ผ่ายอดขาย 'ไทยเบฟ' ไตรมาสเดียว สร้างรถไฟฟ้าได้ทั้งเส้น !!!
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือมีชื่อเล่นคุ้นหูผู้บริโภคชาวไทยว่า "ค่ายเบียร์ช้าง" ซึ่งมีแม่ทัพคือเจ้าสัวน้อย "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" ทายาทของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ขับเคลื่อนธุรกิจ
ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา (ต.ค.-ธ.ค.2561) ตามปีบัญชีงบประมาณของไทยเบฟคือ ต.ค.61-ก.ย.62 มีการรายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ที่น่าสนใจหลายประเด็น แน่นอนว่า “รายได้-ยอดขาย และกำไร” ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา ! เพราะสะท้อนความมั่งคั่งของเจ้าของบริษัท ตลอดจนมีผลต่อเงินปันผลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะ “ผู้ถือหุ้น” นั่นเอง
สำหรับยอดขายของไทยเบฟไตรมาสแรก พบว่ามีมูลค่า “72,627 ล้านบาท” เติบโต 59.7% มีกำไรสุทธิ 7,481 ล้านบาท เติบโตมากถึง 144.2%
ยอดขายไตรมาสเดียวระดับ 7 หมื่นกว่าล้านบาท หากเปรียบเทียบ เกือบเท่ากับค่าสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ ที่ตั้งไว้กว่า 7.5 หมื่นล้านบาท !!!
เบียร์ยอดขายแซงเหล้า
ผลกระกอบการไตรมาสแรกนี้ ยังถือเป็น “ปีแรก” ที่ “เบียร์” ทำยอดขายหลัก 45.4% แซง “สุรา” หรือกลุ่มเหล้าขาว ที่เป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่ทำเงินให้กับบริษัทมากสุด
ส่วนสาเหตุที่เบียร์มียอดขายสัดส่วนมากขึ้น !! เพราะปีที่ผ่านมา ไทยเบฟปิดดีลซื้อกิจการบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก (Sabeco) ยักษ์ตลาดเบียรเวียดนาม มูลค่า 1.56 แสนล้านบาท และรวมรายได้เข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นปีนี้กลุ่ม “สุรา” จึงทำสัดส่วนยอดขาย 43.6% ตามด้วย เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 5.7% อาหาร 5.3%
เหล้ากินรวบกวาดกำไรเรียบ 95.1%
ทว่า ในมุมความสามารถในการโกย “กำไร” กลุ่ม “สุรา” ยังมาเป็นที่ 1 ครองสัดส่วนมโหฬาร 95.1% เบียร์ 6.8% อาหาร 2.9% ส่วนเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ยังเป็นตัวฉุดกำไร เพราะยังคง “ติดลบ” 4.8%
หากเจาะลึกยอดขายในเชิงมูลค่า และแบ่งตามเซ็กเมนต์ เป็นดังนี้
-สุรา ยอดขาย 31,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.6% กำไรสุทธิ 5,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.5%
-เบียร์ ยอดขาย 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 128.6% กำไรสุทธิ 410 ล้านบาท ลดลง 53.7% จากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น
-เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ยอดขาย 4,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% ขาดทุน 289 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 27.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 227 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาษีสรรพสามิตใหม่ และต้นทุนวัตถุดิบเพิ่ม เช่น น้ำตาลฟรุกโตส
เคเอฟซี จิ๊กซอว์ใหม่พอร์ตอาหารไทยเบฟ
-ธุรกิจอาหาร ยอดขาย 3,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.9% มีกำไรสุทธิ 175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% โดยสไปซ์ ออฟ เอเชีย(เอสโอเอ)ผู้บริหารร้านอาหารไทย และคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย(คิวเอสเอ) ซึ่งบริหารร้านเคเอฟซี เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตยอดขายและกำไรต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนยอดขายในเชิงปริมาณ แบ่งตามเซ็กเมนต์ ดังนี้
-สุรา ขายได้ 182 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 25.7% เบียร์ 732 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 253.9%
-โซดา 13 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 11.8%
-เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 422 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 3.6% และหากแบ่งตามประเภทสินค้า ยังพบว่า
-ชาเขียวพร้อมดื่มและเครื่องดื่มสมุนไพรจับใจ มียอดขาย 65 ล้านลิตร ลดลง 12% ซึ่งเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากเทรนด์ชาเขียวขาลง และตลาดเครื่องดื่มมีสินค้าเป็นทางเลือกในตลาดจำนวนมาก
-น้ำดื่ม ยอดขาย 286 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 7.1%
-เครื่องดื่มอัดลม เช่น เอส ฮันเดรดพลัส และซาสี่ 70 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.4%
-อื่นๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ฯ มียอดขาย 1 ล้านลิตร ลดลง 53.3%
ส่วนธุรกิจต่างประเทศ ไตรมาส 1 มียอดขาย 20,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 497% จากปีก่อน โดยซาเบโค ยังเป็นพอร์ตโฟลิโอเบียร์สำคัญและได้นำรายได้มารวมกับไทยเบฟเรียบร้อยแล้ว หลังจากไตรมาส 1 ปีบัญชี 2561 ยังไม่มีการนำมารวม ขณะที่ยอดขายสุรามีการเติบโต 7% โดยมีแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป(GRG) วิสกี้พรีเมียมเบอร์ 1 ของเมียนมา ที่ไทยเบฟเข้าไปซื้อกิจการมาครบ 1 ปี เป็นกลไกสำคัญ แต่หากไม่รวมจีอาร์จี ยอดขายสุราค่อนข้างทรงตัว ไม่เติบโต (Flat) ส่วนยอดขายวิสกี้ขนาดบัลก์ลดลง โดยเฉพาะตลาดในสหราชอาณาจักร เบียร์ยอดขายเติบโต 3,815% ขับเคลื่อนโดยซาเบโก หากไม่รวมซาเบโก ยอดขายลดลงในจากตลาดอาเซียนเป็นหลัก เว้นสิงคโปร์ที่เติบโตในอัตรา 2 หลัก