สนช. ผ่าน กม.ปลดล็อก กัญชา-กระท่อม เพื่อวิจัย-ยารักษาโรค ให้สิทธิ์ 25 กก.คุมยาเสพติด พิจารณาออกใบอนุญาตครอบครอง-วิจัย พบเนื้อหาให้ ภาคอุตสาหกรรมขออนุญาตเพื่อปลูก-ผลิต-จำหน่าย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ..... เพื่อคลายล็อคกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นฉบับที่นายสมชาย แสวงการ เป็นประธานกรรมาธิการฯ พิจารณาฯ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 166 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเนื้อหาที่ สนช. เห็นชอบนั้น พบการปรับแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ จากเดิมในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กำหนดให้มี 17 คน ได้เพิ่มเติมอีก 8 คน โดยเพิ่ม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อธิบดีกรมการแทพย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นต้น., เพิ่มอำนาจของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด โดยเฉพาะให้ความเห็นชอบต่อผู้อนุญาตในการอนุญาตให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก รวมถึงเห็นชอบประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องที่หน่วยงานราชการเสนอ
ขณะที่รายละเอียดของการปลดล็อคยาเสพติดประเภทกัญชา และกระท่อม ตามร่างกฎหมายนั้น ระบุว่า กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทางราชการ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม , ให้พกพาเพื่อใช้รักษาโรคในปริมาณที่จำเป็น โดยต้องมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, ทันตกรรม, แพทย์แผนไทย, การแพทย์แผนไทยประยุกษ์ หรือ หมอพื้นบ้าน โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
สำหรับปริมาณที่ควบคุมในการครองครอง ยังกำหนดว่า หากพบการครองครองปริมาณเกิน 10กิโลกรัม ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ขณะที่การครอบครองเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค , ใช้เพื่อปฐมพยาบาล หรือเหตุฉุกเฉิน ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยหากพบผู้ใดที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกและปรับ
ขณะที่การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง กัญชาและกระท่อม ให้สิทธิ เฉพาะ 1.หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์ , เกษตรศาสตร์, 2.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามและแก้ปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย, 3.ผู้ประกอบวิชาชีพเครือข่ายแพทย์ ทั้งไทย และหมดพื้นบ้านตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด, 4.สถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาและวิจัย และเรียนด้านการแพทย์, 5.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย, 6.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ, 7.ผู้ป่วยที่เดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดติดตัว, 8.ผู้ขออนุญาตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถส่งต่อให้กับทายาทหรือผู้ได้รับความยินยอมได้ กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเสียชีวิตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
นอกจากนั้นยังคลายล็อคให้ ทดลองเพาะปลูก, ผลิตและทดสอบ,เสพหรือครอบครองในปริมาณที่กำหนด ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเห็นสมควร แต่ต้องเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด หรือ ป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหายาเสพติดให้โทษ
ขณะที่บทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายต้องถูกจำคุก และ ถูกลงโทษปรับด้วย อาทิ การครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ถึง 10 กิโลกรับ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท, ครอบครองเกิน 10 กิโลกรัม จำคุก 1- 15 ปี ปรับ 1แสน-1ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ในร่างกฎหมายกำหนดให้เมื่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว 3 ปี ให้คณะกรมการควบคุมยาเสพติด ทบทวนการให้ใบอนุญาตทุกๆ 6 เดือน.