ไทย-จีน พร้อมร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน

 ไทย-จีน พร้อมร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน

ไทย-จีน พร้อมร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ

วันนี้ (26 เม.ย. 62) เวลา 18.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงปักกิ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้


นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณสำหรับการเชิญเข้าร่วมการประชุม BRF ครั้งที่ 2 และแสดงความชื่นชมต่อการจัดเวทีหารือที่น่าสนใจ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมด้านการต่างประเทศของจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ยินดีที่มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ในฐานะผู้นำของไทยและประธานอาเซียน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมจีนที่มีพัฒนาการหลายด้านภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยเฉพาะความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม การลดความยากจน และการแก้ไขปัญหามลพิษของจีน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไทยประสงค์จะศึกษาเรียนรู้ด้วย พร้อมขอบคุณรัฐบาลจีนสำหรับมิตรภาพและความช่วยเหลืออย่างเสมอมา


ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย - จีน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณสำหรับการรับเสด็จพระราชวงศ์และการต้อนรับการเยือนของผู้นำไทยในช่วงปีที่ผ่านมา และการเสด็จฯ เยือนจีนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนด้วย การนี้นายกรัฐมนตรีได้เชิญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนไทยในโอกาสแรก เพื่อสานต่อพลวัตที่ดีและความใกล้ชิดในระดับผู้นำ


ทั้งสองฝ่ายต่างย้ำเจตนารมณ์ที่จะผลักดันความสัมพันธ์ไทย - จีน และความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่รอบด้านให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงที่จะสอดคล้องกับ Thailand 4.0 และ BRI และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันต่อไป ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย - จีน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ก้าวหน้าต่อไป โดยพร้อมที่จะร่วมมือกันผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าไทย - จีนที่ตั้งไว้ใหม่ ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564


ประธานาธิบดีจีนพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และให้ความร่วมมือในสาขาที่จีนมีความเชี่ยวชาญ อาทิ ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในด้านยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์ เมืองอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจีนพร้อมสนับสนุนบทบาทการเป็นประธานอาเซียนของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันเดินหน้าการดำเนินการตามแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยเฉพาะการสานต่อข้อริเริ่มต่าง ๆ ของอาเซียนให้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีหวังให้จีนสนับสนุนให้มีการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ภายในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของจีนและไทย และการส่งเสริมการค้าเสรีและสนับสนุนการค้าโลกที่เปิดกว้างครอบคลุมอย่างแท้จริง


นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณการสนับสนุนของจีนในการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทยเพื่อเติมเต็มกลไกการประสานงานระหว่างไทย - ฮ่องกง - จีน ในยุคใหม่ นอกจากนี้ไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อมจีนกับประเทศ ACMECS และอาเซียน ผ่านเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) และ EEC


สำหรับความร่วมมือรถไฟไทย – จีน และ ความร่วมมือ 3 ฝ่ายไทย - จีน – ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมความทุ่มเทในการทำงานของคณะทำงานทั้งสองฝ่ายเพื่อให้โครงการมีความคืบหน้าตามกำหนด ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสำเร็จในการลงนามบันทึกความร่วมมือเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ ในช่วงการประชุม BRF ครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สามารถต่อยอดความเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีน ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเชื่อมโยงกันและเป็นประโยชน์กับประชาชน


นอกจากนี้ การสนับสนุนของรัฐบาลจีนต่อการให้ PPRD มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เชื่อมโยงกับไทย ซึ่งไทยพร้อมเป็นตัวเชื่อมจีนกับประเทศ ACMECS และอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงกับ BRI จะช่วยสร้างพลวัตใหม่ ๆ ให้กับความสัมพันธ์ไทย - จีน และจะเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ อย่างยั่งยืนระหว่างไทย - จีน และยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป