“สุขภาพ – ภาษี” เขย่าเทรนด์เครื่องดื่มโลก

“สุขภาพ – ภาษี” เขย่าเทรนด์เครื่องดื่มโลก

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนโลกธุรกิจ!! บีบ“ค่ายเครื่องดื่ม”แสนล้าน พลิกเกมดันยอดขาย ส่องแบรนด์ “ซอฟท์ดริ๊งค์-น้ำเมาโลก” พาเหรดปั้นสินค้านวัตกรรม รับเมกะเทรนด์สุขภาพ พ่วงลดภาระภาษี

เทรนด์” ถือเป็น “เข็มทิศ” ช่วยกำหนดทิศทางให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนสู่อนาคตได้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

ในปี 2562 อุตสาหกรรม เครื่องดื่ม” ในประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการประเมินมูลค่าตลาดอยู่ที่ระดับ 2-3 แสนล้านบาท มีความคึกคักอย่างมาก เพราะเป็นปีที่ได้เห็น สินค้านวัตกรรม” ทั้งหมวดหมู่(Category)เดิม และแคทิกอรีใหม่ๆ กันไม่น้อย

แบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ต่างตบเท้า ปั้น “แบรนด์ใหม่” สินค้าใหม่ ซัดกันนัว!

การออกสินค้าใหม่ โจทย์สำคัญหนีไม่พ้นแบรนด์ต้องการตอบสนองความต้องการหรือ Consumer need ให้ได้มากสุด ปูทางไปสู่การโกยยอดขายสร้างการเติบโต 

ทว่าอีกมุมหนึ่ง หน้าที่ของแบรนด์ต้องหาตอบสนองสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาแต่ยังไม่ได้รับหรือ Unmet need ให้ได้! ซึ่งอย่างหลัง แบรนด์สินค้าและบริการให้ความสำคัญและกล่าวถึงมากขึ้น เพราะหากสามารถคิดค้นสินค้าได้เป็นเจ้าแรก (First Mover) นอกจากจะสร้างความแตกต่างจาก “คู่แข่ง” ได้แล้ว ยังมีโอกาสครองใจกลุ่มเป้าหมายโกยเงินได้ก่อนใครด้วย

ที่ผ่านมา ตลาดเครื่องดื่มใส หรือบ้างเรียก Clear Water เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรส (Flavored Water) ในต่างประเทศมีมาพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะ “ญี่ปุ่น” แต่มาปีนี้สินค้าเหล่านั้นได้เข้ามาระเบิดแคทิกอรี่ใหม่ในไทยเรียบร้อยแล้ว

เนสท์เล่” อาจเป็นบิ๊กแบรนด์แรกๆที่ปล่อยเครื่องดื่มใสชนิดมีฟอง(Sparkling Water) เข้าทำตลาดตั้งแต่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเข็นผลิตภัณฑ์ 2 รสชาติ กลิ่นแอปเปิ้ล และกลิ่นมิกซ์เบอร์รี่ ขนาด 340 มิลลิิตร(มล.) วางจำหน่ายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในราคา 14 บาท มีการทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์ ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด(Influencer)บ้าง และกระแสยังไม่แรงนัก  

**ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ 

จูงมือปั้นหมวด Water Plus

ไล่หลังมา “ยักษ์ใหญ่ ซันโทรี่ เป๊ปซี่ โค เบเวอเรจ” ปล่อยของชุดใหญ่ด้วยการส่งแบรนด์ กู๊ดมู้ด(goodmood) น้ำดื่มแต่งกลิ่นรส” หรือ Water plus เข้าทำตลาดเป็น “รายแรก” ในไทย นับเป็นการเดินเกมครั้งสำคัญของบริษัทอย่างมาก เพราะสินค้าดังกล่าวเป็น สินค้าตัวแรก ภายใต้บริษัทร่วมทุนกว่า 1 ปีนั่นเอง

“กู๊ดมู้ด” เป็นเครื่องดื่มที่มากกว่าน้ำ โดยสินค้าที่ออกมามี 2 รสชาติ โยเกิร์ตและแบล็คเคอร์แรนท์ ขนาด 440 มิลลิลิตร(มล.)จำหน่ายราคา 20 บาท ซึ่ง Price point ดังกล่าว สำรวจตลาดแล้วพบว่าผู้บริโภค 77-82% พร้อมใจจ่าย

เคธี่ อึ้ง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์ซันโตรี่ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่ โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพเทรนด์เครื่องดื่มมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปมากจากปัจจัยพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความใส่ใจ “สุขภาพ” มากขึ้น หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้คนหันมารักสุขภาพ ยังเกิดจากโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยน “สังคมผู้สูงอายุ” เข้ามามีบทบาทตามรอยญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่เอง ตระหนักเรื่องสุขภาพไม่แพ้กัน

ดังนั้นการบริโภคเครื่องดื่มจึงมองหาสินค้าที่ น้ำตาลน้อย” ตลอดจน ไม่มีน้ำตาล” ส่วนรสชาติ มองหาสินค้าที่ “อร่อย” ดับกระหาย ได้รสสดชื่น ควบคู่ทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier choice)

การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหนึ่งในวิธีปฏิบัติปกติของบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะนั่นคือการ “เจาะใจ” ให้รู้ Insight ของกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ ซันโทรี่ เป๊ปซี่ โคฯ ทำเรื่องนี้อย่างเข้มข้น และพบว่า

“ผู้บริโภคราว 68% มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคตอบรับเทรนด์สุขภาพ โดยยังมองหาความสมดุลระหว่างรสชาติและสุขภาพ กู๊ดมู้ดจึงมุ่งจับกลุ่มเป้าหมายที่เลิกดื่มเครื่องดื่มหวาน หรือดื่มเครื่องดื่มหวานน้อยลงให้กลับมาดื่มได้บ่อยขึ้น เพราะมีรสชาติอร่อยสดชื่น และปริมาณน้ำตาลที่น้อย”

เพราะวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นน้ำดื่มที่มากกว่าน้ำ จึงคาดหวังให้ผู้บริโภคดื่มบ่อยโดยไม่รู้สึกผิด เพราะไม่ต้องพะวงกับน้ำตาล ความหวานจะทำร้ายสุขภาพ ขณะที่ยี่ห้อ “ซันโทรี่” เบอร์ 1 ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดในญี่ปุ่นยังมาช่วยการันตีคุณภาพอีก

นอกจากเทรนด์รักสุขภาพมาแรง ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ขุมทรัพย์” ทางธุรกิจเครื่องดื่มบรรจุขวดในปี 2561 เติบโตค่อนข้างดี 4.6% เมื่อบริษัทมีสินค้าหมวดน้ำดื่มแต่งกลิ่นรสในพอร์ตโฟลิโอที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว นำมาต่อยอด “ชิงโอกาส” ก่อนคู่แข่งเป็นเรื่องที่ดี

เราจะชนะในตลาดเครื่องดื่มได้ สินค้าต้องมีนวัตกรรม และเรามีแต้มต่อวอเตอร์พลัสกลิ่นโยเกิร์ต เป็นโปรดักท์แชมป์เปี้ยน ที่ทำให้ซันโตรี่ในญี่ปุ่นชนะคู่แข่งแซงเป็นเบอร์ 1 มีส่วนแบ่งทางการตลาด 50% จากตลาดรวมมูลค่า 9,600 ล้านบาท

ส่วนในไทยซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ ติดอาวุธครบทั้งการวิจัยและพัฒนาสินค้า ความสามารถทางการผลิต การลงทุนทำตลาด สร้างการรับรู้แบรนด์ แจกสินค้าให้ “ลองชิม”หวังฝ่าด่านแรกซื้อใจกลุ่มเป้าหมาย มีกระดูกเหล็กจากช่องทางจำหน่ายกว่า 4 แสนจุดทั่วประเทศ เคธี่” จึงหมายมั่นปั้นกู๊ดมู้ดเป็นเบอร์ 1 ในไทยตามรอยญี่ปุ่น

สิ่งที่น่าสนใจของการทำตลาดกู๊ดมู้ด ยังสะท้อนให้เห็นการผนึกกำลังของ ทั้งฝั่งซันโทรี่และเป๊ปซี่โค ต่างต้องการให้น้ำหนักกับสินค้าสุขภาพ หนีธุรกิจน้ำเมาและน้ำอัดลมที่ส่งผลต่อการเติบโต “ต่ำ”

ในปี 2560 พอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของซันโทรี่ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ บรั่นดี ค็อกเทลพร้อมดื่ม ฯทำรายได้ 8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารทำรายได้ 12.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสุขภาพเป็นตัว “พลิก” การ เติบโต” ให้ซันโทรี่ มีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 4 ของโลก โตในแดนบวก 4.9% เรดบูล มีส่วนแบ่ง 1.8% อันดับ 7 ของโลก โต 4.2%

เทียบกับยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของโลกที่โตหดตัว ติดลบตามๆกัน ได้แก่ โคคา-โคลา เบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งทางการตลาดโลก 23.3% โตการโตติดลบ 1% เป๊ปซี่โค ส่วนแบ่ง 10.3% การโตติดลบ 1.8% เนสท์เล่ ส่วนแบ่ง 2.9% การโตติดลบ 0.8% ด็อกเตอร์ เป็ปเปอร์ สแน็ปเปิล ส่วนแบ่ง 2.3% ดานอน ส่วนแบ่ง 2.1% ทั้ง 2 แบรนด์ไม่โตหรือ Zero growth 

การลุยเต็มสูบเครื่องดื่มสุขภาพ Water Plus จึงตอบโจทย์ธุรกิจ!

**"ดานอน" ผนึก "เซ็ปเป้" 

ลุยน้ำดื่มแต่งกลิ่นรสด้วย

2 โกลบอลแบรนด์โดดสู่สังเวียนแล้ว ดานอน เบอร์ 1 โยเกิร์ตโลก และเบอร์ 6 เครื่องดื่มโลกไม่อยู่เฉย เพราะหลังต้นปี 2562 MYEN PTE.LTD. หรือ Danone ลงขันกับบริษัท เซ็ปเป้ โฮลดิ้ง(ประเทศไทย)ตั้งบริษัทร่วมทุน “ดานอน-เซ็ปเป้ เบฟเวอเรส” มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ถือหุ้น 75%และ 25% ตามลำดับ เป้าหมายสำคัญคือผนึกพลังของ Global Brand X Local Brand เพื่อเขย่าตลาดเครื่องดื่มครั้งสำคัญ

“ดานอน” มีเครื่องดื่มดังๆในพอร์ตต้องยกให้ “น้ำแร่เอเวียง” และผลิตภัณฑ์นม(Dairy Product)แอคทีเวีย สินค้าโภชนาการ ดูเม็กซ์ และมีน้ำดื่มแบรนด์อื่นๆอีก แต่ยังไม่ทำตลาดในไทย

ทว่า เมื่อเบอร์ใหญ่ระเบิดศึกแล้ว ถึงคราว “ดานอน” บ้าง นำสินค้าใหม่ภายใต้บริษัทร่วมทุนมาทำตลาด นั่นคือแบรนด์ บลู”(Blue) ขอปั้นแคทิกอรี่ใหม่เหมือนกันในชื่อตลาดน้ำดื่มมีรสชาติ(Enhanced water) ชูความต่างจากคู่แข่งด้วยการผสมวิตามิน และส่ง 3 รส ได้แก่ เพลย์ฟูลพีช โพสซิทิฟแพร์ และคูลลาแมนซี่ สร้างความตื่นเต้นและจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่

ฟลอริส เวสเซลลิ่ง รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ดานอน วอเทอร์ส เล่าว่า ดานอนให้ความสำคัญกับตลาดเครื่องดื่มที่มากกว่าน้ำหรือ Play water มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นพอร์ตโฟลิโอหลักทำงานเงินในปีก่อนราว 8.6.8.7 แสนล้านบาท มีการเติบโตดี 5% ด้วย

ขณะที่เทรนด์การบริโภคสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่แค่ “วลี” สวยหรูที่นักการตลาดใช้เป็นกลยุทธ์น็อคผู้บริโภคให้อยู่หมัด แต่คนทั่วโลกรวมทั้งไทยตื่นตัวเรื่องดังกล่าวจริงๆ และการเติบโตของยอดขายเป็นบทพิสูจน์ว่าธุรกิจต้องเร่งเครื่องสินค้าสุขภาพได้แล้ว 

