้นกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมทั้งประกันชีวิตประเภทรายบุคคลและประกันชีวิตประเภทกลุ่ม “ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์” ผ่านบริษัท แคสแมท จำกัด (Casmatt) ซึ่งครอบคลุมการให้คำปรึกษาด้านกระบวนการทางธุรกิจ งานวิจัยตลาดดิจิตอล เป็นต้น และ “ธุรกิจให้บริการด้านคำแนะนำเกี่ยวกับประกันภัย” ผ่านบริษัท ทีคิวแอลดี จำกัด (TQLD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม เพื่อเป็นช่องทางให้กับลูกค้าในการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลา ผ่านรูปแบบการกรอกข้อมูลของลูกค้า
โดยปัจจุบัน กลุ่มบริษัทมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทประกันภัยกว่า 40 แห่ง มีพนักงานขายที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยให้บริการกว่า 2,000 คน ผ่านสาขาและศูนย์บริการทั่วประเทศรวม 95 แห่ง ที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
ล่าสุด TQM อยู่ระหว่างการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ชำระแล้ว 225 ล้านบาทมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น ในจำนวนนี้จะจัดสรรให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานบริษัท และ/หรือพนักงานบริษัทย่อย (ESOP) จำนวนไม่เกิน 11.25 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายทั้งหมด และส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป
โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยจะระดมทุนเพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงการสำหรับปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจ โดยลงทุนในระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) การเพิ่มทุนชำระแล้วในบริษัทแกน ได้แก่ TQM Broker และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัท
-----------------------------
รุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพียบ
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เบาหวานเบทเทอร์แคร์ (Bao Wan BetterCare)” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก พร้อมจับมือพันธมิตรด้านสุขภาพตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างครบถ้วน และนับเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่เกิดขึ้นในธุรกิจประกันชีวิต ภายใต้ Insurance Regulatory Sandbox ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาระบบประกันภัยในประเทศไทยให้พัฒนาและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ออกประกันสุขภาพตัวใหม่ชื่อ “ซูเปอร์ แคร์” (Super CARE) เพื่อต้องการให้ลูกค้าเข้าใจผลประโยชน์ได้ง่ายและชัดเจนขึ้นกรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดยไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายการผ่าตัดที่คำนวณเปอร์เซ็นต์ตามประเภทของการผ่าตัด เราต้องการให้ลูกค้าของเราเข้าใจความคุ้มครองประกันสุขภาพ เพื่อช่วยให้เขาสามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น ในเวลาเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ตอกย้ำผู้นำผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพ เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จ พร้อมขยายบริการสู่กลุ่มลูกค้า ที่มีกำลังซื้อสูง หวังตอบโจทย์ความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เหนือระดับ ล่าสุด ร่วมกับ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีกลุ่มโรงพยาบาลในเครือรวม ทั่วประเทศไทยและกัมพูชา พัฒนาบริการพร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “ประกันสุขภาพ เฟิร์สคลาส @บีดีเอ็มเอส” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพที่ครอบคลุมทุกการรักษาพยาบาล อาทิ ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน ทันตกรรม คลอดบุตร สายตา บริการดูแลตลอดการเจ็บป่วย บริการช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ และสิทธิประโยชน์เหนือระดับอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก ก็ได้รับบริการระดับเฟิร์สคลาส โดยให้วงเงินประกัน สูงสุด 100 ล้านบาทต่อปี
เอไอเอ (ประเทศไทย) เปิดตัวสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ “ประกัน H&S Extra” เด่นที่ให้ความคุ้มครองกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ถือเป็นครั้งแรกของเอไอเอที่ทำ และรับประกันอายุตั้งแต่ 1 เดือน ซึ่งหากไม่มีเคลมทุกกรณี รับเงินคืนสูงสุดมากกว่า 25% ประกันตัวนี้จะครอบคลุมการรับประกันเด็ก ซึ่งเป็นตลาดที่ท้าทายเพราะเคลมค่อนข้างสูง แต่เราก็ได้ศึกษาตลาดกลุ่มนี้มาค่อนข้างดี จึงมีข้อจำกัดด้านการรับความเสี่ยงนี้ เช่น เด็กอายุ 1 เดือน-5 ปี ให้ความคุ้มครองค่าห้อง 5,000 บาท เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ให้ความคุ้มครองค่าห้อง 25,000 บาท
--------------------------------
โบรกมอง“หุ้นประกันสุขภาพ”โต
บริษัทหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง ระบุว่า คาดกำไรสุทธิ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA ไตรมาส 3/2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 900 ล้านบาท พลิกจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 260 ล้านบาท เนื่องจากจะไม่มีการตั้งสำรองประกัน LAT เช่นเดียวกันปีก่อน
ยังแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 61 ที่ 49 บาท อ้างอิงจาก Embedded value 43.3 +VNB 5.8 บาท ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นในปีนี้ และยอดขาย BLA มากกว่าคาดจะเป็นตัวหนุนอัพไซด์เพิ่มอีก
ขณะที่ มอง บมจ. ไทยรีประกันชีวิต หรือ THREL คาดว่ากำไรช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการเคลมค่าใช้จ่ายสินไหมและค่ากำเน็จ (commission) ที่ลดลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ทั้งนี้ราคาหุ้นของ THREL ลดลง 25% มาอยู่ที่ 8.05 บาท จากราคาหุ้นในปัจจุบันส่งผลให้อัตราเงินปันผลอยู่ที่ 4.9% ในปี 2561 และ 5.5% ในปี 2562 ทั้งนี้ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จาก “ขาย” เป็น “ซื้อ” เนื่องจากการดำเนินงานที่อยู่ในวงจรขาขึ้นในครึ่งหลังของปีและอัตราจ่ายปันผลที่ดีขึ้น ปีนี้และปีหน้า
บล.ฟินันเซีย ไซรัส วิเคราะห์ว่า ปรับเพิ่มกำไรสุทธิปีนี้เป็น 4.8 พันล้านบาท โต 32.2% จากปีก่อน เนื่องจากกำไรไตรมาส 2/61 ที่ดีกว่าคาด แต่ครึ่งหลังปีนี้จะชะลอตัวลงจากผลกระทบของ AIA และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสินไหมและการครบอายุของกรมธรรม์ที่มากขึ้น ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/62 ที่มีสินไหมครบอายุก่อนใหญ่ราว 1 หมื่นล้านบาท
แนะนำ “ถือ” คงราคาพื้นฐานไว้ที่ 37.5 บาท แม้จะปรับประมาณการกำไรขึ้น แต่ความเสี่ยงต่อรายได้ยังส่งผลกระทบอยู่
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงาน BLA ในไตรมาส 3/61 คงทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจะได้รับผลกระทบจาก AIA มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่แผนเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายเป็นช่องทางขายหลักเพื่อทดแทนธนาคาร ต้องใช้เวลาถึงปี 64 ทำให้แนวโน้มเบี้ยรับในอนาคตยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด