ห่วงเวียดนามคู่แข่ง 'อีอีซี'
ภาคเอกชน ห่วงลงทุนโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า กระทบความเชื่อมั่นการลงทุนอีอีซี สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ชี้โอกาสเวียดนามแข่งดึงลงทุนกับไทย รับอานิสงค์ศึกการค้า "อมตะ" จี้ สกพอ.เร่งตั้งวันสต็อปเซอร์วิสอำนวยความสะดวก
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อรองรับการลงทุนที่มีเทคโลโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มสูง แต่การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซียังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยขณะนี้ยังไม่สามารถลงทุนโครงการร่วมลงทุนได้เพราะติดปัญหาการประมูล ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนของภาคเอกชน
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่จะต้องสร้างความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ ซึ่งการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ก็ต้องใช้กลไกการบริหารราชการแผ่นดินปกติในการแก้ปัญหา เพราะไม่สามารถใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการลงทุนในอีอีซีได้แล้ว โดยเมื่อปี 2560 มีการใช้มาตรา 44 เพื่อลดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวมอีอีซี
กังวลไทยถูกแซงหน้า
นายสนั่น กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เพราะสงครามการค้าส่งผลให้บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนมีแผนย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น โดยในอาเซียนมองการเข้าไปลงทุนในเวียดนามเป็นลำดับแรก รองลงมาเป็นไทยหรือมาเลเซีย โดยมี 5 ปัจจัยหลักที่เลือกไปลงทุนในเวียดนาม คือ 1.เวียดนามได้เปรียบแรงงานที่มีความขยันและมีค่าจ้างไม่สูง
2.มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เวียดนาม-สหภาพยุโรป รวมถึงข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)3.ตลาดภายในของเวียดนามมีขนาดใหญ่และใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกได้ 4.ค่าเงินเวียดนามอยู่ในะดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ 5.รัฐบาลเวียดนามมีเสถียรภาพ
“บริษัทไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีฐานการผลิตในจีนจะมองการย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนามเป็นลำดับแรก ในขณะที่ไทยควรเร่งส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อดึงการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุนกลุ่มนี้ รวมทั้งไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็งกว่าเวียดนามจึงควรใช้จุดแข็งนี้แข่งกับเวียดนาม”
เวียดนามเริ่มดันอุตฯ4.0
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยและเวียดนามสูง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างก็มีจุดเด่นต่างกัน โดยเวียดนาม มีจุดเด่นในเรื่องค่าแรงที่ต่ำกว่า ส่วนไทยมีจุดเด่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ทำให้ไทยมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 คาดว่าหากนโยบายของรัฐบาลไทยไม่สะดุดก็จะเห็นผลได้ภายใน 2-3 ปี
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น คาดว่าภายใน 5 ปี เวียดนามจะเข้ามาเป็นคู่แข่งในการดึงดูดอุตสาหกรรม 4.0 กับไทย แต่ถ้าไทยทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ก็ยังคงทำให้ไทยยังคงความได้เปรียบด้านการแข่งขันในระยะยาว แต่ถ้านโยบายของไทยสะดุด ก็อาจถูกเวียดนามเข้ามาแยกตลาดในส่วนนี้ได้เช่นกัน
“ขอให้รัฐบาลไทยผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างต่อเนื่อง เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ตั้งทีมขึ้นมาดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงโดยเฉพาะ ซึ่งในรัฐบาลที่ผ่านมาได้วางแผนไว้ทั้งหมดแล้ว ขอให้รัฐบาลใหม่เร่งปฏิบัติตามแผนวิ่งต่อไปได้เลยไม่ต้องเสียเวลามาทำแผนอีกแล้ว แสดงให้ต่างชาติได้เห็นว่าไทยทำได้ ทั้งนี้ แม่ว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ใน อีอีซี จะล่าช้าไปบ้าง แต่ถ้าทั้งหมดสำเร็จภายในปีนี้ก็ยังถือว่าโอเค”
อมตะกังวลเมกะโปรเจคล่าช้า
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายอีอีซีช่วงผลักดันการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอีอีซีช่วงที่ผ่านมา และถือเป็นแรงส่งผลบวกต่อการลงทุนในพื้นที่มาก และที่ผ่านมารัฐบาลเร่งผลักดันการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในอีอีซีมาก แต่การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในช่วงหลังมีความล่าช้า
รวมถึงการตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสของอีอีซีล่าช้า ซึ่งการผลักดันเรื่องนี้มี พ.ร.บ.เขตพัมนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 รองรับทำให้รวมอำนาจการอนุญาตของกฎหมายหลายฉบับมาไว้ในจุดเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจ
จี้ สกพอ. เร่งวันสต็อปเซอร์วิส
ทั้งนี้ ความล่าช้าของการตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสที่ล่าช้า ซึ่งส่งผลให้การขออนุญาตลงทุนต้องผ่านช่องทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และต้องมาผ่านขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขึ้นอีกทำให้เพิ่มขั้นตอนให้นักธุรกิจที่ยุ่งยากขึ้นอีก
“ปัญหาหลักเกิดจาก สกพอ.มีบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้ต้องอาศัยหน่วยงานอื่นออกใบอนุญาต ทั้งที่ สกพอ.มีกฎหมายของตัวเองรองรับการออกใบอนุญาตได้เอง และการเพิ่มขั้นตอนดังกล่าวทำให้เกิดความยุ่งยากในการขอลงทุนในอีอีซี ซึ่งหาก สกพอ.จัดการเรื่องนี้ได้ ตั้งวันสต็อปเซอร์วิสสำเร็จและมีบุคลากรเพียงพอ คาดว่าปัญหาจะหมดไป”