กองทุนมั่งคั่งจีนสน 'อีอีซี'
"ซีไอซี" หารือนายกฯ เล็งนำเงินสำรองลงทุนเพิ่มในไทย พุ่งเป้าอีอีซี ลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม พลังงาน เชื่อมเส้นทางสายไหมจีน สกพอ.เตรียมตั้งคณะทำงานหารือต่อเนื่อง เผย ลงทุนได้หลากหลายรูปแบบทั้งทางตรง-ตลาดหุ้น-โครงสร้างพื้นฐาน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า นายเผิง ฉุน ประธานบริษัท China Investment Corporation (CIC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (4 ก.ค.) หลังจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง
ทั้งนี้ กองทุน CIC เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ของประเทศจีนที่นำเอาเงินทุนสำรองของจีนออกมาบริหารโดยมีเงินตั้งต้น 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 24 ล้านล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้ทางการจีนใช้ลงทุนในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศที่จีนส่งเสริมการลงทุนในข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญของจีนในปัจจุบัน
จีนสอบถามข้อมูลอีอีซี
ทั้งนี้นายเผิงให้ความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม เนื่องจากไทยมีความเชื่อมโยงกับ BRI รวมทั้งได้มีการหารือและสอบถามถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกันต่อไปในระดับคณะทำงานว่า CIC จะมีการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทยในรูปแบบใด เนื่องจากปัจจุบัน CIC มีการลงทุนในตลาดเปิด ซึ่งสามารถลงทุนได้หลากหลายรูปแบบทั้งการร่วมลงทุนกับบริษัทต่างๆ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย
นายคณิศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกพอ.ลงนามความร่วมมือกับธนาคารไอซีบีซี ของจีน โดยธนาคารไอซีบีซีจะเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลด้านการลงทุนที่เป็นปัจจุบันให้กับนักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย พร้อมทั้งสนับสนุนการให้บริการทางการเงินกับนักลงทุนจีนที่จะมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเริ่มจากการคัดกรองนักลงทุนที่มีความสามารถและมีความพร้อมที่จะมาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย
ร่วมมือธนาคารจีนดึงลงทุน
รวมทั้งที่ผ่านมาธนาคารไอซีบีซี มีความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อร่วมกันสนับสนุนการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับโครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดหาพื้นที่ให้กับนักลงทุนจีนที่มีศักยภาพ
นอกจากนี้ สกพอ.ได้หารือกับนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี เพื่อให้จัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนของนักธุรกิจจีน ซึ่งบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ได้จัดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจีนไว้รองรับ ในขณะที่บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เตรียมพื้นที่รองรับนักลงทุนจีนเช่นกันที่ จ.ระยอง
ในขณะที่การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้มีความร่วมมือกับจีนเช่นกัน โดย สกพอ.ได้ลงนามกับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน ในการพัฒนาศูนย์การบินคู่ขนานและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน
หนุนลงทุน“อีอีซีดี-อีอีซีไอ”
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการหารือกันระหว่างประธาน CIC กับนายกรัฐมนตรีของไทย ได้หารือถึงความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่านโยบายประเทศไทย 4.0 สอดคล้องกับ BRI และขอให้ CIC พิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงการอีอีซี โดยเฉพาะในเขตพัฒนานวัตกรรม (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่สามารถนำความรู้และประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในอาเซียน ที่เป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค โดยหวังว่า CIC จะพิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาคนี้ในอนาคต
สนโครงสร้างพื้นฐาน-พลังงาน
ด้านประธาน CIC แสดงความชื่นชมนโยบายประเทศไทย 4.0 และโครงการอีอีซีที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และได้แสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรี ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ให้ใกล้ชิดและแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่า ไทย-จีน จะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีนี้ต่อไป พร้อมทั้งแสดงความสนใจที่จะหาโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และคมนาคม ในประเทศไทย
รายงานข่าวระบุว่า CIC ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่รับผิดชอบการบริหารจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่งประเทศจีน โดยรัฐบาลจีนถอดโมเดลการลงทุนมาจากกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์มาดำเนินงาน โดยการดำเนินงานของกองทุนนี้ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่ดีช่วยให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2556
เน้นลงทุนประเทศพัฒนาแล้ว
รวมทั้งรายงานประจำปีของ CIC ในปี 2560 ที่ผ่านมาระบุว่า CIC แบ่งประเภทสินทรัพย์ที่มีการลงทุนของ CIC แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 43.6% สินทรัพย์ทางเลือก 39.3% การลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้แน่นอน 15.9% ที่เหลือเป็นเงินสดและสินทรัพย์ในรูปแบบอื่น 1.2%
โดยการลงทุน CIC มีนโยบายกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นมีการกระจายการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ 52% ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว 33.8% และตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ 14.2 %
ส่วนการลงทุนในพันธบัตร การลงทุนในพันธบัตรของ CIC ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 53.7% พันธบัตรรัฐบาลประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ 9% พันธบัตรและหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน 17.3% และอื่นๆ 20%
สำหรับสินทรัพย์ประเภทหุ้นที่กองทุน CIC ลงทุนแบ่งตามอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ การเงิน 20.1% ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ 19.4% สินค้าบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป 11.7% กลุ่มธุรกิจสุขภาพ 10.6% กลุ่มอุตสาหกรรม 10.5% กลุ่มสินค้าที่ สินค้าปลีกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 7.9% กลุ่มพลังงาน 5.4% กลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรมวัตถุดิบ 4.4% เป็นต้น