ทว่า การทำตลาดวันนี้ “แบรนด์ใหญ่ระดับโลก” ลงสนามแข่งขัน ไม่ได้เปรียบคู่แข่งเสมอไป แต่แบรนด์ท้องถิ่น(Local) ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ กลับมีบาทบาทดึงเงินในกระเป๋าของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีนัยยะ นอกจากนี้ ตลาดเครื่องดื่มในไทยแม้จะเป็นขุมทรัพย์ใหญ่แต่เต็มไปด้วยคู่แข่งเล็กใหญ่ส่งสินค้ายึดชั้นวาง(เชลฟ์)ให้พรึ่บ! และยังแบ่งตลาดยิบย่อย(Fragmentation)มาก การหาโอกาสโต “ดานอน” ลุยลำพังคงไม่ได้ จึงต้องอาศัย “ขุมพลัง” ทุนไทยอย่าง “เซ็ปเป้” ที่ขึ้นชื่อเป็น “ผู้นำ” ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชั่นนอลดริ้งค์เป็นกองหนุนอีกแรง 

บริษัทอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากการถูกดิสรัปชั่นด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แบรนด์สินค้ายักษ์ใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคมองหาเหมือนในอดีต แต่สินค้าแปลกใหม่และสร้างความตื่นเต้นเป็นตัวแปรที่ทำให้ชนะใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ได้” 

ฟลอริส ย้ำจุดแข็ง “บลู” จะเตะตาต้องใจผู้บริโภคมากขึ้น มองบนเชลฟ์ถ้ามีน้ำเปล่ากับน้ำหวาน จะดื่มอะไรดี? คำตอบคือ “สินค้าเป็นมากกว่าน้ำดื่ม” และผสมวิตามิน มีรสชาติ เรียกว่าตอบโจทย์ดับกระหาย ได้ความสดชื่น พ่วงประโยชน์ต่อร่างกายด้วย 

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้คน ทำให้แบรนด์ต้องหาทางตอบสนองความต้องการเหล่านั้นให้ได้ รวมถึง Unmet need ที่นักการตลาดต้องหาให้เจอ เพราะนั่นจะช่วยสร้างความแตกต่างให้เราในขณะที่คู่แข่งอื่นยังมองไม่เห็นเช่นกัน

ดานอน คัมแบ๊กทำตลาดเชิงรุกทั้งที เป้าหมายไม่แค่แจ้งเกิด “บลู” สร้างมูลค่าแบรนด์ให้แตะ “พันล้านบาท” แต่ต้องมีเครื่องดื่มนวัตกรรมอื่นเสริมทัพ โกยยอดขาย 3,500 ล้านบาท ใน 3-5 ปี  

**โค้ก-เป๊ปซี่ ลุยอัดลมไม่มีน้ำตาล

โคคา-โคลา เป็นเบอร์ 1 ของตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์หรือ Soft Drink ในพอร์ตโฟลิโอมีเครื่องดื่มเกาะเทรนด์สุขภาพไม่น้อย โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เรียกว่าความวาไรตี้ของสินค้าไม่น้อยหน้าคู่แข่ง ส่วนในไทย สินค้าที่ประทับตรา “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ทยอยมีมากขึ้น เพราะนอกจากเทรนด์สุขภาพมาแน่ นโยบายรีด “ภาษีความหวาน” ยังไล่ตามมาอีกระลอก

ทั้งนี้ 1 ต.ค.นี้ กรมสรรพสามิตเตรียมเก็บภาษีความหวานน้ำอัดลมกระป๋องขนาด 250 ซี.ซี.ประมาณ 10 สตางค์ ขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร(มล.) ยังคงได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี ประเด็นนี้ คาร์ลอส ดิแอซ-ริกบี้ เป็นผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทยและลาว บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันหนักแน่นในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของภาครัฐ

ส่วนกลยุทธ์การทำตลาด “น้ำอัดลม” ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก(Core) ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อรักษา “แชมป์” อย่างเหนียวแน่น และไม่ยอมตกเทรนด์ ผลักดันน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลในเชิงรุก ด้วยการนำคาแร็กเตอร์มาร์เวลมาอยู่บนบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ซึ่งโค้กขึ้นชื่อในการเพิ่มลูกเล่น (Gimmick)บนแพ็คเกจจิ้งอยู่แล้ว แต่รายละเอียด คาร์ลอส ขออุบไว้

