ป.ป.ช.แจงคดีนาฬิกาหรู 'ประวิตร' ไร้พยานหลักฐาน
ป.ป.ช.พบสื่อแจงต้องเคลียร์คดี 1.5 หมื่นคดีภายใน 3 ปี ตามกรอบกฎหมายใหม่ ยันคดีนาฬิกาหรู “พล.อ.ประวิตร” ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบสื่อมวลชน โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ป.ป.ช. และสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมงาน เพื่อพูดคุยซักถามถึงแนวทางการทำหน้าที่ รวมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชนในประเด็นที่น่าสนใจ
พล.ต.อ.วัชรพล เปิดเผยว่า ป.ป.ช. ได้จัดโครงสร้างและกลยุทธการทำงานใหม่ สำหรับทำหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ 2561 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายการทำงานของ ป.ป.ช. เนื่องจากตั้งแต่คณะทำงานเข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่ปี 2559 ได้รับคดีมาทำต่อ กว่า 1.3 หมื่นคดี และปัจจุปันมีคดีเพิ่มเติมอีก 2.7 พันคดี ซึ่งแต่ก่อนไม่มีกรอบเวลาในการทำคดี แต่ต้องทำให้เสร็จก่อนหมดอายุความ แต่กฎหมายใหม่มีเรื่องกรอบเวลาให้ทำคดีไม่เกิน 2 ปีหรือยืดได้ไม่เกิน 1 ปี เท่ากับว่ามีเวลา 3 ปี ยกเว้นคดีที่ต้องมีการขอข้อมูลระหว่างประเทศ หากไม่แล้วเสร็จต้องมีผู้รับผิดชอบถูกลงโทษทางวินัย ในตอนนี้บางคดีมีอายุยืดยาวมามากกว่า 10 ปี ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องทำงานกันอย่างหนัก ต้องเร่งเครื่องทำงาน
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า จากนี้จะมีผู้ที่เทียบเท่า รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปคุมระดับภาค ซึ่งจะสามารถทำเรื่องใหญ่ๆได้เลย ไม่ต้องรอส่วนกลางส่งทีมลงไปสืบค้นไต่สวน และจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อชี้มูลความผิดส่งอัยการรับเรื่อง ต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วัน แต่ถ้าหาข้อยุติไม่ได้ ป.ป.ช.สามารถฟ้องเองได้ภายใน 90 วัน ส่วนการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เช่น ปปท. กฎหมายก็ระบุว่า ป.ป.ช. ต้องคอยติดตาม ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิและเสรีภาพ ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและพยานในคดี ดังนั้นการแชร์ข้อมูลความคืบหน้าคดีต่างๆ เพื่อให้ประชาชน หรือสื่อมวลชนหลังจากนี้จะมีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากพยานหลักฐานชัดเจน การกระทำความผิดมีมูล และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ในมาตรา 36
ต่อข้อห่วงใยและเป็นกังวลของสื่อมวลชนที่กรอบเวลาทำคดีตามกฎหมายใหม่ที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 3 ปี หากไม่แล้วเสร็จต้องมีผู้รับผิดชอบมีบทลงโทษทางวินัย อาจทำให้ทาง ป.ป.ช. เป่าคดี หรือส่งฟ้องทั้งที่กลักฐานไม่ครบจนต้องยกฟ้อง หรือปล่อยให้คดีหมดอายุความ โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะคณะกรรมการ 9 คน ไม่มีใครยอมใคร ยังคงทำงานกันอย่างหนักแต่เต็มที่ เอาประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง หลายเรื่องมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีคดีสำคัญเป็นที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจ 87 คดี หลายคดีฟ้องไปแล้ว หลายคดีกำลังจะแจ้งข้อหา
นอกจากนี้สื่อมวลชนยังได้ถามถึงคดีการครอบครองนาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีมติเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตัดสินว่าไม่มีพยานหลักฐานเอาผิด เพราะเป็นการยืมเพื่อนมาจริง ทำให้สังคมยังเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนี้ โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช.อธิบายว่า ที่มิติเสียงส่วนใหญ่ให้ยุติการไต่สวนต่อ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอ ซึ่งคณะทำงานได้พยายามเสาะแสวงหาพยานหลักฐานในทุกมิติ ตรวจสอบนาฬิกาทุกเรือน หรือตรวจสอบกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย 13-15 บริษัท ก็ไม่มีข้อมูล ตรวจสอบกับกรมศุลกากร ก็ไม่พบข้อมูลการนำเข้า และยังตามขอข้อมูลประเทศผู้ผลิต 5 ประเทศ ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะไม่ใช่คดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือคดีอาญาระหว่างประเทศ ส่วนพยานในสำนวนที่มีก็มีแต่ฝ่ายที่สนับสนุนว่าไม่ผิด แต่พยานที่จะบ่งชี้ว่าผิด ไม่มีเลย ซึ่งไม่เกี่ยวว่าผู้ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ เป็นผู้มีอำนาจแล้ว ป.ป.ช. จะเกรงใจ แต่เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย ที่ต้องยึดเอาตามพยานหลักฐาน ไม่ใช่ความรู้สึก หรือข้อคิดเห็นส่วนตัว