อุบเรื่องเดียวไม่พอ เพราะเครื่องดื่มใส และเครื่องดื่มสุขภาพอื่นๆ ที่มีในต่างประเทศ จะนำมาประชันคู่แข่งตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือไม่ ยังเลี่ยงให้ความเห็นมีเพียง “รอยยิ้ม” เป็นคำตอบ

คาร์ลอส เป็นผู้บริหารโค้กมานานกว่า 2 ทศวรรษ ทำตลาดหลายประเทศ เขาเห็นเทรนด์เครื่องดื่มมุ่งไปทาง “สุขภาพ” แน่นอน ขณะที่สินค้าในไทยที่พร้อมรบมีหลายรายการ(เอสเคยู) เช่น โค้กไม่มีน้ำตาล โค้กไลท์ โค้กผสมกาแฟโรบัสต้าแท้ ฟิวซ์ที รสแพสชั่นฟรุต มินิเมด รสน้ำผึ้งเลมอน เป็นต้น

เกมของยักษ์น้ำดำต้องซัดกันให้ตาย “เป๊ปซี่” ลุยทำตลาดเป๊ปซี่แมกซ์เทสต์ กลิ่นราสเบอร์รี และเป๊ปซี่แมกซ์ เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์  

**น้ำเมา..สุขภาพได้เหรอ?

 ไม่ใช่แค่ Soft Drink ตื่นตัวพัฒนาสินค้าตอบโจทย์สุขภาพ แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็แจมตลาดนี้เหมือนกัน รุกสุดๆเห็นจะเป็น ไฮเนเก้น แบรนด์เบียร์เบอร์ 2 ของโลก เพิ่งส่ง “Heineken 0.0” (ไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์) เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์นั่นเอง แต่ยังคงรสชาติและเอกลักษณ์ตามสูตร “ไฮเกเก้น” ไว้ทุกกระเบียดนิ้ว

โปรดักท์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการวิจัยผู้บริโภคทั่วโลกเมื่อ 7 ปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลเนียลพบว่าตระหนักในการดื่มอย่างพอดี(Moderate Drinking)มากถึง 6 ใน 10 ผู้บริโภคทั่วโลกและไทยกว่า 50% บอกด้วยว่าต้องการบริโภคเครื่องดื่มแต่ควบคุมน้ำตาล ห่วงปริมาณแคลลอรี่ที่สูงด้วย รวมถึง 1 ใน 3 ของผู้บริโภคที่ตื่นมาแล้วพบตัวเองในสภาพเมามายบนโลกออนไลน์ หรือมีภาพถ่ายจะรู้สึก “อาย” Pain point ดังกล่าว ทำให้แบรนด์ต้องพัฒนาสินค้านวัตกรรมมาปิดประเด็นปัญหาเหล่านั้นให้ได้นั่นเอง

เมาด์ ฮา.เก. เมย์โบม์ -ฟาน เวิล ผู้อำนวยการแบรนด์ไฮเนเก้นระดับภูมิภาคประจำเอเชียแปซิฟิก บอกว่า ไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์ วางตลาดครั้งแรกปี 2560 ปัจจุบันครอบคลุม 38 ตลาดทั่วโลก ส่วนไทยทำตลาดเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสิงคโปร์

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเจาะ มี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มคนทำงาน (Professionals) ที่ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อตัวเอง และภาพลักษณ์ที่คนอื่นมอง 2.ผู้ปกครองรุ่นใหม่ (Active Parent) เพราะครอบครัวคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของพวกเขา แต่การมีช่วงพักหลังจากที่ได้ดูแลบุตรหลานก็สำคัญต่อตนเองเช่นกัน 3.กลุ่มดูแลสุขภาพ (Health-Conscious) ต้องการบาลานซ์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแต่ต้องมีสุขภาพและรักษาภาพลักษณ์ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก และ 4.กลุ่มที่มีประสบการณ์ชีวิต (Moderate Experience) ในช่วงนี้ของชีวิต เป็นช่วงที่การรักษาสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องการสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต รสชาติและคุณภาพระดับพรีเมียม

เพราะเป็นเครื่องดื่มมอลต์แอลกอฮอล์ 0.0% ทำให้เพิ่มโอกาสการบริโภคได้ทุกเวลา จะเช้าสายบ่ายเย็น เวลาทำงาน ก่อนและหลังออกกำลังกาย ขึ้นกับความต้องการดับกระหายของผู้บริโภค ส่วนช่องทางขายเรียกว่าเปิดกว้างทั้งร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ฯ ที่บริษัทจะปูพรมบุกทั่วประเทศ

ถ้าคอแห้ง จะดื่มที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้

ความน่าสนใจอยู่ที่การทำตลาด ไฮเก้นคือแบรนด์เบียร์พรีเมียมระดับโลก นอกจากเน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ ยังรักษากลิ่นอายภาพลักษณ์ให้หรูด้วยการจัดอีเวนท์ “Heinekn 0.0Barcade” เปิดบาร์รูปแบบใหม่ ดึงเซเลบริตี คนดังมาร่วมงานอย่างคึกคัก เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์กับแบรนด์(Brand Experince)

การทำตลาดเป็นประเด็น “เปราะบาง” สำหรับค่ายน้ำเมา แต่ทีมกฎหมายของไฮเนเก้น ทำงานด้วยความรอบคอบและขออนุญาติหน่วยงานภาครัฐเรียบร้อยเพื่อโฆษณาสินค้า

อย่างไรก็ตาม การออกสินค้าดังกล่าว ในมุมการตลาด มีบางฝ่ายที่มองเกมการสร้างแบรนด์เบียร์ให้คงอยู่ เพราะพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(พรบ.)เข้มการโฆษณาโลโก้สินค้ามาก แต่ถ้าเป็น “แบรนด์องค์กร”หรือ Corporate Brand ยังทำได้ ซึ่งตรงนี้ ไฮเนเก้น เสียเปรียบคู่แข่งน้ำเมาเจ้าอื่น ที่มีทั้งน้ำดื่ม โซดา แบรนด์เดียวกันเพื่อทำตลาดแทน

ขณะที่แบรนด์ไฮเนเก้น แกร่ง” มากในไทยและเป็นระดับโลก การออกสินค้าใหม่ ใช้แบรนด์เดิม จึงต่อยอด สร้างแต้มต่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ รายงานการออกเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ของไฮเนเก้น ต้องการจับกลุ่มเป้าหมายอยากดื่มเบียร์แต่ไม่อยากเมา และตลาดดังกล่าวในยุโรปมีการเติบโต 5% ต่อเนื่อง 5 ปี (2554-2559) ขณะเดียวกันยังมีผลต่อการทำ “กำไร” ของผู้ประกอบการ เพราะไม่ต้องแบกภาระเสียภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อีกแบรนด์ที่อาศัยจังหวะปะเหมาะแบรนด์ดัง “ไฮเนเก้น” คลอดเครื่องดื่มมอลต์ 0.0% แอลกอฮอล์ คือ บาวาเรีย สัญชาติดัตช์เหมือนกัน แต่ อาชว มหามงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัปตันบาเรล จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์พรีเมียมและเครื่องดื่มจากทั่วโลกยืนยันว่าสินค้าดังกล่าวมีในตลาดมาราว 5 ปีแล้ว เคยนำ “รสพีช” มาทำตลาดแต่ไม่ประสบความสำเร็จและเลิก นำรสชาติใหม่ทั้งออริจินัลและแอปเปิ้ลมาลองตลาดอีกรอบ

เทรนด์สุขภาพและการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ คนที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์แต่อยากดื่มเบียร์ มอลต์ ทำให้ยังเป็นโอกาสตลาด จึงเชื่อว่าเกมบุกรอบนี้บริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ตลาดไทยเพิ่งอยู่ในระยะเริ่ม แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ปี 2559 มีมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 4.95 หมื่นล้านบาท ตลาดหลักอยู่ในจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนตลาดเบียร์ทั่วโลก ปี 2560 มีมูลค่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 19.47 ล้านล้านบาท แนวโน้มปี 2562-2568 คาดว่าจะโตต่อเนื่อง และมีมูลค่าทะลุ 6.8 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 22.44 ล้านล้านบาท (ที่มา https://www.alliedmarketreserach/beer-market)